backup og meta

อสุจิน้อย ควรดูแลสุขภาพอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    อสุจิน้อย ควรดูแลสุขภาพอย่างไรเพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตร

    อสุจิน้อย หมายถึง การที่มีจำนวนตัวอสุจิในน้ำเชื้อเมื่อหลั่งออกมาระหว่างการมีเพศสัมพันธ์หรือเมื่อถึงจุดสุดยอดในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่ตัวอสุจิจะไปปฏิสนธิกับไข่ในร่างกายของเพศหญิงจนนำไปสู่การตั้งครรภ์นั้นต่ำกว่าปกติ ผู้ที่ต้องการมีบุตรหากไม่มั่นใจว่าตนเองมีปัญหาอสุจิน้อยหรือไม่ ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอและขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อเพิ่มโอกาสมีบุตร  

    อสุจิน้อย เกิดจากอะไร

    ปัญหาน้ำอสุจิน้อย อสุจิไม่แข็งแรง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • การใช้ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic Steroids)
    • การดื่มแอลกอฮอล์
    • การสูบบุหรี่
    • โรคอ้วน
    • การสัมผัสกับสารเคมีติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาฆ่าแมลง สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม
    • การปนเปื้อนของสารโลหะหนัก ไม่เพียงแต่ทำให้อสุจิลดลง แต่ยังทำให้ อสุจิไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก
    • การได้รับรังสีในปริมาณสูง
    • อัณฑะมีอุณหภูมิสูง เช่น การเข้าสปา ซาวน่า การแช่บ่อน้ำร้อน มีผลให้อสุจิลดลงชั่วคราว
    • ภาวะหลอดเลือดดำอัณฑะขอด
    • การติดเชื้อ เช่น หนองใน เอชไอวี หลอดน้ำอสุจิอักเสบ อัณฑะอักเสบ
    • การบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่ท่อปัสสาวะ อัณฑะ ต่อมลูกหมาก
    • ฮอร์โมนไม่สมดุล
    • โครโมโซมบกพร่อง

    อาจมีสาเหตุอื่นที่นอกเหนือจากข้างต้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ควรเข้ารับการตรวจจำนวนอสุจิและขอรับคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ 

    เมื่อมี อสุจิน้อย ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

    เมื่อมีภาวะของอสุจิน้อย อสุจิไม่แข็งแรง ควรมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใชีชีวิตประจำวันดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้อสุจิแข็งแรง และเพิ่มโอกาสการมีบุตร

    ควบคุมน้ำหนัก

    การมีน้ำหนักตัวมาก โรคอ้วน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ปริมาณอสุจิลดลง อสุจิไม่แข็งแรง จนเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สมดุลตามมาตรฐานของค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณของอสุจิ และช่วยให้ตัวอสุจิเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น สามารถเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    การรับประทานอาหารส่งผลโดยตรงต่อร่างกายของเรา สำหรับผู้ที่มีภาวะอสุจิไม่แข็งแรง จนเสี่ยงที่จะมีลูกยาก การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น และควรเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระมีส่วนช่วยให้อสุจิแข็งแรง

    ระมัดระวังสารพิษ

    ผู้ที่ต้องทำงานในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในระยะยาวถือว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพหลายประการ หนึ่งในนั้นคือปัญหา อสุจิไม่แข็งแรง ดังนั้น ผู้ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษ ควรสวมชุดสำหรับป้องกันร่างกายและระบบทางเดินหายใจ

    ลดความเครียด

    ความเครียดไม่เพียงส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศ จนทำให้ความถี่ในการมีเซ็กซ์ลดลง แต่ยังมีผลทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลงด้วย หากเริ่มรู้สึกตัวว่ามีความเครียดสะสม ควรหาเวลาในการผ่อนคลายตนเอง เพื่อไม่ให้ความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพทางเพศ

    มีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจส่งผลต่อจำนวนอสุจิที่ลดลง หรือทำให้ อสุจิไม่แข็งแรง ดังนั้น หากยังอยู่ในความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของโรค และลดความเสี่ยงของภาวะการมีบุตรยากเนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

    ใส่ใจกับอุณหภูมิ

    อัณฑะและอวัยวะเพศชายมักมีการหมักหมม อับชื้น อากาศไม่ถ่ายเทจากการสวมเสื้อผ้า ซึ่งอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นมีผลต่อปริมาณอสุจิที่ลดลง ดังนั้น หากวางแผนที่จะมีลูก ควรงดเว้นการเข้าซาวน่า สปา การแช่บ่อน้ำร้อน หรือการสวมกางเกงที่รัดแน่นจนไม่มีอากาศถ่ายเท เพื่อให้บริเวณอัณฑะและอวัยวะเพศมีอุณหภูมิที่เย็นซึ่งดีต่อการผลิตอสุจิ

    ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายสมดุลมากขึ้น และช่วยเพิ่มระดับของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยปกป้องอสุจิ ลดความเสี่ยงของการมีอสุจิน้อย หรืออสุจิไม่แข็งแรง 

    อสุจิไม่แข็งแรง ควรไปตรวจสุขภาพ

    หากวางแผนที่จะมีลูก คู่รักควรเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินความแข็งแรงของสุขภาพและหาสาเหตุที่ทำให้อยู่ในภาวะมีบุตรยาก ซึ่งคุณหมอจะสามารถให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและวางแผนเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา