backup og meta

พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน หรืออายุครรภ์ประมาณ 13-17 สัปดาห์ ทารกเริ่มพัฒนาทางระบบประสาทอย่างต่อเนื่อง และมีพัฒนาการทางร่างกายที่สมบูรณ์มากขึ้น เช่น อวัยวะสืบพันธ์ุ การขยับแขน ขา กำมือ เริ่มมีขนอ่อนงอกตามร่างกาย และทารกบางคนอาจเริ่มดูดนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีของการฝึกดูดนมแม่ในอนาคต นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ 16-17 คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกครั้งแรก

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 เดือน หรือการตั้งครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 13-17 ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 13 ทารกจะมีความยาวประมาณ 7.4 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 25 กรัม รังไข่หรืออัณฑะของทารกจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ทารกอาจกำลังเคลื่อนไหวร่างกายแต่คุณแม่อาจยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกมากนัก ทารกบางคนอาจเริ่มดูดนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีของทารกเพื่อเตรียมพร้อมดูดนมแม่ในอนาคต
  • สัปดาห์ที่ 14 ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 8.5 เซนติเมตร ร่างกายจะเริ่มแบ่งสัดส่วนชัดเจนมากขึ้น ทารกอาจเริ่มเตะไปมาแต่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกมากนัก แต่คุณหมออาจได้ยินเสียงหัวใจเต้นผ่านทางเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์
  • สัปดาห์ที่ 15 ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 10.1 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70 กรัม ทารกจะเริ่มมีขนอ่อน ๆ ขึ้นทั่วทั้งร่างกายรวมทั้งขนคิ้วและขนตา และทารกจะเริ่มได้ยินเสียงพูดของแม่ เสียงหัวใจและเสียงอื่น ๆ รอบตัวมากขึ้น
  • สัปดาห์ที่ 16 ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 11.6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 กรัม ทารกจะเริ่มขยับมือ ขยับแขน ขา กำหมัด ดึงใบหน้าตัวเองได้เล็กน้อย ทารกอาจเตะ ต่อย ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกได้ในช่วงนี้
  • สัปดาห์ที่ 17 ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 12 เซนติเมตร หนักประมาณ 150 กรัม ทารกสามารถขยับตาไปมาได้แต่ยังไม่ลืมตาขึ้น เริ่มตอบสนองต่อเสียงดัง สามารถเปิดและปิดปากได้ และเล็บของทารกจะเริ่มงอก รวมทั้งเริ่มมีลายนิ้วมือเกิดขึ้น

ทารกในครรภ์ 4 เดือนจะเริ่มมีพัฒนาทางร่างกายและระบบประสาทอย่างต่อเนื่อง อวัยวะสืบพันธ์ุพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ร่างกายเริ่มได้สัดส่วนมากขึ้น การขยับมือ เท้า แขน ขา ตา เริ่มทำได้อย่างอิสระ และคุณแม่อาจเริ่มสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 16-17

การตรวจสุขภาพครรภ์ในเดือนที่ 4

เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปจนถึง 4 เดือน คุณหมออาจนัดเพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ ดังนี้

  • คุณหมอจะอัลตราซาวด์ในสัปดาห์ที่ 18-22 เพื่อกำหนดอายุของทารกในครรภ์ หาตำแหน่งที่แน่นอนของรกและตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคก่อนคลอด เช่น ภาวะซีด หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อีกครั้งในสัปดาห์ที่ 15-20 เพื่อติดตามผลของการตรวจคัดกรองก่อนหน้าที่เคยตรวจในสัปดาห์ที่ 11-13 ถ้าผลเลือดมีความผิดปกติ โดยคุณหมอจะตรวจเลือดคัดกรองหาความผิดปกติของโครโมโซมในรายที่ยังไม่เคยทำมาก่อนในไตรมาสแรก ซึ่งการเจาะเลือดนี้จะรวมไปถึงการตรวจแอลฟา-ฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein หรือ AFP) ซึ่งเป็นโปรตีนตัวแรกที่ผลิตขึ้นมาจากตับของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ และทำการทดสอบในสัปดาห์ที่ 16-20 ของการตั้งครรภ์ เพื่อหาข้อบกพร่องของท่อประสาท โดยคุณหมอจะเจาะเลือดเพื่อทำการทดสอบ หาก AFP มีระดับสูง อาจหมายความว่ากำลังท้องลูกแฝด ถ้าระดับ AFP ต่ำ อาจเป็นไปได้ว่าทารกมีอาการดาวน์ซินโดรม แต่หากระดับ AFP ผิดปกติ คุณหมออาจให้ทำการอัลตราซาวด์เพื่อดูกระดูกสันหลังของทารก
  • การเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาโครโมโซมผิดปกติในทารก การทดสอบนี้ทำสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาในการตั้งครรภ์และผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี เนื่องจากอาจมีโอกาสสูงที่ทารกจะเป็นโรคดาวน์ซินโดรม หรือโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ

การเตรียมตัวของคุณแม่ท้อง 4 เดือน

เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกก่อนคลอด การเตรียมตัวของคุณแม่ตั้งครรภ์จึงสำคัญ ดังนี้

  • คุณแม่ควรเริ่มใส่ชุดคลุมท้องเนื่องจากในช่วงนี้หน้าท้องจะเริ่มขยายออก การใส่ชุดคลุมท้องจะช่วยให้คุณแม่สบายมากขึ้น ไม่อึดอัดเมื่อมีกางเกงมาบีบรัดหน้าท้อง
  • ควรมองหาที่พักที่ใกล้กับโรงพยาบาล เพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายเมื่อถึงกำหนดคลอด
  • การรับประทานอาหารก็สำคัญต่อคุณแม่ท้อง 4 เดือน ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน ธาตุเหล็ก สารต้านอนุมูลอิสระ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เนยถั่ว อะโวคาโด อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียมสูง เพื่อเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • พักร่างกายบ่อยครั้ง ไม่ควรทำงานหักโหมจนเกินไปและต้องดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 2-2.5 ลิตร/วัน เนื่องจากภาวะขาดน้ำในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ปวดหัว และเวียนศีรษะ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Week-by-week guide to pregnancy. https://www.nhs.uk/start4life/pregnancy/week-by-week/2nd-trimester/week-16/#anchor-tabs.  Accessed February 4, 2022

Everything you need to know about the second trimester: weeks 13 to 28. https://www.tommys.org/pregnancy-information/im-pregnant/pregnancy-calendar/second-trimester-weeks-13-28. Accessed February 4, 2022

Fetal ultrasound – 4 months. https://www.babycentre.co.uk/4-months-pregnant. Accessed February 4, 2022

The Second Trimester: Your Baby’s Growth and Development in Middle Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/4to6-months. Accessed February 4, 2022

Pregnancy: The fourth month. https://www.aboutkidshealth.ca/Article?contentid=322&language=English. Accessed February 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อายุครรภ์ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการทารก

ตั้งครรภ์ แฝด วิธีดูแลตัวเอง และภาวะแทรกซ้อนที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา