backup og meta

มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน เกิดจากสาเหตุใด ผิดปกติหรือไม่

มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน เกิดจากสาเหตุใด ผิดปกติหรือไม่

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มี มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน อาจสงสัยว่าว่าเกิดจากสาเหตุใด และเป็นอันตรายหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วอาการเลือดออกตอนท้อง1เดือน ซึ่งเป็นระยะแรกของการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การมีเพศสัมพันธ์ การตรวจภายใน หรือเกิดจากปัจจัยที่ร้ายแรงกว่า เช่น การติดเชื้อ การแท้งบุตร การท้องนอกมดลูก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก คุณแม่ที่มีเลือดออกตอนท้อง1เดือนจึงควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-due-date]

มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน ผิดปกติหรือไม่มี

อาการมีเลือดออกตอนท้อง1เดือน หรือในช่วง 3 เดือน (12 สัปดาห์) แรกของการตั้งครรภ์ หรือที่เรียกว่าการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 (First Trimester) ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็อาจมีเลือดออกในไตรมาสอื่น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการเลือดออกในไตรมาสอื่น ๆ นั้น อาจเกิดจากปัญหาที่ร้ายแรงกว่า เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะรกเกาะต่ำ การคลอดก่อนกำหนด

ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่มีเลือดออกตอนท้อง1เดือนสามารถอุ้มท้องต่อไปได้โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และสามารถคลอดลูกที่มีสุขภาพแข็งสมบูรณ์ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาการเลือดออกจากช่องคลอดขณะท้องก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติได้เช่นกัน ดังนั้น หากคุณแม่มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน หรือในช่วงอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน เกิดจากสาเหตุใด

อาการมีเลือดออกตอนท้อง1เดือน อาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding)

เป็นเลือดที่เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูกหลังการปฏิสนธิ มักไหลออกจากช่องคลอดไม่เกิน 1-2 วัน ผู้ที่ยังไม่รู้ตัวว่าท้องอาจคิดว่าเป็นจุดเลือดหรือเลือดประจำเดือนที่มาน้อยและเร็วกว่าปกติ

ความเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะมีหลอดเลือดเพิ่มขึ้นและมีเลือดหล่อเลี้ยงบริเวณครรภ์และปากมดลูกมากขึ้นด้วย จึงอาจทำให้มีเลือดออกจากช่องคลอดได้ง่ายเมื่อมีปัจจัยอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การใช้เครื่องมือแพทย์เพื่อตรวจภายใน

การแท้งบุตร

อาการเลือดออกอาจเกิดจากการแท้งบุตร ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มักเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของโครโมโซม ส่งผลให้ร่างกายของคุณแม่ขับเด็กที่ยังอ่อนอยู่มากออกมาเอง อาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดท้องรุนแรงและมีเนื้อเยื่อทารกออกมาจากช่องคลอด

การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)

เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝังตัวบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก เช่น ท่อนำไข่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารก หากทารกเจริญเติบโตเรื่อย ๆ อาจทำให้ท่อนำไข่แตก และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อคุณแม่ได้ สัญญาณของการตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจเริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 จนไปถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ อาการโดยทั่วไปคือ มีเลือดออกจากช่องคลอด เป็นตะคริว ปวดท้องส่วนล่างรุนแรง และอาการหน้ามืด

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)

เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย เกิดขึ้นเมื่อมีเนื้อเยื่อผิดปกติเจริญเติบโตในมดลูกแทนที่จะเป็นทารก และเนื้อเยื่อนั้นอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกยังมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้และอาเจียนรุนแรง มดลูกขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การติดเชื้อ

การติดเชื้อของปากมดลูก ช่องคลอด หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ โรคเริม อาจทำให้มีเลือดออกตอนท้อง1เดือนได้

การวินิจฉัยเมื่อ มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน

หากพบว่า มีเลือดออกตอนท้อง1เดือน ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ คุณหมออาจสอบถามถึงระยะเวลาและปริมาณเลือดที่ออก วัดอุณหภูมิร่างกาย วัดระดับความดันโลหิต หากมีอาการตะคริวหรือปวดท้องรุนแรง คุณหมออาจสั่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ

หากพบว่าอาการมีเลือดออกตอนท้อง1เดือน ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่ดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

  • พักผ่อนให้มาก ๆ งดทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ
  • รักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็ว แอโรบิคในน้ำ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบ 5 หมู่
  • เสริมอาหารด้วยวิตามินสำหรับคนท้อง เช่น กรดโฟลิก (Folic acid) เป็นประจำทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนรับประทานยารักษาโรค อาหารเสริม หรือยาสมุนไพร
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อ

หากพบว่าอาการเลือดออกเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การท้องนอกมดลูก การติดเชื้อ การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal bleeding. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-bleeding/#:~:text=Implantation%20bleeding,period%20would%20have%20been%20due. Accessed March 13, 2023

Bleeding During Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 13, 2023

Bleeding During Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 13, 2023

Bleeding During Pregnancy – What‘s Normal?. https://familydoctor.org/bleeding-pregnancy-whats-normal/. Accessed March 13, 2023

Bleeding during pregnancy. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 13, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดออกช่องคลอด สีน้ำตาล ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรได้บ้าง

เลือดออกตอนท้องอ่อนๆ เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา