backup og meta

PIH คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

PIH คือ อะไร อาการ สาเหตุ และการรักษา

PIH (Pregnancy Induced Hypertension) คือ ความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีความดันโลหิตสูงและโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ โดยยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ แต่อาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะ PIH เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน ตั้งครรภ์เมื่ออายุยังน้อยหรือเมื่ออายุมาก เป็นโรคเรื้อรัง ท้องลูกแฝด ดังนั้น การฝากครรภ์จึงเป็นวิธีที่อาจช่วยตรวจสอบความผิดปกติเบื้องต้น และช่วยควบคุมความรุนแรงของอาการได้

[embed-health-tool-due-date]

คำจำกัดความ

PIH คือ อะไร

PIH คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ โดยเกิดขึ้นเมื่อมีความดันโลหิตสูงและมีโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น ที่อาจนำไปสู่อันตรายร้ายแรงทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการชัก ความผิดปกติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ รวมถึงยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อคุณแม่และทารกในครรภ์

อาการ

อาการของ PIH

อาการความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอาการอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรืออาจค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย ดังนี้

อาการ PIH เบื้องต้น

สัญญาณแรกของความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ คือ อาการความดันโลหิตสูงและโปรตีนในปัสสาวะที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาการนี้อาจไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพครรภ์เป็นประจำตามนัดหมาย เพื่อตรวจดูอาการความดันโลหิตสูงเบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้น

อาการ PIH กำเริบ

อาการความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ที่กำเริบหนักขึ้น อาจส่งผลทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • อาการบวมน้ำ มักทำให้มีอาการบวมที่เท้า ข้อเท้า ใบหน้า และมือบวมอย่างกะทันหัน
  • ปวดหัวรุนแรง ที่การกินยาไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
  • ปัญหาการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพเบลอ มองเห็นคล้ายไฟกะพริบ
  • ปวดท้องส่วนบนบริเวณใต้ซี่โครงอย่างรุนแรง
  • มีอาการเสียดท้องรุนแรง
  • น้ำหนักเพิ่มมากเกินไปเนื่องจากการกักเก็บของเหลวในร่างกาย
  • รู้สึกไม่สบายตัว มีไข้

ภาวะแทรกซ้อนของ PIH

หากอาการความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์กำเริบเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • อาการชัก
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ไตวายชั่วคราว
  • ปัญหาตับ
  • ปัญหาการแข็งตัวของเลือด
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งอาจทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า เนื่องจากออกซิเจนและสารอาหารไม่สามารถไปเลี้ยงทารกได้อย่างเพียงพอ และคุณแม่อาจมีอาการเสียเลือดมาก
  • การคลอดก่อนกำหนด

สาเหตุ

สาเหตุของ PIH

ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ แต่อาจมีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการความดันโลหิตสูง ดังนี้

  • คนในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิต้านทานตนเอง โรคไต โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ หรือมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 35 ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
  • ผู้ที่เว้นระยะห่างการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ที่นานกว่า 10 ปีขึ้นไป

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพื่อเติม

การวินิจฉัย PIH

การฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์อาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณหมอตรวจพบความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ได้ หากคุณหมอตรวจพบอาการความดันโลหิตสูงและโปรตีนในปัสสาวะที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมออาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด อัลตราซาวด์ ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารก เพื่อยืนยันผลและทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

การรักษา PIH

ความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์อาจหายเองได้หลังจากการคลอดบุตร ดังนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษาเบื้องต้น ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย ซึ่งอาจช่วยป้องกันความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้
  • รับประทานยาลดความดันโลหิต ตามปริมาณที่คุณหมอสั่ง
  • ตรวจสุขภาพครรภ์เป็นประจำตามนัดหมาย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เบคอน ไส้กรอก เครื่องปรุงต่าง ๆ
  • คลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่มีอาการความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์รุนแรงมาก คุณหมออาจแนะนำให้ทำการคลอดก่อนกำหนดคลอดจริง เพื่อป้องกันอันตรายต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ PIH

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น การฝากครรภ์และเข้ารับการตรวจสุขภาพการตั้งครรภ์เป็นประจำตามนัดหมาย จึงอาจช่วยควบคุมและจัดการกับความรุนแรงของอาการความดันโลหิตสูง เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

High Blood Pressure (Hypertension) During Pregnancy. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4497-high-blood-pressure-hypertension-during-pregnancy. Accessed October 21, 2022

Pre-eclampsia or pregnancy induced hypertension (PIH). https://www.healthdirect.gov.au/pre-eclampsia-pregnancy-induced-hypertension. Accessed October 21, 2022

High Blood Pressure During Pregnancy. https://www.cdc.gov/bloodpressure/pregnancy.htm. Accessed October 21, 2022

Pregnancy induced hypertension. https://childrenswi.org/medical-care/fetal-concerns-center/conditions/pregnancy-complications/pregnancy-induced-hypertension#:~:text=Pregnancy%2Dinduced%20hypertension%20(PIH),is%20present%20before%20pregnancy%20begins. Accessed October 21, 2022

Pregnancy-Induced hypertension. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26158653/. Accessed October 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/11/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

อาหารคนท้องอ่อนห้ามกิน และอาหารบำรุงคนท้องอ่อน ๆ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา