backup og meta

อาการตกเลือด ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เกิดจากอะไร

อาการตกเลือด ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เกิดจากอะไร

อาการตกเลือด ที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด คือ ภาวะที่มีเลือดออกทางช่องคลอด ที่อาจทำให้ร่างกายเสียเลือดมาก และส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่อาการช็อก หมดสติ หรือเสียชีวิต หากสังเกตว่ามีอาการตาพร่า วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผิวซีด หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอด ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

อาการตกเลือด เกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตกเลือดขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด อาจมีดังนี้

อาการตกเลือดขณะตั้งครรภ์

อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะแท้ง อาจเกิดขึ้นในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดอาการเลือดออกทางช่องคลอด บางรายอาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อย
  • การฝังตัวของตัวอ่อน อาจเกิดจากตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกในช่วงหลังปฏิสนธิเพื่อเตรียมตั้งครรภ์ ทำให้มีเลือดออกหรือที่เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัดจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) คือภาวะที่รกบางส่วนหรือทั้งหมดหลุดลอกออกก่อนการคลอดซึ่งอาจเกิดจากการกระทบกระเทือนบริเวณท้องอย่างรุนแรง หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง การได้รับสารพิษจากการสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดบางชนิด ทำให้คุณแม่มีอาการตกเลือด
  • รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกปกคลุมปิดปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด ส่งผลให้เกิดอาการตกเลือดในปริมาณมากระหว่างตั้งครรภ์ บางคนอาจหายได้เองเมื่อมดลูกขยายตัวขึ้น เนื่องจากรกมีการขยับขึ้นไปจากปากมดลูก แต่หากได้รับการตรวจอัลตราซาวด์และพบว่ามีรกเกาะต่ำจริง และเกิดอาการตกเลือดจนถึงช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ควรเข้าพบคุณหมอทันที
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวนอกมดลูก ส่วนใหญ่จะพบในท่อนำไข่ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้ทารกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ต่อไปและเป็นอันตรายต่อคุณแม่ เนื่องจากถ้าท่อนำไข่แตกมีโอกาสเสียเลือดปริมาณมาก สัญญาณของการตั้งครรภ์นอกมดลูก ได้แก่ อาการตกเลือด ปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว รู้สึกปวดท้องเกร็ง
  • มดลูกแตก พบได้ในคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาก่อน หรือเคยมีรอยแผลที่มดลูกจากการผ่าตัด การตั้งครรภ์จะทำให้มดลูกขยายตัวมากขึ้น อาจทำให้เกิดรอยปริที่แผลเดิมได้ ทำให้มีอาการปวดท้องและเลือดออกมาก มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อในบริเวณปากมดลูกและช่องคลอด เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้ เริม อาจทำให้มีอาการตกเลือดในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ก่อนการตั้งครรภ์จึงควรตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์
  • การมีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นภาวะที่พบได้ยาก เกิดจากความผิดปกติของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกที่สมบูรณ์ ส่งผลให้แท้งบุตร และมีอาการตกเลือดในปริมาณมาก อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

อาการตกเลือดหลังคลอด 

อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • รกหลุดลอกออกจากมดลูกไม่หมด โดยปกติแล้วมดลูกจะหดตัวเพื่อขจัดรกออกมาจากช่องคลอดหลังจากคลอดบุตร แต่หากมีชิ้นเนื้อรกค้างอยู่ในมดลูกจะทำให้มดลูกไม่หดตัว จึงมี เลือดไหลออกจากมดลูกในปริมาณมาก นำไปสู่การตกเลือด
  • มดลูกและหลอดเลือดฉีดขาดระหว่างคลอด เนื่องจากทารกอาจมีลำตัวใหญ่หรือคนไข้เบ่งเร็วในการคลอดแบบธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสียหาย แผลขนาดใหญ่ หรือเส้นเลือดบาดเจ็บเยอะได้
  • การหดรัดตัวที่ไม่ดีของมดลูก ทำให้เกิดการตกเลือดปริมาณมากได้
  • มดลูกไม่แข็งตัว ในคนไข้บางราย หลังจากที่คลอดทารกและรกแล้ว มดลูกอาจไม่แข็งตัว ทำให้เลือดออกปริมาณมาก
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดไม่หยุดไหล หรือหยุดไหลยากกว่าปกติ

กลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการตกเลือด

ผู้ที่มีความเสี่ยงอาการตกเลือด ได้แก่

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
  • การคลอดลูกแบบผ่าคลอด
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • ผู้ที่มีปริมาณน้ำคร่ำมาก
  • ผู้ที่เคยมีประวัติตกเลือดในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

