backup og meta

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน จึงจะทราบผล

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน จึงจะทราบผล

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน อาจขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจครรภ์ที่เลือกใช้ เช่น การตรวจครรภ์เองด้วยที่ตรวจครรภ์ การตรวจครรภ์ด้วยการตรวจเลือดโดยคุณหมอ โดยทุกวิธีสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนขาดหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ 14-21 วัน หากทราบผลลัพธ์ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์

[embed-health-tool-ovulation]

สัญญาณการตั้งครรภ์

สัญญาณของการตั้งครรภ์ อาจสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • ประจำเดือนขาด หลังจากไข่กับอสุจิปฏิสนธิกันแล้วกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูก จะทำให้ประจำเดือนขาด อย่างไรก็ตามสัญญาณเตือนนี้อาจทำให้เข้าใจว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ และอาจรับประทานยาบำรุงที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ควรตรวจครรภ์ให้แน่ชัดในรายที่มีความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์ ได้แก่ หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน
  • ปัสสาวะบ่อย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขึ้นหลังการปฏิสนธิสัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 8
  • เต้านมขยาย เป็นอาการคัดเต้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ที่อาจทำให้หน้าอกตึง บวม เจ็บเมื่อถูกสัมผัส หัวนมมีสีคล้ำขึ้น ซึ่งอาจใช้ระยะเวลานานหลายสัปดาห์จนกว่าอาการคัดเต้าจะหาย เพื่อบรรเทาอาการเจ็บเต้านมควรสวมเสื้อชั้นในที่ให้ความสบาย ไม่รัดแน่น
  • แพ้ท้อง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหม็นอาหาร อยากรับประทานอาหารแปลก ๆ แต่อาการเหล่านี้อาจบรรเทาลงไปเองได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14 ของการตั้งครรภ์
  • เหนื่อยล้า อาการเหนื่อยล้าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์อาจอ่อนเพลียง่าย การรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก พร้อมกับพักผ่อนให้เพียงพอ อาจช่วยฟื้นฟูร่างกายได้
  • ท้องผูก เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ที่เกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นสูง จนทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ช้าลง นำไปสู่อาการท้องผูก เพื่อให้ย่อยง่ายขึ้น ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ และเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน จึงจะทราบผล

ผลลัพธ์การตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน ขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจครรภ์ที่เลือกใช้ ดังนี้

  • การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

สามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่วันที่ทราบว่ามีประจำเดือนขาด หรือถ้าจะให้ผลแน่นอนคือหลังจากประจำเดือนขาดไปแล้ว 1 สัปดาห์ เพราะบางครั้งการตั้งครรภ์ในช่วงแรก ฮอร์โมนอาจจะยังมีขนาดต่ำมากทำให้ปริมาณฮอร์โมนที่ผ่านปัสสาวะไปไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถตรวจพบจากการตรวจปัสสาวะด้วยตนเอง

วิธีนี้เป็นการตรวจที่ทำให้ทราบผลลัพธ์ได้เร็วภายใน 5-10 นาที โดยเริ่มจากเก็บตัวอย่างปัสสาวะในช่วงเช้าหรือปัสสาวะแรกของวันเนื่องจากมีระดับความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG) สูง ก่อนจะนำกระดาษทดสอบจุ่มลงไปไม่เกินขีดที่กำหนดประมาณ 5-10 วินาที หากใช้ชุดทดสอบแบบปัสสาวะผ่าน ให้ปัสสาวะผ่านที่ดูดซับน้ำปัสสาวะให้ชุ่มแต่อย่าให้เกินขีดที่กำหนด หรือหากเป็นชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบหยดอาจนำหลอดดูดปัสสาวะ แล้วหยดลงบนตลับพลาสติกที่มีตัวอักษร S ระบุไว้ 3-6 หยด จากนั้นวางชุดทดสอบในพื้นที่แห้งและสะอาดทิ้งไว้ 5 นาที

เมื่อครบเวลากำหนดผลลัพธ์จะปรากฏเป็นขีดสีแดงเข้มชัดตรงกับตัวอักษร C หรือ T หากขึ้น 1 ขีดตรงกับตัว C มีความหมายว่า ไม่ตั้งครรภ์ แต่หากขึ้น 2 ขีด ตรงกับตัว C และ T มีความหมายว่า ตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีขีดขึ้นที่ตัวอักษร C เลย หมายความว่า ชุดตรวจการตั้งครรภ์อันนั้นไม่มีมาตรฐานหรือหมดอายุไม่สามารถแปลผลได้

  • การตรวจครรภ์โดยแพทย์

เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดไปทดสอบหาฮอร์โมนการตั้งครรภ์ วิธีนี้มีความแม่นยำถึง 99% แต่ต้องรอผลประมาณ 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นการตรวจแบบละเอียดและให้ผลที่แม่นยำชัดเจนกว่าการตรวจจากปัสสาวะ ในบางครั้งมีการตรวจฮอร์โมนนี้ร่วมกันในการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ท้องนอกมดลูก แท้งบุตรร่วมด้วย

การดูแลตัวเอง เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์

เมื่อทราบผลว่าตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ฝากครรภ์ เป็นขั้นตอนการดูแลสุขภาพในช่วงตั้งครรภ์ที่สำคัญ คุณหมอจะตรวจร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างละเอียด เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ สุขภาพคุณแม่ และอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ได้ คุณแม่ควรเข้ารับการตรวจครรภ์ทุก 4 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 36 และลดลงเหลืออาทิตย์ละ 1 ครั้งจนกว่าจะคลอด
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ คุณแม่ควรเน้นรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืช นมไขมันต่ำ ไข่ เต้าหู้ ปลาแซลมอน เนื้อแดง อัลมอนด์ เพื่อให้ได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม/วัน ธาตุเหล็ก 30 มิลลิกรัม/วัน และโฟเลตประมาณ 400 ไมโครกรัม/วัน เพื่อเสริมสร้างมวลกระดูก ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่นำส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย และป้องกันความบกพร่องทางระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก นมไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เนื้อสัตว์แปรรูป เพราะอาจมีสารปรอทเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น โยคะ พิลาทิส ว่ายน้ำ แอโรบิก เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ อาจช่วยป้องกันน้ำหนักเกิน ปรับปรุงการนอนหลับ ลดปัญหาปวดหลัง ท้องผูก เพิ่มพลังงาน เสริมสร้างความแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจจมีข้อห้ามในการออกกำลังกายบางอย่าง เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ตั้งครรภ์อาจขอคำปรึกษาจากคุณหมออีกครั้งในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย อาจช่วยลดปัญหาอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ และภาวะขาดน้ำได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับให้เพียงพอ โดยท่านอนที่เหมาะสม อาจเป็นการนอนตะแคงซ้ายหรือขวาตามแต่ถนัด แต่โดยส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้นอนตะแคงซ้าย เพราะจะช่วยให้น้ำหนักของทารกในครรภ์ไม่ทับหลอดเลือดใหญ่ที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ แขนขา ป้องกันอาการบวม เส้นเลือดขอด หากคุณแม่ถนัดนอนหงายอาจจำเป็นต้องนำหมอนมารองหลัง ใต้ท้อง และขา เพื่อลดแรงกดทับหลัง อย่างไรก็ตาม หากอายุครรภ์มากขึ้น อาจไม่ควรนอนหงาย เพราะอาจหายใจลำบากขึ้น หรือเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน แอลกอฮอล์และคาเฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีแนวโน้มพิการแต่กำเนิด ระบบประสาทบกพร่อง คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาจค่อย ๆ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ จนกว่าจะเลิกได้ คาเฟอีนยังเป็นส่วนผสมที่อยู่ในน้ำอัดลม ช็อกโกแลต จึงควรจำกัดปริมาณในการรับประทานอาหารเหล่านี้ด้ว
  • ไม่สูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Early Pregnancy Symptoms. https://www.webmd.com/baby/guide/pregnancy-am-i-pregnant#1  . Accessed July 15, 2022.

Doing a pregnancy test. https://www.nhs.uk/pregnancy/trying-for-a-baby/doing-a-pregnancy-test/. Accessed July 15, 2022.

Pregnancy Test. https://medlineplus.gov/lab-tests/pregnancy-test/ . Accessed July 15, 2022.

Pregnancy Tests. https://www.webmd.com/baby/guide/pregnancy-tests#1 . Accessed July 15, 2022.

Pregnancy Tests. https://www.brooksidepress.org/Products/Military_OBGYN/Textbook/Pregnancy/pregnancy_tests.htm . Accessed July 15, 2022.

Staying Healthy During Pregnancy. https://kidshealth.org/en/parents/preg-health.html . Accessed July 15, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/04/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการแพ้ท้อง ที่เกิดจากสาเหตุอื่นไม่ใช่เพราะการตั้งครรภ์

ผล ตรวจครรภ์ 2 ขีด บ่งบอกว่าท้องหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา