อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก (False labour หรือ Braxton Hicks Contractions) เป็นอาการที่เกิดจากมดลูกบีบรัดตัว แต่ไม่พบว่ามีการเ้ปลี่ยนแปลงของปากมดลูก หรือปากมดลูกไม่เปิด มักพบได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป และอาจเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงใกล้คลอดเนื่องจากร่างกายปรับตัวให้พร้อมคลอดบุตร หากคุณแม่ตั้งครรภ์ทราบว่า เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน ก็อาจช่วยให้รับมือกับอาการนี้ได้ดีขึ้น โดยทั่วไปอาการเจ็บท้องเตือนจะเกิดบริเวณหน้าท้อง คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บบริเวณอื่น ๆ เช่น หลังหรือท้องส่วนล่างเหมือนกับอาการเจ็บท้องจริงหรือเจ็บท้องคลอด และอาการเจ็บท้องเตือนอาจหายได้เองเมื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นนอน ลุกขึ้นนั่ง เดินเล่นระยะสั้น ๆ นอนแช่น้ำอุ่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
[embed-health-tool-due-date]
เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน
โดยปกติแล้ว อาการเจ็บท้องเตือนจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกถึงแรงบีบรัดของมดลูกบริเวณหน้าท้องส่วนหน้าหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน ลักษณะมดลูกเป็นท้องแข็งปั้นขึ้นมาทั้งท้อง โดยมักไม่มีอาการอื่น ๆ เช่น มูกเลือดไหลจากช่องคลอด น้ำคร่ำแตก ร่วมด้วย
เจ็บท้องเตือน เกิดเมื่อไหร่ และเป็นแบบไหน
อาการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องหลอก เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย อาจเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 4-6 หรือไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป และอาจมีอาการถี่ขึ้นในช่วงเดือนที่ 7-9 หรือไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยลักษณะของการเจ็บท้องเตือนคือมีการหดรัดตัวของปากมดลูก เป็นๆหายๆ คุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้สึกมีท้องแข็งปั้นขึ้นมาทั้งท้อง โดยอาการมดลูกหดรัดตัวแข็งปั้นจะบีบตัวไม่สม่ำเสมอ อาการอาจเกิดขึ้นนานประมาณ 30 วินาทีไปจนถึง 2 นาที แล้วหายไป และที่สำคัญคือเป็นการกดรัดตัวของมดลูกที่ไม่ทำให้เกิดการขยายตัวของปากมดลูก การเจ็บท้องเตือนไม่มีสาเหตุที่แน่นอน และอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การดื่มน้ำน้อยเกินไป การขยับร่างกาย การยืนหรือเดินที่มากเกินไป การมีเพศสัมพันธ์ การยกของหนัก กระเพาะปัสสาวะเต็ม บางครั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ก็อาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อย (Round ligament pain) หรือปวดแปลบบริเวณขาหนีบด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากเอ็นที่พยุงมดลูกอยู่ยืดตัวเพราะไอ จาม หรือลุกออกจากเตียงเร็วเกินไป อาการเจ็บท้องเตือนมักมาแบบเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่แล้วไม่ทำให้ปวดท้องรุนแรงและสามารถกินยาบรรเทาอาการได้
อาการเจ็บท้องเตือนไม่ได้เป็นสัญญาณของการใกล้คลอด และไม่ทำให้ปากมดลูกขยายตัวและเปิดออก แต่เมื่อมีอาการปวดท้องเกิดขึ้นบ่อย ๆ และรุนแรงมากขึ้นในช่วงใกล้คลอด อาจทำให้เกิดความสับสนกับการเจ็บท้องจริงได้
เจ็บท้องคลอด เป็นแบบไหน
อาการเจ็บท้องคลอด อาจมีลักษณะดังนี้
- ปากมดลูกขยายตัวและเปิดออก
- ปวดไล่ตั้งแต่หลังไปจนถึงท้องส่วนล่าง และอาจทำให้รู้สึกปวดทั่วทั้งร่างกาย
- รู้สึกมีแรงดันบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน
- มีอาการปวดสม่ำเสมอ ถี่และนานขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เจ็บท้องทุก 5 นาที ครั้งละ 30-70 วินาที
- อาการปวดจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะขณะเดิน ขยับเปลี่ยนท่าทาง หรือพูดคุย
- อาจมีของเหลวหรือมูกเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด
การดูแลตัวเองเมื่อเจ็บท้องเตือน
การดูแลตัวเองเมื่อเจ็บท้องเตือน อาจทำได้ดังนี้
- เปลี่ยนอิริยาบถหรือระดับความเข้มข้นของกิจกรรมที่ทำอยู่ เช่น หากนอนแล้วเจ็บท้องให้ลุกขึ้นนั่งหรือเดินเล่นระยะสั้น ๆ หากทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากให้นั่งพักเฉย ๆ
- หาวิธีที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย เช่น แช่น้ำอุ่น นวดตัว งีบหลับในช่วงกลางวัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อและเซลล์ต่าง ๆ เพียงพอ อาจช่วยลดอาการตะคริวและปวดท้องได้
- เข้าห้องน้ำทุกครั้งที่ปวดปัสสาวะ ไม่กลั้นปัสสาวะ อาจช่วยลดอาการเจ็บท้องเตือนและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนตั้งครรภ์
- หากเจ็บท้องมาก สามารถกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการได้ โดยปริมาณที่แนะนำคือครั้งละ 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ทุก 6 ชั่วโมง และควรกินเมื่อมีอาการเท่านั้น
- หากอาการเจ็บท้องถี่และสม่ำเสมอมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถ นอนพักหรือรับประทานยาแก้ปวดแล้ว แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นการเจ็บท้องเพื่อคลอดหรือไม่