backup og meta

มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี วิธีเตรียมตัวและดูแลตัวเอง

มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี วิธีเตรียมตัวและดูแลตัวเอง

สำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี อายุของตัวเองน้อยไป หรือมากเกินไปสำหรับการมีลูกหรือไม่ และควรเตรียมตัวอย่างไร โดยปกติแล้ว อายุที่เหมาะสมที่จะมีลูกมักอยู่ในช่วง 20-30 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายอยู่ในช่วงเจริญพันธุ์มากที่สุด และมีลูกง่ายที่สุด การศึกษาข้อมูลเรื่องช่วงวัยที่เหมาะสมและวิธีการดูแลตัวเอง จะช่วยให้วางแผนมีลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี และอายุมีผลต่อการมีลูกอย่างไรบ้าง

วัยที่เหมาะสมของผู้หญิงที่ต้องการมีลูก คือ อายุประมาณ 20-30 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และสามารถมีลูกได้ง่ายที่สุด มีโอกาสถึง 1 ใน 3 ที่ผู้หญิงจะตั้งครรภ์ได้ในหนึ่งรอบประจำเดือน หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงประมาณ 30 คนจาก 100 คน สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จใน 1 เดือน และมีโอกาสแท้งลูกน้อยกว่า 15% ภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจะเริ่มถดถอยลงเมื่อมีอายุได้ 35 ปี และจะลดลงเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอจนถึงวัยหมดประจำเดือน ในขณะที่โอกาสในการแท้งลูกจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ เช่น เมื่อตั้งครรภ์ในวัย 40 ปี ความเสี่ยงในการแท้งลูกอาจสูงถึง 40% และส่วนใหญ่ เมื่อถึงอายุ 45 ปี โอกาสในการตั้งครรภ์อาจแทบไม่มีเลย

ความเสี่ยงเมื่อตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี

หากตั้งครรภ์ตอนอายุมากขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • อาจจะต้องผ่าตัดคลอด
  • ปัญหาระหว่างคลอด เช่น เลือดออกมากผิดปกติ
  • การคลอดล่าช้าและยาวนาน (อาจนานถึง 20 ชั่วโมง)
  • เด็กมีโอกาสเกิดโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  • การแท้งลูก

การเตรียมตัวสำหรับการตั้งครรภ์

ปรึกษาคุณหมอ เมื่อแน่ใจว่าต้องการมีลูกแล้ว ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • พูดคุยเรื่องประวัติสุขภาพปัจจุบัน และประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว หากพบว่ามีประวัติโรคทางพันธุกรรมที่อาจถ่ายทอดถึงลูกได้ เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคลูคิเมีย โรคธาลัสซีเมีย อาจต้องรับคำปรึกษาเพิ่มเติม
  • พูดคุยเรื่องการใช้ยาปัจจุบันว่าจะกระทบต่อทารกในอนาคตหรือไม่ และรับคำแนะนำเรื่องการเปลี่ยนยาหากจำเป็น เช่น ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ที่ใช้รักษาสิว ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟนที่ไม่ควรใช้ระหว่างตั้งครรภ์
  • ตรวจสอบภาวะสุขภาพว่าได้รับการรักษาอยู่หรือไม่ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต
  • ตรวจเลือดและฉีดวัคซีนที่จำเป็นก่อนตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูมและหัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
  • หากมีน้ำหนักเกิน คุณหมออาจะแนะนำให้ลดน้ำหนักก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะแท้งลูก ภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป แนะนำให้ออกกำลังเบา ๆ ทั่วไป เช่น การเดินอย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์

ลดหรือเพิ่มน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและสมส่วน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การแท้งลูก ภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกพิการแต่กำเนิด

กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นการกินผัก ผลไม้ โฮลเกรน โปรตีน และผลิตภัณฑ์จากนม ในปริมาณที่เหมาะสม จำกัดน้ำตาลและไขมัน และควรกินอาหารบำรุงทั้งช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ โดยเน้นเสริมธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินดี นอกจากนี้ ควรเพิ่มกรดวิตามินบี 9 (โฟลิคหรือโฟเลต) ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งลูกได้ ปริมาณโฟเลตที่แนะนำอยู่ที่ 400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยร่างกายควรได้รับโฟเลตอย่างเพียงพออย่างน้อย 1-3 เดือนก่อนตั้งครรภ์

มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ การมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ หรือทุก 1-2 วัน อาจช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้ หากไม่สะดวก อาจมีเพศสัมพันธ์วันเว้นวันในช่วงไข่ตก เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่อสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้ 48-72 ชั่วโมง และเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วอาจนอนอยู่ท่าเดิมประมาณ 10-15 นาที เพื่อรอให้อสุจิผ่านเข้าไปในปากมดลูกได้

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงระหว่างตั้งครรภ์

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ อาจมีดังนี้

การสูบบุหรี่ สารนิโคตินที่พบในบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อจำนวนการตกไข่ของผู้หญิง และจำนวนอสุจิของผู้ชาย และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือทำให้การฟื้นตัวหลังคลอดของคุณแม่ยากขึ้น

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ เช่น ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ความบกพร่องทางพฤติกรรม โรคบกพร่องทางการเรียนรู้

การดื่มในกาแฟที่มีคาเฟอีน ควรงดการบริโภคกาแฟในช่วงที่พยายามตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากคาเฟอีนในกาแฟอาจทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้น ทำให้หลอดเลือดในมดลูกและรกหดตัว ขยับยั้งการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และทำให้เสี่ยงแท้งมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม หรืออาจทำให้ทารกมีโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น มีภาวะน้ำหนักเกินหลังคลอด และภายหลังอาจจะทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

7 Tips for Getting Pregnant Faster. https://www.webmd.com/baby/features/7-tips-getting-pregnant-faster. Accessed February 22, 2022

What are some factors that make a pregnancy high risk?. https://www.nichd.nih.gov/health/topics/high-risk/conditioninfo/factors. Accessed February 22, 2022

Steps to take before you get pregnant. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000513.htm. Accessed February 22, 2022

Planning for Pregnancy. https://www.cdc.gov/preconception/planning.html. Accessed February 22, 2022

5 ways to prepare before starting a family. https://www.mayoclinichealthsystem.org/hometown-health/speaking-of-health/5-ways-to-prepare-before-starting-a-family. Accessed February 22, 2022

Getting Pregnant After 35: What Are My Chances?.https://www.webmd.com/baby/pregnant-after-35.  Accessed February 22, 2022

Moderate daily caffeine intake during pregnancy may lead to smaller birth size.https://www.nih.gov/news-events/news-releases/moderate-daily-caffeine-intake-during-pregnancy-may-lead-smaller-birth-size.  Accessed February 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/06/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การตรวจครรภ์ มีวิธีตรวจอย่างไร หากตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองอย่างไร

อยากมีลูกต้องทำไง และปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีบุตรยาก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา