สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ หรือครอบครัวที่เตรียมมีลูก เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องอยากรู้แน่นอนก็คือ พัฒนาการของทารกในครรภ์ในแต่ละช่วงเวลา นี่คือสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 20
[embed-health-tool-due-date]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 20
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับ พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 20 ในสัปดาห์นี้ ลูกน้อยของคุณมีขนาดตัวเท่ากล้วยหอม โดยหนักประมาณ 315 กรัม และสูงประมาณ 25 เซนติเมตร โดยวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า
ทารกน้อยในครรภ์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และใช้เนื้อที่มากขึ้น จึงทำให้เกิดแรงกดทับในบริเวณปอด กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไตของคุณ ผิวหนังของทารกในครรภ์ที่มีไขมันทารกแรกเกิด ลักษณะคล้ายแว็กซ์สีขาว ๆ เคลือบปกป้องอยู่นั้นเริ่มหนาขึ้นและพัฒนาเป็นผิวมากขึ้น และเริ่มมีเส้นขนงอกขึ้นมาบ้างแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
น้ำหนักตัวของคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4.5 กิโลกรัม และในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นได้อีกสัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม ถ้าคุณเริ่มตั้งครรภ์ด้วยน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์ คุณก็อาจต้องเร่งทำน้ำหนักให้มากขึ้น แต่ถ้าคุณเริ่มต้นด้วยน้ำหนักที่มากเกินไป คุณก็ควรทำน้ำหนักให้น้อยลง
นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องไม่ลืมเพิ่มธาตุเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายด้วย เนื่องจากธาตุเหล็กคือสารตั้งต้นในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ช่วยนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณยังต้องการธาตุเหล็กไปเพิ่มปริมาณของเลือดมากขึ้นด้วย รวมทั้งเพื่อการเติบโตของลูกน้อยและรกด้วย
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
คุณแม่ควรพิจารณาการเก็บเลือดจากรกไว้กับธนาคารเลือดจากรก โดยกระบวนการเก็บเลือดจากรก เป็นการเก็บเลือดด้วยวิธีปราศจากเชื้อโรคจากเส้นเลือดดำของสายสะดือทารกแรกเกิดที่ได้รับการผูกและตัดสายสะดือแล้ว ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อทารกและคุณแม่แต่อย่างใด
เลือดจากรกนั้นเก็บไว้ใช้ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากเลือดสายสะดือและรก (Placental and umbilical cord blood stem cell transplantation) เพื่อใช้รักษาโรคต่อไปในอนาคต เนื่องจากสามารถใช้รักษาโรคบางชนิดได้ผลดี เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอิลอยด์ (Chronic myeloid leukemia) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease) โรคกระดูกหนา (Osteopetrosis หรือ marble bone disease)
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง
การทำอัลตร้าซาวด์ครั้งที่สองในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ ถือเป็นวิธีสังเกตพัฒนาของทารกในครรภ์ที่เหมาะสมมาก อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เป็นกังวลหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการอัลตร้าซาวด์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์แนะนำข้อมูลที่ถูกต้อง
การอัลตร้าซาวด์ คือ การสร้างภาพโดยอาศัยคลื่นเสียง ช่วยให้แพทย์สามารถระบุขนาดและตำแหน่งของทารกน้อยได้อย่างชัดเจน ทั้งยังสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติทางโครงสร้างกระดูกหรืออวัยวะต่าง ๆ รวมถึงสายสะดือ รก และน้ำคร่ำได้ด้วย นอกจากนี้ การล่วงรู้ตำแหน่งและขนาดของทารกในครรภ์ ยังช่วยให้แพทย์สามารถแนะนำได้ด้วยว่า คุณแม่ตั้งครรภ์และคู่รักจะสามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้หรือไม่
การทดสอบที่ควรรู้
คุณหมออาจแนะนำให้คุณทำการทดสอบน้ำคร่ำ ซึ่งเป็นการทดสอบในกรณีพิเศษ ไม่ใช่การทดสอบตามอายุครรภ์ สำหรับการทดสอบน้ำคร่ำ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะนำตัวอย่างน้ำคร่ำจากถุงน้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวทารกในครรภ์ออกมาตรวจ เพื่อหาความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) อย่างไรก็ตาม การทดสอบน้ำคร่ำถือเป็นการทดสอบที่มีความเสี่ยง คุณจึงควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อประเมินประโยชน์ที่ได้รับ ความเสี่ยง และข้อจำกัดต่างๆ ของการทดสอบชนิดนี้ให้ดี
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
- อาหารออร์แกนิค
อาหารออร์แกนิค (Organic Food) หรือที่เรียกกันว่าอาหารอินทรีย์ คืออาหารผ่านกระบวนการผลิตจากเกษตรกรโดยปลอดสารเคมีทุกชนิด ข้อดีของอาหารออร์แกนิค คือ ปลอดสารเคมี จึงส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าในระยะยาว แต่ก็อาจหาซื้อได้ยากกว่าและมีราคาแพงกว่าอาหารปกติ ถึงแม้รูปร่างหน้าตาและสารอาหารในอาหารออร์แกนิคและอาหารไม่ออร์แกนิคจะแทบไม่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังเป็นพิเศษก็คือ เรื่องสารพิษและยาฆ่าแมลงต่าง ๆ
เพราะสามารถส่งผลเสียกับคุณและทารกในครรภ์ได้ แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์หรือครอบครัวไม่สะดวกในการซื้ออาหารออร์แกนิคมาบริโภค ก็สามารถลดสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก หรือผลไม้ไม่ออร์แกนิคได้ด้วยการล้างด้วยการล้างแบบให้น้ำไหลผ่าน จากนั้นแช่ในน้ำเปล่า น้ำเปล่าผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำเปล่าผสมเบคกิ้งโซดานาน 15 นาที ก่อนล้างแบบให้น้ำไหลผ่านอีกรอบ และถูผักหรือผลไม้อีกประมาณ 2 นาที ก่อนนำไปประกอบอาหารหรือรับประทาน
- การยืนเป็นเวลานาน ๆ
การยืนอยู่กับที่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้อาการบวมที่ขา ข้อเท้า หรือน่องของคุณแม่ตั้งครรภ์แย่ลง หรือทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ จนหน้ามืดเป็นลมได้ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรยืนอยู่กับที่นาน ๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบท หรือเดินไปมาระยะสั้น ๆ บ้างเพื่อให้เลือดไหลเวียน
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจใช้เข็มขัดพยุงครรภ์ เพื่อช่วยพยุงหน้าท้องและกระจายน้ำหนัก ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่สองและที่สามของการตั้งครรภ์