backup og meta

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน สาเหตุและการดูแล

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน สาเหตุและการดูแล

สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งผ่านการผ่าคลอด อาจต้องเผชิญกับปัญหา แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ แผลได้รับการกระทบกระเทือน พฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบของแผลบริเวณด้านในมดลูก ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีอาการปวดท้อง มีเลือดออกจากช่องคลอด มีไข้ ความดันโลหิตต่ำและวิงเวียนศีรษะ หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ และคาดว่าแผลผ่าคลอดอักเสบ ควรรีบดูแลตนเองเบื้องต้นและเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที

สาเหตุของแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน

แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและอาจคล้ายกับการเกิดแผลอักเสบภายนอก ดังนี้

อาจเกิดการติดเชื้อที่แผลจากภายใน

การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณบาดแผลผ่าคลอดอาจทำให้เกิดการอักเสบภายในได้ โดยแบคทีเรียที่อาจพบได้บ่อย คือ สแตฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) เชื้อเอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) เชื้ออีโคไล (Escherichia Coli หรือ E. Coli) โดยแผลผ่าคลอดภายในสามารถติดเชื้อได้จากการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง เช่น การติดเชื้อที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อจากกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อภายในได้ ดังนี้

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือโรคอ้วน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis) เนื่องจากการติดเชื้อของน้ำคร่ำและรกในระหว่างรอคลอด
  • การใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน
  • เคยผ่านการผ่าตัดคลอดมาก่อน
  • การสูญเสียเลือดมากเกินไประหว่างคลอดหรือการผ่าตัด

แผลอาจได้รับการกระทบกระเทือน

แผลผ่าคลอดอาจได้รับการกระทบกระเทือนจากการกดทับและเกิดแรงดันในมดลูก นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการใส่เสื้อผ้าคับแน่น การยกของหนัก การออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งอาจส่งผลทำให้แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน และเกิดการฉีกขาดได้

อาจเกิดจากพฤติกรรมและภาวะสุขภาพที่ทำให้รักษาแผลได้ไม่ดี

บางคนอาจมีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การติดเชื้อเอชไอวี การสูบบุหรี่ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื้อเยื่อและเซลล์ผิวหนังบริเวณแผล ทำให้แผลสมานตัวช้าและแผลหายได้ช้า

อาการเมื่อแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน

การอักเสบของแผลผ่าคลอดที่เกิดขึ้นภายในไม่สามารถมองเห็นได้จึงอาจสังเกตจากอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • มีไข้ ความดันโลหิตต่ำ อาการวิงเวียนศีรษะ
  • ปวดท้องรุนแรง
  • น้ำคาวปลาผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นและมีเลือดออกทางช่องคลอด
  • เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะหรืออุจจาระ
  • อาการท้องผูกรุนแรง
  • แผลนูนออกหรือเป็นก้อนที่ท้องส่วนล่าง

การดูแลแผลผ่าคลอด

เพื่อป้องกันแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน อาจทำได้ดังนี้

  • หลังการผ่าตัดคลอดควรรักษาแผลให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลังการผ่าตัดคลอดควรงดการยกของหนัก การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธ์หรือการทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดแรงกดและแรงดันในมดลูก ซึ่งอาจทำให้แผลภายในมดลูกอักเสบได้ นอกจากนี้ ควรพักฟื้นเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการดูแลแผลของแต่ละคน เพื่อให้แผลสมานตัวดีและสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ
  • ควบคุมน้ำหนักเพื่อป้องกันโรคอ้วนที่อาจเป็นสาเหตุของแผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน
  • รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคเบาหวานที่อาจทำให้แผลหายช้า
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่อาจส่งผลต่อการสมานตัวของเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผล
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบและการติดเชื้อหลังผ่าคลอดได้

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Delivery Modality Affect Neonatal Levels of Inflammation, Stress, and Growth Factors. https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fped.2021.709765/full. Accessed April 15, 2022

Caesarean Delivery and Risk of Chronic Inflammatory Diseases (Inflammatory Bowel Disease, Rheumatoid Arthritis, Coeliac Disease, and Diabetes Mellitus): A Population Based Registry Study of 2,699,479 Births in Denmark During 1973–2016. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7073427/. Accessed April 15, 2022

Caesarean section. https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/recovery/. Accessed April 15, 2022

Caring for your wound after having a caesarean section. https://www.mkuh.nhs.uk/patient-information-leaflet/caring-for-your-wound-after-having-a-caesarean-section. Accessed April 15, 2022

The Do’s and Don’ts of Healing from a C-Section. https://intermountainhealthcare.org/blogs/topics/intermountain-moms/2018/03/the-dos-and-donts-of-healing-from-a-csection/. Accessed April 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำคาวปลาหลังคลอด คืออะไร แล้วกี่วันถึงจะหมด

ผ้ารัดหน้าท้องหลังคลอด ประโยชน์และวิธีใช้งาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา