backup og meta

ฝาก ไข่ ทางเลือกของคนอยากมีลูกในอนาคต

ฝาก ไข่ ทางเลือกของคนอยากมีลูกในอนาคต

ฝาก ไข่ เป็นวิธีการเก็บรักษาเซลล์ไข่ของผู้หญิงที่ต้องการมีบุตร ด้วยการแช่แข็งไข่ในสารไนโตรเจนเหลว วิธีนี้เป็นกระบวนการซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ผู้สนใจควรศึกษาขั้นตอนในการฝากไข่และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด และควรปรึกษาคุณหมอให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนตัดสินใจฝากไข่

[embed-health-tool-ovulation]

การฝากไข่ คืออะไร

การฝากไข่ คือ วิธีเก็บรักษาไข่ของผู้หญิงเอาไว้เพื่อให้ไข่ยังคงสมบูรณ์และสามารถผสมกับอสุจิจนเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ในอนาคต วิธีนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี หากฝากไข่ตอนอายุเกิน 40 ปี อาจได้ปริมาณไข่น้อยกว่าและไข่มีคุณภาพด้อยกว่าผู้ที่ฝากไข่ตอนอายุยังน้อย

จำนวนของไข่ที่สามารถดึงออกมาจากรังไข่ได้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากไข่ที่ดึงออกมาได้อาจไม่สามารถใช้งานได้ทั้งหมด ไข่บางส่วนอาจนำไปแช่แข็งไม่สำเร็จ บางส่วนอาจแช่แข็งสำเร็จแต่ใช้ไม่ได้เมื่อนำไปละลาย หรือบางส่วนอาจไม่สามารถปฏิสนธิแล้วพัฒนาไปเป็นเอ็มบริโอหรือตัวอ่อน (Embryos) ได้ ยิ่งฝากไข่ตอนอายุน้อยเท่าไหร่ ก็มักจะได้จำนวนไข่มากขึ้นเท่านั้น เช่น ผู้หญิงวัย 20-30 ปี อาจสามารถเก็บไข่ได้ครั้งละประมาณ 15-25 ฟอง ในขณะที่ผู้หญิงวัย 40 ปี อาจมีไข่ให้เก็บได้ครั้งละเพียง 8-10 ฟองเท่านั้น

การฝากไข่สามารถใช้ได้กับทั้งผู้ที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ในช่วงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคบางชนิดที่อาจกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธ์ุ มดลูก หรือไข่ของผู้หญิง เช่น โรคมะเร็งที่ต้องฉายรังสีและทำคีโม การฝากไข่เป็นการเก็บไข่ที่ยังไม่ได้ผสมออกมาแช่แข็งไว้ใช้ภายหลัง เมื่อถึงเวลาที่พร้อมสำหรับการมีลูก คุณหมอจะนำเซลล์ไข่ที่แช่แข็งมาละลายรวมกับอสุจิในห้องแล็บ เป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย สามารถเลือกทำได้ 2 แบบ คือ การทำเด็กหลอดแก้ว (In-Vitro Fertilization หรือ IVF) และการทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection หรือ ICSI) หรือการฉีดตัวอสุจิเข้าไปที่เซลล์ไข่โดยตรง หลังจากนั้นคุณหมอจะนำตัวอ่อนใส่กลับเข้าไปในมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่โพรงมดลูก และสามารถเจริญเติบโตและฝังตัวในมดลูกต่อไปจนครบอายุครรภ์ โดยโอกาสที่จะมีลูกจากการฝากไข่คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 10 ปี

ขั้นตอนการฝากไข่

ขั้นตอนการฝากไข่จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ โดยขั้นตอนทั้งหมดอาจมีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 คุณหมอจะอธิบายขั้นตอนการฝากไข่ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และอัตราการฝากไข่สำเร็จ โอกาสในการฝากไข่สำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ปริมาณของไข่ คุณภาพของไข่ สภาพร่างกายของผู้ฝากไข่ และอายุของผู้ฝากไข่ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาความสำเร็จของการฝากไข่ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 37 ปีจำนวน 19 คน พบว่า โอกาสที่จะแช่แข็งไข่ได้สำเร็จอยู่ที่ 89 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสที่ไข่จะปฏิสนธิได้สำเร็จประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์

ขั้นตอนที่ 2 เข้ารับการตรวจคัดกรองโรค เพื่อให้แน่ใจว่าไข่ที่ฝากเป็นไข่ที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่ส่งต่อโรคติดต่อเมื่อนำไปปฏิสนธิในภายหลัง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี

ขั้นตอนที่ 3 คุณหมอจะฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ เช่น ฟอลลิโทรปินอัลฟ่าหรือเบต้า (Follitropin Alfa/Beta) หรือ เมโนโทรปิน (Menotropins) ซึ่งเป็นยากระตุ้นการตกไข่และทำให้ตกไข่ได้ครั้งละหลายใบ เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่หลายใบในคราวเดียวกันแทนที่ผลิตไข่แค่ 1 ฟองตามปกติ อีกทั้งคุณหมอจะเจาะเลือดไปตรวจวัดระดับฮอร์โมนแอนตีมูลเลอเรียน (Anti-Mullerian Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ สามารถบอกจำนวนไข่ได้

ขั้นตอนที่ 4 คุณหมอจะอัลตราซาวด์เพื่อหาตำแหน่งของไข่ในรังไข่ ก่อนจะวางยาสลบและใช้เข็มขนาดเล็กดูดไข่ออกมาทางช่องคลอด หากไม่สามารถหาตำแหน่งไข่ตกได้จากการอัลตราซาวด์ อาจต้องนำไข่ออกมาโดยการผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณหน้าท้อง

ขั้นตอนที่ 5 คุณหมอจะนำเซลล์ไข่ไปแช่แข็งโดยเร็วที่สุด โดยจะเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อคงสภาพเซลล์ไข่ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ไข่ทั้งหมดที่เก็บได้อาจจะนำไปละลายไม่สำเร็จเสมอไป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเก็บไข่ที่สมบูรณ์ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้มีเซลล์ไข่ที่สามารถใช้ได้มากพอที่จะนำไปแช่แข็งได้ โดยไข่ที่แช่แข็งสำเร็จจะเก็บไว้ในห้องแล็บของคลินิกหรือโรงพยาบาลที่เข้ารับการฝากไข่

การฝากไข่เหมาะกับใคร

การ ฝาก ไข่ อาจเหมาะกับผู้หญิงในกลุ่มต่อไปนี้

  • ผู้ที่ต้องการเก็บไข่ไว้เพื่อใช้ในอนาคต อาจเหมาะกับผู้หญิงอายุไม่เกิน 40 ปีที่ยังไม่พร้อมตั้งครรภ์ในทันที แต่ต้องการใช้ไข่ของตัวเองมาผสมกับอสุจิด้วยวิธีการต่าง ๆ ในภายหลัง เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี่
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ผู้ที่มีภาวะเจริญพันธุ์ผิดปกติ ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร โรคมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้การรักษาโดยการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ได้

ความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ฝากไข่

การฝากไข่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ ดังต่อไปนี้

  • การใช้ฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการผลิตไข่อาจทำให้รังไข่บวมหรือปวดได้ และอาจเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome หรือ OHSS) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อาเจียน หรือท้องเสีย
  • อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการดูดไข่ เช่น ตอนใช้เข็มดูดไข่ออกมา เข็มอาจไปโดนหลอดเลือด ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงจนส่งผลให้อักเสบ เป็นแผล และติดเชื้อได้
  • อาจกระทบอารมณ์และสุขภาพจิต เนื่องจากกระบวนการฝากไข่มีความซับซ้อน และการใช้ยาฮอร์โมนฉีดเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เครียดและอารมณ์แปรปรวนได้

หากเกิดปัญหาสุขภาพจากการฝากไข่จนผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการแย่ลง ควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็ว คุณหมอจะได้รักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Fertility Preservation Program. https://www.mayoclinic.org/departments-centers/childrens-center/overview/specialty-groups/fertility-preservation. Accessed April 4, 2023.

Mature oocyte cryopreservation: a guideline. https://www.fertstert.org/article/S0015-0282(12)02247-9/fulltext. Accessed April 4, 2023.

Egg Freezing for a Future Pregnancy: What to Know. https://www.webmd.com/baby/news/20141028/egg-freezing-faq. Accessed April 4, 2023.

Egg freezing. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/Egg-freezing. Accessed April 4, 2023.

Freezing Your Eggs: The Pros + Cons. https://health.clevelandclinic.org/freezing-your-eggs-the-pros-cons/. Accessed April 4, 2023.

Egg freezing. https://bwc.nhs.uk/egg-freezing. Accessed April 4, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่ทำให้การทำเด็กหลอดแก้วล้มเหลว

การทำเด็กหลอดแก้ว การเตรียมตัว และความเสี่ยง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา