backup og meta

หลังคลอด ร่างกายคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/08/2022

    หลังคลอด ร่างกายคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

    หลังคลอด เป็นช่วงเวลาหลังจากการตั้งครรภ์สิ้นสุดลง ซึ่งตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น น้ำหนักขึ้น เท้าบวม เอ็นข้อมืออักเสบ แต่รู้หรือไม่ว่าหลังคลอดแล้วร่างกายยังคงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งอาการบางอย่างอาจเป็นเรื่องที่คุณแม่อาจไม่ทันคาดคิดมาก่อน ดังนั้น คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ที่ใกล้คลอด และคุณแม่ที่คลอดลูกแล้ว ควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจะได้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดได้อย่างเข้าใจและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

    หลังคลอด ร่างกายคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

    รู้หรือไม่ว่า หลังคลอด ร่างกาย ฮอร์โมน อารมณ์ ของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกกังวลใจ เครียด เพราะไม่รู้ว่าควรจัดการกับตนเองอย่างไร ทั้งนี้ หากคุณแม่ทราบถึงภาวะที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยให้เตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสม ดังนี้

    ความต้องการทางเพศลดลง

    ช่วงเวลา หลังคลอด คุณแม่มือใหม่อาจมีความต้องการทางเพศลดลง โดยผู้หญิงบางคนอาจใช้เวลาเป็นปี กว่าที่จะรู้สึกมีอารมณ์ทางเพศอีกครั้ง เพราะหลังจากคลอดลูก คุณแม่มักจะใช้เวลาไปกับลูก จึงทำให้แทบจะไม่มีเวลาสำหรับตัวเอง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

    นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่เดือน หลังคลอดลูก คุณแม่มือใหม่มักรู้สึกเหนื่อย และอาจไม่ต้องการที่จะมีช่วงเวลาโรแมนติกกับคนรัก และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จะสูงขึ้นตอนที่คุณตั้งครรภ์ และจะลดลงทันทีหลังคลอด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนดังกล่าวอาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง และอาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะกลับมามีความต้องการทางเพศเหมือนเดิม

    หน้าท้องใหญ่

    คุณแม่มือใหม่มักคาดหวังว่า หลังคลอดลูก หน้าท้องจะกลับไปมีขนาดเท่าเดิมโดยทันที แต่ความจริงแล้วอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ ก่อนที่มดลูกจะกลับมามีขนาดเท่ากับช่วงก่อนตั้งครรภ์ นอกจากนี้ หน้าท้องมักมีลักษณะแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย และอาจดูเหมือนกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 5 เดือน

    ดังนั้น ในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด การออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยให้กลับมามีรูปร่างดังเดิมเร็วขึ้น ทั้งนี้ การออกกำลังกายช่วงลำตัวอาจช่วยได้

    เท้าบวม

    ช่วงตั้งครรภ์ หญิงท้องจำนวนมากมักมีเท้าบวม แต่หลังจากคลอดลูก ขนาดของเท้าอาจเปลี่ยนไปอย่างถาวร เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ผู้หญิงจะน้ำหนักขึ้นประมาณ 11-15 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักที่ขึ้นมาจะเพิ่มแรงกดดันให้กับเท้า จนอาจทำให้เท้าแบนราบ และอาจต้องเปลี่ยนขนาดของรองเท้าให้ใหญ่ขึ้นประมาณครึ่งนิ้ว

    นอกจากนี้ ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของเท้า โดยเฉพาะฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) ที่จะผ่อนคลายเอ็นยึดกล้ามเนื้อในร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูก แต่ฮอร์โมนรีแลกซินส่งผลต่อกล้ามเนื้อรวมถึงเท้า จึงอาจทำให้เท้ามีขนาดใหญ่ขึ้นหลังคลอดลูก

    ลักษณะเต้านมเปลี่ยนไป

    ยิ่งมีลูกหลายคน เต้านมมีโอกาสหย่อนยานมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนกลัวว่าการให้นมลูกอาจทำให้เต้านมหย่อนยาน แต่ความจริง การให้นมลูกไม่ส่งผลให้เต้านมหย่อนยาน เพราะปัจจัยที่ทำให้เต้านมมีลักษณะหย่อนยาน ได้แก่ การมีค่าดัชนีมวลกายสูง การสวมเสื้อชั้นในที่มีขนาดใหญ่กว่าเต้านม มีประวัติการสูบบุหรี่ การมีอายุมากขึ้น

    ผมร่วง

    ช่วงตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมักเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผมดก แต่หลังจากคลอดลูกฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง และส่งผลให้ผมร่วง โดยส่วนใหญ่ คุณแม่หลังคลอดมักมีอาการผมร่วงประมาณ 3-4 เดือน และจะกลับมาเป็นปกติภายใน 6-12 เดือน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา