backup og meta

อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ อันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ อันตรายหรือไม่

    อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะปกติของการตั้งครรภ์ เช่น ปัญหาทางเดินอาหาร มดลูกเป็นตะคริว กล้ามเนื้อตึง มดลูกหดรัดตัว นอกจากนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะรุนแรง เช่น แท้งบุตร ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ครรภ์เป็นพิษ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นนิ่ว จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพการตั้งครรภ์ตามนัดหมายเป็นประจำ เพื่อป้องกันปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น

    อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ อันตรายหรือไม่

    อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ในช่วงไตรมาสแรกหรือประมาณ 1-3 เดือนของการตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งในบางกรณีอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจเป็นอาการโดยทั่วไปของการตั้งครรภ์ เช่น มดลูกขยายตัว มดลูกบีบรัดตัว กล้ามเนื้อตึง หรือในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณร้ายแรงของปัญหาการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งบุตร ไส้ติ่งอักเสบ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ท้องนอกมดลูก ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

    คุณแม่จึงควรสังเกตอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ๆ  เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด อาการปวดท้องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีอาการอาเจียน มีไข้ ปัสสาวะผิดปกติ เพื่อป้องกันปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เพื่อสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

    อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ เกิดจากอะไร

    อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบบ่อย อาจมีดังนี้

    สาเหตุทั่วไปของอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ

    • ปัญหาทางเดินอาหาร ทารกในครรภ์อาจกดกระเพาะอาหารและลำไส้ จนทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น และอาจทำให้มีอาการท้องอืดที่ส่งผลให้ปวดท้องน้อยได้
    • มดลูกเป็นตะคริว เกิดขึ้นเมื่อมดลูกขยายออกมากในระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้มีอาการปวดเมื่อย ปวดท้องน้อยเหมือนปวดประจำเดือน ซึ่งอาการอาจหายเองได้ หรืออาจใช้การประคบร้อนเพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น
    • กล้ามเนื้อตึง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์กับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลัง ข้างลำตัว และหน้าท้องตึงง่าย จึงอาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยร่างกายและปวดท้องน้อย

    สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ ที่เป็นอันตราย

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดขึ้นได้ง่ายในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ส่งผลให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อย แสบเมื่อปัสสาวะ และปัสสาวะมีสีขุ่น
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ มักเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยอาจมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดในรกที่พัฒนาไม่เต็มที่หรือทำงานผิดปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีซึ่งส่งผลต่อความดันโลหิตที่ไม่สม่ำเสมอ จนทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ที่ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยซีกขวา คลื่นไส้ เห็นภาพซ้อน ปวดหัวรุนแรง และปัสสาวะน้อยลง
  • การแท้งบุตร เป็นภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ส่งผลให้มีอาการปวดแบบบีบรัดเป็น ๆ หาย ๆ บริเวณตรงกลางท้องน้อยอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการเลือดออกหรือเป็นมูกเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง
  • ไส้ติ่งอักเสบ เป็นการติดเชื้อบริเวณไส้ติ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง เพื่อช่วยป้องกันภูมิคุ้มกันกำจัดตัวอ่อนออกจากร่างกาย ซึ่งไส้ติ่งอักเสบอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหนื่อยล้า มีไข้ และปวดท้องน้อยด้านขวา
  • โรคนิ่ว การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและระบบย่อยอาหารที่ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรในขณะตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของถุงน้ำดีจนทำให้เกิดนิ่วได้ง่ายขึ้น อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยซีกขวาอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และมีไข้
  • วิธีดูแลตัวเองเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์อ่อน ๆ

    คุณแม่จำเป็นต้องมีการปรับตัวหลายอย่างเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพตัวเองและสุขภาพของทารกในครรภ์ จึงควรปฏิบัติดังนี้

  • ฝากครรภ์ เพื่อตรวจสุขภาพการตั้งครรภ์และสุขภาพของทารกในครรภ์ เพื่อป้องกันโรคหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ และเพื่อติดตามสุขภาพของคุณแม่และทารกตลอดการตั้งครรภ์
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ นอกจากนี้ อาจเสริมวิตามินที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิก (Folic Acid) ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินดี วิตามินซี สังกะสี
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่อรักษาน้ำหนักให้คงที่ในตลอดการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การออกกำลังกาย เช่น โยคะ ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน ยังสามารถช่วยยืดกล้ามเนื้อและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจช่วยให้คลอดง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงเกิดภาวะพิการแต่  กำเนิด โรคไหลตายในเด็ก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) คลอดก่อนกำหนด และแท้งบุตร
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง ความเหนื่อยล้าและความอ่อนเพลียที่อาจเกิดขึ้นในช่วงท้องอ่อน ๆ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา