ตรวจครรภ์ 1 ขีด ท้องไหม ? เป็นคำถามที่อาจให้คำตอบได้ไม่แน่นอน โดยปกติแล้วผลลัพธ์การตรวจครรภ์ที่ขึ้นขีดเดียว มักมีความหมายว่าไม่ตั้งครรภ์ โดยอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ เวลาที่ทำการตรวจครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการตรวจครรภ์ได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดควรสังเกตตนเองว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน หรือไม่ แล้วตรวจครรภ์ซ้ำอีกครั้ง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์ทดสอบจากคุณหมอ
[embed-health-tool-ovulation]
วิธีตรวจสอบการตั้งครรภ์
สำหรับการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองจากตัวอย่างปัสสาวะ ควรเก็บตัวอย่างปัสสาวะแรกในช่วงเช้า เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์สูง (HCG) ทำให้ผลลัพธ์การตรวจครรภ์อาจแม่นยำมากขึ้น
ชุดตรวจครรภ์ส่วนใหญ่มี 2 รูปแบบ ดังนี้
ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด
ภายในกล่องจะประกอบด้วยตลับทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ
วิธีใช้
- ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะหยดลงบนตลับการทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยดสูงสุดไม่เกิน 6 หยด เพื่อเพิ่มความไวให้ตลับทดสอบอ่านค่าปัสสาวะ
- วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม
ในกล่องอาจมีกระดาษ หรือเป็นเครื่องพลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะ และถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
วิธีใช้
- ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
- ถอดฝาอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ แล้วนำส่วนปลายของอุปกรณ์หรือกระดาษทดสอบจุ่มลงในปัสสาวะไม่เกินขีดที่กำหนด ประมาณ 7-10 วินาที
- ปิดฝาอุปกรณ์หรือวางกระดาษในบนพื้นที่ที่สะอาด และรอ 5 นาที เพื่อรอผลทดสอบ
นอกจากจะทำการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองแล้ว หากกังวลใจหรือกลัวผลทดสอบคลาดเคลื่อน อาจตรวจซ้ำอีกครั้ง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์จากคุณหมอโดยตรง
การตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล มักใช้วิธีดังต่อไปนี้
- ตรวจเลือด คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างเลือด ใส่ในหลอดทดลองแล้วทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อให้เลือดแบ่งชั้นจับตัวเป็นก้อน ก่อนจะดูดซีรั่มส่วนที่เป็นน้ำอยู่ชั้นบนสุดออก หยดลงบนอุปกรณ์ทดสอบเหมือนตลับตรวจปัสสาวะประมาณ 4 หยด และรออ่านผล การทดสอบด้วยเลือดเพื่อหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG) ว่ากำลังตั้งท้องอยู่หรือไม่ รวมถึงวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ตรวจหาภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ท้องนอกมดลูก แท้งบุตร
- ตรวจปัสสาวะ คุณหมออาจใช้วิธีเดียวกันกับการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะก่อนจะนำแท่งทดสอบจุ่มลงไปเพื่ออ่านค่าฮอร์โมนการตั้งครรภ์
ตรวจครรภ์ 1 ขีด ท้องไหม ?
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะมีตัวอักษรที่แสดงถึงผลลัพธ์การตรวจ คือ ตัว C (Control line) และ T (Test line) หลังจากการตรวจครรภ์สามารถอ่านความหมายที่ระบุไว้ในชุดทดสอบได้ดังนี้
- ตั้งครรภ์ หากปรากฏเส้นสีแดงตรงกับตัวอักษร C และ T หรือขึ้น 2 ขีดอย่างชัดเจน อาจหมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากขีดที่ตรงกับตัว T มีเส้นสีเจือจาง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจสอบใหม่โดยใช้ปัสสาวะแรกของเช้าวันต่อไป ควรซื้อชุดทดสอบอย่างน้อย 2-3 ชุดเพื่อนำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบ
- ไม่ตั้งครรภ์ หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีด มีความหมายว่าไม่ตั้งครรภ์ หรือระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีผู้ทำการทดสอบอาจตั้งครรภ์ได้แม้ว่าผลตรวจครรภ์จะขึ้น 1 ขีดก็ตาม เนื่องจากสาเหตุบางอย่างที่อาจทำให้ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อน ได้แก่
- คำนวณวันตรวจครรภ์ผิด โดยปกติควรเริ่มตรวจหลังจากมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 21 วัน
- ชุดทดสอบการตั้งครรภ์หมดอายุ หรือไม่ได้มาตรฐาน
- เก็บชุดทดสอบการตั้งครรภ์ผิดวิธี
- ดื่มน้ำมากเกินไปก่อนการตรวจครรภ์ ทำให้ปัสสาวะเจือจาง
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแก้แพ้ ยากันชัก ยากล่อมประสาท
สัญญาณเตือนการตั้งครรภ์
สัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์ อาจสังเกตจากอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ประจำเดือนขาด หากประจำเดือนขาดนานกว่า 2 เดือน หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย อาจมาจากการฝังตัวของไข่ในมดลูกที่อาจส่งผลให้ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการประจำเดือนขาดอาจไม่ใช่สาเหตุของการตั้งครรภ์เสมอไป ความเครียด การเจ็บป่วย ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ก็อาจทำให้ประจำเดือนขาดเป็นเวลานานได้เช่นกัน
- อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นสูง อาจส่งผลให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงอ่อนไหวง่าย เช่น จากร้องไห้อีกไม่กี่นาทีเปลี่ยนเป็นหัวเราะ ฟังเรื่องเศร้าเพียงเล็กน้อยทำให้น้ำตาซึมหรือร้องไห้
- แพ้ท้อง เป็นอาการที่พบได้บ่อยหลังจากตั้งครรภ์ได้ 1 เดือน จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ส่งผลให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะช่วงที่ท้องว่าง บางคนอาจรู้สึกเหม็นอาหารทั้งที่เคยชอบมาก่อน หรืออยากรับประทานอาหารแปลก ๆ
- เต้านมคัด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่เพิ่มขึ้นช่วงการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมให้ทารก อาจส่งผลให้ คัดเต้า เต้านมตึง เจ็บหัวนมเมื่อถูกเสียดสีหรือสัมผัส
- อ่อนเพลีย การตั้งครรภ์ระยะแรกอาจทำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นสูง ส่งผลให้ง่วงนอน อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย โดยเฉพาะหลังจากทำงาน ออกกำลังกาย
- ท้องผูกผิดปกติ การตั้งครรภ์อาจมีส่วนทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ มดลูกขยายทับลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้อาหารย่อยยาก เสี่ยงท้องผูกบ่อย
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกที่ขยายตัวอาจกดทับกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดการบีบตัว และปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
- ตกขาว อาการตกขาวเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์เพื่อช่วยขจัดแบคทีเรีย สิ่งสกปรกออกจากช่องคลอด แต่หากสังเกตว่าตกขาวมีกลิ่นและคันช่องคลอดร่วมด้วย ควรปรึกษาคุณหมอในทันที เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอดได้