backup og meta

โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ ระหว่างตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร

โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ ระหว่างตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร

โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ จัดเป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจากพันธุกรรมหรือสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้บนผิวหนัง ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ มักหายไปเองหลังคลอดบุตร  อย่างไรก็ตาม สามารถดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสเกิดโรคดังกล่าวได้

[embed-health-tool-due-date]

สาเหตุ โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ ระหว่างตั้งครรภ์

โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ (Eczema) ระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสอาจเกิดขึ้นกับหญิงท้องแทบทุกรายแต่ไม่เป็นอันตราย โดยจะมีอาการเช่นเดียวกับโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ในคนปกติ หากเป็นชนิดไม่รุนแรงมักมีอาการผิวแห้ง และคัน แต่หากเป็นชนิดรุนแรงอาจทำให้ผิวหนังหลุดลอก รวมถึงมีเลือดออกที่ผิวหนังได้

โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ ชนิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม

  • โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ชนิดนี้จะสืบทอดทางกรรมพันธุ์ มีความน่าจะเป็นว่าผู้ป่วยหรือสมาชิกในครอบครัว อาจเป็นโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

จากการสัมผัส

  • สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสสารเคมี ผงซักฟอก เชื้อรา และโลหะ เช่น จากการสัมผัสต่างหู โดยอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ภูมิต้านทานต่าง ๆ ในร่างกายไม่สมดุลและก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อสารเคมีต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าปกติ

การดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ ระหว่างตั้งครรภ์

หากพบว่าตนเองมีผื่นแพ้ อาการคัน ตุ่มแดง ขึ้นบนผิวหนังตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุระหว่างตั้งครรภ์ สามารถดูแลตนเองได้ ดังนี้

หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้

ผู้ป่วยหลายคนมักเกิดการระคายเคืองเมื่อสัมผัสกับขนสัตว์ สะเก็ดผิวหนังจากสัตว์เลี้ยง หรือเกิดอาการแพ้จากการรับประทานอาหารบางชนิด หรือจากการสัมผัสกับเครื่องประดับ เมื่อทราบว่าตนเองถูกกระตุ้นจากสิ่งใด ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวและเป็นธรรมชาติ

ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปรุงแต่ง รวมถึงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ

ไม่ปล่อยให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอับชื้น

ไม่แช่น้ำนานมากเกินไป รวมถึงไม่ควรอาบน้ำหรือว่ายน้ำนานมากเกินไปเช่นกัน ควรล้างมือให้สม่ำเสมอเพื่อสุขอนามัย แต่ก็ไม่ควรล้างมือบ่อยเกินไป หรือเช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอ

รักษาผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

อาการผิวแห้งและผิวแตกทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือคัน แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใช้มอยซ์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนประกอบของสารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่โครงสร้างผิวหนัง เช่น เซราไมด์ ซึ่งเป็นไขมันธรรมชาติที่เชื่อมเซลล์ผิว และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่เกราะป้องกันผิว หรือใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารยูเรีย ซึ่งช่วยคงความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง และมักนำมาใช้รักษา อาการผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะ

ทำให้ร่างกายเย็นอยู่เสมอ

หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อนหรือทำให้ร่างกายมีเหงื่อออก เพราะจะทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรสวมใส่เสื้อผ้าบางเบาที่ให้ความสบายและระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าเนื้อหยาบ รวมถึง หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าและสิ่งของที่ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์หรือขนสัตว์

หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิกะทันหัน

อุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงจะทำให้เหงื่อออกจำนวนมาก ในขณะที่เมื่อความชื้นลดลงอย่างฉับพลัน ผิวหนังก็จะแห้งและคัน ดังนั้น ไม่ควรไปห้องอบไอน้ำ ห้องอบซาวน่า หรือเข้าเรียนโยคะร้อน เพราะอาจกระตุ้นให้เสี่ยงเกิดโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้

เมื่อผิวหนังเกิดอาการคันไม่ควรเกา

เพราะการเกาจะทำให้ โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ แย่ลง และสร้างความเสียหายให้กับผิวหนังจนนำมาสู่การติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ อาจใช้การประคบเย็นเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน นอกจากนี้ ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ และหากมีพฤติกรรมเกาโดยไม่รู้ตัวขณะนอนหลับ ควรสวมใส่ถุงมือผ้าแบบบางก่อนเข้านอน

ไม่ทำให้ตนเองเครียด

เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลให้ภูมิต้านทานต่ำลง และทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ได้ พยายามฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย หากิจกรรมที่ชื่นชอบ พูดคุยกับคนใกล้ตัวหากรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

พูดคุยกับคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุด

หากโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้รุนแรง ควรไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ โดยการรักษามีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาทาเฉพาะจุดที่มีสเตียรอยด์ภายใต้การควบคุมของแพทย์ การใช้ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้จะช่วยลดอาการคันได้ดี ในขณะที่ยาทาน้ำมันดินอาจมีคุณประโยชน์ที่ช่วยทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นมากขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะกับสภาพผิวและสุขภาพโดยรวม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eczema During Pregnancy http://www.whattoexpect.com/pregnancy/whose-body/eczema-dermatitis.aspx Accessed May 9, 2022.

What’s to know about eczema?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/14417 Accessed May 9, 2022.

Atopic dermatitis (eczema). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20353273?page=0&citems=10 Accessed May 9, 2022.

Eczema (Atopic Dermatitis) During Pregnancy: What You Need to Know. https://www.everydayhealth.com/eczema/pregnancy-eczema.aspx. Accessed May 9, 2022.

Eczema in pregnancy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1925231/. Accessed May 9, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/05/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์

โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ และโรคผิวหนัง ต่างกันอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 10/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา