backup og meta

ไวท์ดอท หรือจุดขาวที่หัวนม เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    ไวท์ดอท หรือจุดขาวที่หัวนม เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่

    ไวท์ดอท (White dot) คือ ตุ่มขาวเล็ก ๆ คล้ายหัวสิวที่เกิดขึ้นบริเวณหัวนม ปกติแล้วจะพบในผู้หญิงให้นมลูก แต่ก็สามารถพบในช่วงเวลาอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ช่วงเป็นประจำเดือน ช่วงวัยหมดประจำเดือน ช่วงที่รับประทานยาคุมกำเนิด โดยทั่วไป ไวท์ดอทเกิดจากตะกอนน้ำนมและคราบไขมันอุดตันบริเวณท่อน้ำนม จนอาจส่งผลให้น้ำนมไหลได้น้อยลง และรู้สึกคัดตึงเต้านม การรักษาอาจทำได้ด้วยการประคบร้อนที่เต้านมและหัวนมแล้วนวดคลึงเพื่อดันสิ่งที่อุดตันอยู่ออก การใช้เข็มสะกิดไวท์ดอทให้หลุดออก เป็นต้น ทั้งนี้ หากดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเต้านมรุนแรง หรือมีอาการไม่สบายอื่น ๆ ร่วมด้วยอเช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดตัว ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

    ไวท์ดอท คือ อะไร

    ไวท์ดอท คือ จุดขาวเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายสิวที่พบบริเวณลานหัวนม บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นตุ่มพอง (Milk blister หรือ Bleb) เกิดจากเนื่อเยื่อ ตะกอนน้ำนม หรือคราบไขมันสะสมอยู่ในท่อน้ำนม ส่งผลให้ท่อน้ำนมอุดตัน (Plugged duct) จนมีน้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านมและไม่ไหลออกมาตามปกติ มีก้อนแข็งเป็นไตที่เต้านม ผู้หญิงบางคนที่มีไวท์ดอทอาจไม่รู้สึกเจ็บเต้านม เพียงแต่จะสังเกตเห็นไวท์ดอทที่ขึ้นบริเวณรอบ ๆ หัวนมเท่านั้น แต่บางคนก็อาจรู้สึกคัดตึงเต้านม เจ็บขณะให้นมลูกหรือปั๊มนม เมื่อบีบหรือปั๊มน้ำนมอาจมีน้ำนมไหลออกมาน้อย ทั้งยังทำให้ทารกดูดนมไม่ออกด้วย หากปล่อยไว้นานเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) เนื่องจากเต้านมติดเชื้อจนมีอาการบวมแดงและอักเสบ อาจทำให้มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเต้านม ปวดเมื่อยตามตัว น้ำนมมีเลือดหรือหนองปน เป็นต้น หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การเจาะหนองออก การให้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาลดการอักเสบ 

    ไวท์ดอท เกิดจาก อะไร

    ไวท์ดอทมักเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนม ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • ทารกดูดนมไม่ถูกวิธี หากจัดท่าให้ทารกดูดนมได้ไม่ถูกต้อง อาจทำให้มีน้ำนมค้างเต้าจนท่อน้ำนมอุดตันได้
    • น้ำนมเข้มข้นเกินไป คุณแม่บางรายอาจรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของมัน ของทอด ขนมหวาน ชาเย็น ส่งผลให้น้ำนมเข้มข้นมากจนท่อน้ำนมอุดตันและมีไวท์ดอท
    • เวลาในการดูดนมแต่ละครั้งสั้นเกินไป อาจเกิดจากการเร่งรีบของคุณแม่ หรือทารกดูดนมได้ไม่ดี จึงดูดนมได้ไม่เกลี้ยงเต้า เมื่อมีน้ำนมค้างเต้าและระบายออกไม่ทันก็อาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตันจนเกิดไวท์ดอทได้
    • แรงกดบริเวณหน้าอก การสวมเสื้อผ้าหรือเสื้อชั้นในที่คับหรือรัดแน่นบริเวณหน้าอกมากเกินไป อาจกดทับหน้าอกและหัวนมจนส่งผลให้ท่อน้ำนมอุดตันได้
    • ขนาดของเต้านม คุณแม่บางคนอาจมีขนาดหน้าอกใหญ่และหย่อนยานจนทำให้ท่อน้ำนมส่วนล่างพับงอและอุดตันได้

    โดยทั่วไป อาการของไวท์ดอทมักเกิดในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมลูก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในช่วงอื่นที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมากได้เช่นกัน เช่น ช่วงเป็นประจำเดือน ช่วงกินยาคุมกำเนิด ช่วงวัยหมดประจำเดือน

    วิธีรักษาไวท์ดอท

    วิธีรักษาไวท์ดอท อาจทำได้ดังนี้

    • ประคบอุ่น ให้นำผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบบริเวณเต้านมที่มีไวท์ดอทวันละหลาย ๆ ครั้ง แล้วนวดวนเบา ๆ เหนือก้อนตุ่มไวท์ดอทแล้วไล่ลงไปถึงหัวนม อาจช่วยดันสิ่งอุดตันให้หลุดออก ลดการอุดตันของท่อน้ำนม และทำให้น้ำนมกลับมาไหลเป็นปกติ
    • ให้นมและปั๊มนม คุณแม่ควรให้ลูกกินนมให้บ่อยขึ้น โดยทั่วไป คือ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ข้างละอย่างน้อย 15-20 นาที ควรให้ทารกดูดน้ำนมจากเต้านมข้างที่มีไวท์ดอทก่อน เพื่อให้ระบายน้ำนมออกมาได้ดีขึ้น หรือหมั่นปั๊มน้ำนมออกมาเก็บไว้ให้บ่อยขึ้น อาจช่วยเปิดรูขุมขนและช่วยลดการอุดตันได้
    • ปรับเปลี่ยนท่าให้นม ไวท์ดอทอาจเกิดจากทารกดูดนมได้ไม่เต็มที่ จึงควรจัดท่าทางที่ช่วยให้ทารกดูดนมได้สะดวกที่สุด โดยอาจเปลี่ยนท่าทางไปเรื่อย ๆ ในแต่ละครั้งที่ให้นม เพื่อให้ระบายน้ำนมออกมาได้มากที่สุด
    • ใช้เข็มสะกิดไวท์ดอทออก การใช้เข็มปลอดเชื้อที่ซื้อจากร้านขายยาที่ได้มาตรฐานสะกิดไวท์ดอทให้หลุดออก อาจช่วยให้น้ำนมกลับมาไหลได้ตามปกติ ทั้งนี้ หากไม่แน่ใจหรือมีอาการปวดเต้านมผิดปกติ ควรไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญและให้คุณหมอดำเนินการให้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเต้านมหรือผิวหนังติดเชื้อหรืออักเสบ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา