backup og meta

น้ำนมน้อย เกิดจากอะไร และมีวิธีเพิ่มน้ำนมอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    น้ำนมน้อย เกิดจากอะไร และมีวิธีเพิ่มน้ำนมอย่างไรบ้าง

    น้ำนมของคุณแม่มีประโยชน์ต่อทารกแรกเกิดอย่างมาก เนื่องจากมีสารอาหารที่อาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกแรกเกิดสามารถต่อสู้กับไวรัส แบคทีเรีย ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการเกิดโรคในทารก เช่น โรคภูมิแพ้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางรายอาจประสบปัญหา น้ำนมน้อย ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารกได้ การเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้น้ำนมน้อย และวิธีกระตุ้นน้ำนม อาจทำให้ทารกมีน้ำนมแม่กินอย่างเพียงพอ และช่วยส่งเสริมให้ทารกเจริญเติบโตได้อย่างสมวัย

    คุณแม่มีน้ำนมน้อย เกิดจากอะไร

    ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่มีน้ำนมน้อย อาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากคุณแม่อาจนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเครียดมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำนมน้อย อีกทั้งการอดอาหารก็อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อย และทารกไม่ได้รับสารอาหารจากนมแม่อย่างเพียงพอ คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อวัน โดยเน้นอาหารเพื่อสุขภาพที่ให้ทั้งพลังงานและสารอาหารที่หลากหลาย เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมูและเนื้อวัวไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม ข้าวกล้อง ผักใบเขียว บลูเบอร์รี่ ส้ม และควรดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ

    นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้น้ำนมน้อยได้ เช่น

    • การสูบบุหรี่
    • การใช้สมุนไพรและยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
    • ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
    • ภาวะเลือดออกรุนแรงหลังคลอด
    • น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
    • โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
    • การคลอดบุตรก่อนกำหนด
    • การผ่าตัดบริเวณเต้านม ที่อาจส่งผลต่อเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่สร้างน้ำนม

    วิธีเพิ่มน้ำนมแม่

    วิธีต่อไปนี้อาจช่วยเพิ่มน้ำนมแม่ให้เพียงพอต่อความต้องการของทารกได้

    • ให้นมทารกโดยเร็วที่สุด ควรให้นมทารกภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และควรให้นมทารกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือ 8-12 ครั้งต่อวัน ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะการให้นมทารกทันทีและให้นมทารกบ่อย ๆ อาจช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) และออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่ช่วยในการผลิตน้ำนม 
    • การอุ้มหรือการกอด เมื่อผิวหนังของลูกน้อยและคุณแม่สัมผัสกับขณะให้นมลูกอาจช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคตินและออกซิโตนเช่นกัน ซึ่งคุณแม่สามารถทำได้โดยถอดเสื้อชั้นในของตนเองและเสื้อผ้าทารกเพื่อให้ผิวหนังของทั้ง 2 คนแนบชิดกัน แต่อาจห่อร่างกายทารกด้วยผ้าอ้อมหรือผ้าห่มแทน เพื่อเพิ่มความอบอุ่น ป้องกันทารกหนาวเกินไป
    • ดูแลสุขภาพ การอดนอนอาจส่งผลให้คุณแม่เครียดจนทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมน้อยลงได้ เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม คุณแม่ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาวิธีผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช และดื่มน้ำให้มาก ๆ นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่ เพราะทารกอาจได้รับสารเคมีจากบุหรี่ผ่านน้ำนมหรือควันบุหรี่มือสอง ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโต และรูปแบบการนอนของทารก
    • ยา คุณหมออาจให้ยาที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำนม และอาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด กลุ่มยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) เพราะอาจส่งผลให้น้ำนมน้อย
    • นวดหน้าอก คุณแม่ควรนวดเต้านมเบา ๆ ระหว่างให้นมทารก เพื่อกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมได้ดีขึ้น
    • ปั๊มนม คุณแม่ควรปั๊มนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 15 นาที เพราะอาจช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้

    ทารกกินนมอื่นแทนนมแม่ได้หรือไม่

    นมแม่เป็นนมที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับทารก เพราะช่วยให้ทารกมีภูมิคุ้มกันที่ดี ป้องกันการเจ็บป่วย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมอง บรรเทาอาการท้องผูก และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และการเสียชีวิตเฉียบพลันในทารกหรือโรคไหลตายในทารกได้ด้วย แต่หากทารกไม่กินนมแม่ หรือคุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ ก็อาจให้ลูกกินนมผงแทนได้

    การให้ทารกกินนมผงอาจสะดวกกว่าการให้กินนมแม่ และทำให้คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลหรือควบคุมการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อน้ำนมแม่ แต่ขณะเดียวกัน นมผงก็อาจทำให้ทารกเกิดปัญหาในการย่อย เพราะย่อยได้ยากกว่านมแม่ หากเป็นไปได้ ทารกควรกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปีเป็นอย่างต่ำ เพราะถือเป็นนมที่เหมาะกับสุขภาพของทารกที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา