backup og meta

ครีมทาท้องลาย คนท้อง ควรเลือกใช้แบบไหนถึงปลอดภัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/03/2022

    ครีมทาท้องลาย คนท้อง ควรเลือกใช้แบบไหนถึงปลอดภัย

    รอยแตกลาย คือ รอยแผลเป็นชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง หน้าอก ต้นแขน สะโพก ก้น โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องของคนท้องในช่วงไตรมาสที่ 3 อันเป็นระยะใกล้คลอด เนื่องจากหน้าท้องจะโป่งนูนและขยายใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับทารกในครรภ์ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเกิดรอยแตกลายที่ท้องอาจส่งผลให้คนท้องเป็นกังวล หรืออาจขาดความมั่นใจได้ อย่างไรก็ตาม การบำรุงรักษาผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น ครีมทาท้องลาย คนท้อง อย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้ ทั้งนี้ คนท้องควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์

    หน้าท้องลาย เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ขนาดและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ผิวหนังขยายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เนื้อเยื่อผิวหนังชั้นกลางขยายและขาดออกจากกัน จนอาจเกิดเป็นรอยแตกลายบนผิวหนัง และแม้หน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นจะลดขนาดลงหลังคลอด แต่รอยแตกลายอาจยังคงอยู่ และจางหายเองได้ค่อนข้างยาก ภาวะหน้าท้องลาย นอกจากจะเกิดกับผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้เข้าสู่วัยรุ่น ผู้ที่เพิ่มหรือลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว และผู้ที่กล้ามเนื้อขยายจากการยกน้ำหนักเป็นประจำได้ด้วย

    วิธีรักษาหน้าท้องลายสำหรับคนท้อง

    การลดเลือนรอยแตกลายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ การทาครีมทาท้องลาย  แม้การรักษาอาจจะไม่ช่วยให้รอยแตกลายหายสนิท แต่ก็อาจช่วยให้รอยแตกดูจางลงได้เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ ควรเริ่มรักษาภาวะหน้าท้องลายตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือในช่วงที่รอยแตกยังเป็นสีม่วง ชมพู หรือแดงเรื่อ เพราะอาจรักษาให้รอยจางลงได้ง่ายกว่ารอยที่อยู่มานานจนเปลี่ยนเป็นสีเงินหรือขาวแล้ว

    วิธีการลดเลือนรอยท้องลายที่นิยม อาจมีดังนี้

  • การรักษาด้วยไมโครนีดเดิ้ล (Microneedling) เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กจำนวนมากจิ้มไปที่ผิวหนังบริเวณรอยแตกลายเพื่อกระตุ้นให้ผิวสร้างคอลลาเจน ซึ่งอาจช่วยรักษาผิวหนังที่แตกลายหรือเป็นแผลเป็นได้
  • การรักษาด้วยแสงและเลเซอร์ เช่น เลเซอร์แฟรคชันนัล (Fractional Laser) เลเซอร์เพาซ์ดายด์ (Pulse-Dye Lasers) การรักษาด้วยแสงแอลอีดี (LED Light Therapy) เป็นวิธีรักษาที่อาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในผิว ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับประโยชน์และผลข้างเคียงให้ดี ก่อนตัดสินใจทำเลเซอร์ทุกชนิด
  • การใช้ครีมที่มีส่วนผสมที่ช่วยฟื้นฟูผิว เช่น กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) เรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว ทั้งนี้ หากรีบใช้ในช่วงที่ผิวเพิ่งแตกลาย อาจช่วยให้ดูจางลงและดูเป็นธรรมชาติกลืนไปกับผิวรอบรอยแตกได้ดียิ่งขึ้น แต่อาจทำให้ผิวระคายเคืองได้สำหรับผู้ที่แพ้ จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนเลือกซื้อครีมทาท้องลายมาใช้ด้วยตัวเอง
  • ครีมทาท้องลาย คนท้อง ควรใช้แบบไหน

    การทาครีมทาท้องลายที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้รอยแตกลายที่ท้องดูจางลงได้อย่างปลอดภัย

    • กรดไฮยาลูรอนิค หรือไฮยาลูรอน เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อาจเหมาะกับการรักษารอยแตกลายที่เกิดขึ้นไม่นานและยังเป็นสีแดงอยู่ หากใช้อย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้อย่างมาก
    • เรตินอยด์ เช่น Tretinoin (เตรทติโนอิน) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ ที่อาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และทำให้ผิวสุขภาพดีขึ้น แต่ควรใช้หลังการตั้งครรภ์เท่านั้น เนื่องจากวิตามินเออาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น ทำให้แท้งลูก ทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด

    ส่วนผสมดังกล่าวอาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลง แต่อาจไม่สามารถทำให้รอยแตกหายสนิทได้ นอกจากนี้ การทาครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินอี น้ำมันอัลมอนด์ เนยโกโก้ กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) เป็นต้น ก็อาจช่วยบรรเทาอาการคัน ลดความแห้งตึง และช่วยให้ผิวบริเวณรอยแตกลายชุ่มชื้นขึ้นได้

    ครีมทาท้องลาย คนท้อง ใช้อย่างไรให้ได้ผลดี

    • ใช้ครีมทาท้องลายตั้งแต่ช่วงเดือนแรก ๆ ที่เกิดรอยแตก อาจช่วยให้รอยดูจางลงได้ง่ายและไวกว่าการทิ้งรอยไว้นาน ๆ
    • นวดวนครีมบนผิวที่เกิดรอยแตกสักครู่ เพื่อให้เนื้อครีมซึมเข้าสู่ผิวได้ดีขึ้น
    • ควรทาครีมทาท้องลายเป็นประจำทุกวัน
    • ปรึกษาคุณหมอก่อนเริ่มตัดสินใจเลือกซื้อครีมทาท้องลายใด ๆ มาใช้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากส่วนผสมในครีม
    • ใช้ครีมทาท้องลายตามคำแนะนำของคุณหมอ เภสัชกร หรือตามเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา