Vasa previa คือ ภาวะที่เส้นเลือดของสายสะดือหรือรกทอดอยู่บนเยื่อหุ้มทารกในครรภ์ผ่านบริเวณปากมดลูกด้านในและอยู่ต่ำกว่าส่วนนำของทารก ส่งผลให้เส้นเลือดดังกล่าวถูกกดทับได้ง่ายและจะฉีกขาดเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด และอาจส่งผลให้ทารกเสียเลือดมากและเสียชีวิตได้ ภาวะนี้เป็นอีกสาเหตุของการตกเลือดก่อนคลอดและพบได้ไม่บ่อยนัก ทั้งนี้ หากคุณแม่ไปฝากครรภ์และตรวจครรภ์ตามนัดครบถ้วน ก็จะช่วยให้คุณหมอสามารถตรวจสอบสภาวะสุขภาพและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังลดความเสี่ยงทางสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
[embed-health-tool-due-date]
Vasa previa คือ อะไร
วาซา พรีเวีย (Vasa previa) คือ ภาวะที่หลอดเลือดของรกหรือสายสะดือของทารกในครรภ์อย่างน้อย 1 เส้นทอดอยู่บนเยื่อหุ้มทารกผ่านบริเวณปากมดลูกด้านใน มักเกิดร่วมกับภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกน้อย หรือครรภ์แฝด หากเยื่อหุ้มทารกในครรภ์หรือถุงน้ำคร่ำแตก จะทำให้เส้นเลือดที่พาดอยู่ฉีกขาดไปด้วย และอาจทำให้ทารกเสียเลือดมากจนเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับคุณแม่ เช่น เกิดภาวะช็อกเนื่องจากเสียเลือดเป็นเวลานาน มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีความดันโลหิตลดลง
อย่างไรก็ตาม หากวินิจฉัยพบตั้งแต่ยังไม่ถึงช่วงใกล้คลอด ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากทีมแพทย์ และผ่าคลอดทางหน้าท้องแทนการคลอดทางช่องคลอด ก็มีโอกาสสูงถึง 97% ที่ทารกจะคลอดออกมาตามปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะ Vasa previa
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Vasa previa ได้
- เคยผ่าตัดมดลูกหรือเคยผ่าคลอดมาก่อน
- ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เป็นภาวะที่รกปกคลุมหรือปิดขวางปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกจะเปิดออก ทำให้เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างรกและมดลูกฉีกขาดจนเสียเลือดมาก เป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารก
- การตั้งครรภ์จากการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization หรือ IVF) อาจทำให้เกิดภาวะ Vasa previa ได้มากกว่าการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ
- การตั้งครรภ์แฝด อาจเสี่ยงเกิดภาวะรกเกาะต่ำได้มากกว่าการตั้งครรภ์ทารกเพียงคนเดียว และส่งผลให้เสี่ยงเกิดภาวะ Vasa previa มากขึ้น
Vasa previa อาการเป็นอย่างไร
โดยปกติแล้ว คุณหมอจะวินิจฉัยพบภาวะ Vasa previa เมื่อคุณแม่ไปตรวจครรภ์ตามนัดปกติ ภาวะนี้มักไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนจนกระทั่งถึงตอนคลอดบุตร หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และคลอดธรรมชาติหรือคลอดทางช่องคลอด อาจมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดโดยไม่มีอาการปวดท้อง เลือดอาจมีสีคล้ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าทารกมีออกซิเจนต่ำ และทารกอาจมีอาการผิดปกติทันทีที่ถุงน้ำคร่ำแตก เช่น ชีพจรเต้นเร็วเกิน 160 ครั้ง/นาที ดิ้นรุนแรง มีขี้เทาปนในน้ำคร่ำ ชีพจรหยุดเต้น และอาจเสียชีวิตได้
การวินิจฉัยภาวะ Vasa previa
การวินิจฉัยภาวะ Vasa previa สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การวินิจฉัยในช่วงก่อนถุงน้ำคร่ำแตก และการวินิจฉัยในช่วงถุงน้ำคร่ำแตก
1. การวินิจฉัยระยะก่อนถุงน้ำคร่ำแตก คุณหมอจะวินิจฉัยด้วยการตรวจภายใน หากพบว่าหลอดเลือดเต้นเป็นจังหวะเดียวกับจังหวะการเต้นของหัวใจทารก หรืออัลตราซาวด์แล้วพบว่ามีหลอดเลือดทอดต่ำกว่าส่วนนำของทารก หรือตรวจเสียงหัวใจเต้นของทารกแล้วพบว่ามีจังหวะที่แปลกไปจากปกติเนื่องจากหลอดเลือดถูกกดด้วยส่วนนำ อาจเป็นสัญญาณของภาวะ Vasa previa
2. การวินิจฉัยระยะถุงน้ำคร่ำแตก ในระหว่างคลอด หากมีเลือดปนมากับน้ำคร่ำ และทารกมีภาวะขาดออกซิเจน (Fetal distress) เนื่องจากสูญเสียเลือดมาก อาจเป็นสัญญาณของภาวะ Vasa previa หากทารกเสียเลือดเกิน 100 มิลลิลิตรจะทำให้เสี่ยงเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ คุณหมออาจต้องวินิจฉัยเพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าภาวะที่พบเป็นภาวะ Vasa previa ไม่ใช่ภาวะสะดือย้อยหรือภาวะรกเกาะต่ำ จะได้สามารถวางแผนรักษาได้อย่างเหมาะสม
เนื่องจาก Vasa previa เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย จึงไม่มีการคัดกรองเมื่อเข้าตรวจครรภ์ตามปกติ หากคุณแม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น รกเกาะต่ำ ตั้งครรภ์แฝด คุณหมออาจแนะนำให้เข้ารับการทดสอบเพิ่มเติม เช่น การสแกนทางช่องคลอดร่วมกับการฉีดสี
วิธีรักษาภาวะ Vasa previa
การรักษาภาวะ Vasa previa อาจทำได้ดังนี้
- ระยะก่อนถุงน้ำคร่ำแตก คุณหมอจะคอยตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยการตรวจเอ็นเอสที (NST หรือ Non Stress Test) ประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์ อาจเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่ 28-32 ของการตั้งครรภ์ และอาจฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยให้ปอดของทารกเติบโตอย่างเต็มที่ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด ในขณะตั้งครรภ์คุณแม่ควรพักผ่อนให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หรือการสอดใส่วัตถุต่าง ๆ เข้าไปในช่องคลอด และเมื่อถึงกำหนดคลอด คุณหมอจะผ่าคลอดทางหน้าท้องเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเสียเลือดของคุณแม่และทารก
- ระยะหลังถุงน้ำคร่ำแตก คุณแม่ที่ปากมดลูกยังเปิดไม่หมด คุณหมอจะผ่าคลอดทางหน้าท้อง ส่วนคุณแม่ที่ปากมดลูกเปิดหมดแล้ว คุณหมอจะช่วยคลอดทางช่องคลอดด้วยคีม (Forceps extraction) เพื่อให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดโดยเร็วที่สุด
- ทารกที่เสียชีวิตแล้ว ให้คลอดทางช่องคลอด และดูแลสุขภาพกายใจของคุณแม่ให้ดีที่สุด