สัญญาณเตือนอาการตกเลือด

สัญญาณเตือนอาการตกเลือด มีดังนี้

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดอาจมีสีแดงสีน้ำตาลหรือสีชมพู
  • มีไข้และรู้สึกหนาวสั่น
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • สายตาพร่ามัว
  • ปวดท้องรุนแรง
  • หัวใจเต้นเร็ว

หากสังเกตว่ามีอาการเลือดไหลอย่างต่อเนื่อง ควรเข้าพบคุณหมอทันที

วิธีรักษาอาการตกเลือด

วิธีรักษาอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด มีดังนี้

การรักษาอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์

คุณหมออาจรักษาตามสาเหตุที่วินิจฉัย ดังนี้

  • รกเกาะต่ำ ไม่มีวิธีรักษาสำหรับรกเกาะต่ำ แต่คุณหมออาจให้ยาควบคุมการตกเลือดและป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หรือยาคลายการหดรัดตัวของมดลูก เพื่อยื้อเวลาให้เข้าใกล้วันกำหนดคลอดมากที่สุด อีกทั้งอาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ช่วยพัฒนาปอดทารก เพื่อให้คลอดได้อย่างปลอดภัย
  • ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรักษาขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นโดยส่วนใหญ่คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะ และยาต้านไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงแพร่กระจายไปยังทารก

นอกจากนี้หากคุณหมอประเมินว่าคุณแม่มีภาวะแท้งบุตร หรือมีภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ ก็อาจจำเป็นต้องขูดมดลูกหรือผ่าคลอดนำทารกออก หรืออาจให้ยายุติการตั้งครรภ์ในกลุ่มพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) เช่น ไมโสพรอสตอล (Misoprostol) ขึ้นกับอายุครรภ์ของทารกในขณะนั้น

การรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด 

อาจรักษาได้ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

  • การนวดคลึงบริเวณหน้าท้องเพื่อทำให้การหดตัวของมดลูกดีขึ้น
  • การขูดหรือล้วงเอารกที่ตกค้างในมดลูกออก
  • การใช้บอลลูนสำหรับกดผนังมดลูก(Bakri balloon)เพื่อหยุดการตกเลือด
  • การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหลอดเลือดเย็บแผลที่ฉีกขาดจากการผ่าคลอด
  • การให้เลือดใหม่เข้าสู่ร่างกาย เพื่อช่วยทดแทนเลือดที่เสียไป
  • การใช้ยากระตุ้นให้เกิดการหดตัวของมดลูก เช่น ไมโสพรอสตอล ออกซิโทซิน (Oxytocin) เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine)
  • การผ่าตัดนำมดลูกออก เป็นวิธีการรักษาสุดท้ายที่คุณหมอเลือก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผลและอาการตกเลือดแย่ลง

การป้องกันอาการตกเลือด

การป้องกันอาการตกเลือด อาจทำได้ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ และควรรับประทานอาหารเสริมโฟเลต เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดความบกพร่องของท่อประสาทในทารกที่กำลังพัฒนา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โซเดียมสูง และน้ำตาลสูง เช่น ของทอด อาหารแปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
  • หยุดสูบบุหรี่ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในระหว่างการตั้งครรภ์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการออกกำลังกายอย่างหนักเกินไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vaginal bleeding. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/common-symptoms/vaginal-bleeding/. Accessed March 29, 2022  

Bleeding During Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 29, 2022   

Bleeding During Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/bleeding-during-pregnancy. Accessed March 29, 2022   

Postpartum Hemorrhage. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=postpartum-hemorrhage-90-P02486. Accessed March 29, 2022   

Postpartum Hemorrhage. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=90&ContentID=P02486. Accessed March 29, 2022   

Vaginal Bleeding After Birth: When to Call a Doctor. https://www.webmd.com/women/vaginal-bleeding-after-birth-when-to-call-doctor. Accessed March 29, 2022   

Placenta previa. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placenta-previa/symptoms-causes/syc-20352768. Accessed March 29, 2022   

Placental abruption. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placental-abruption/symptoms-causes/syc-20376458. Accessed March 29, 2022  

STDs during Pregnancy – CDC Fact Sheet. https://www.cdc.gov/std/pregnancy/stdfact-pregnancy.htm. Accessed March 29, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตกเลือดหลังคลอด เกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นอันตรายหรือไม่

โรคชีแฮน ภาวะตกเลือดมากขณะคลอดหรือหลังคลอด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 30/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา