backup og meta

การตรวจครรภ์ มีวิธีตรวจอย่างไร หากตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/08/2023

    การตรวจครรภ์ มีวิธีตรวจอย่างไร หากตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    การตรวจครรภ์ เป็นการทดสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ด้วยการตรวจหาฮอร์โมนตั้งครรภ์ในเลือดหรือปัสสาวะ สำหรับการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองอาจทำได้ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งมีความแม่นยำถึง 97-99 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้อย่างถูกวิธี หรืออาจเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอด้วยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ เพื่อยืนยันผลตรวจการตั้งครรภ์ที่แม่นยำ

    การตรวจครรภ์ คืออะไร

    การตรวจครรภ์ เป็นการทดสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ โดยการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนตั้งครรภ์ ในเลือดหรือปัสสาวะ ฮอร์โมนนี้ถูกผลิตออกมาจากรก หลังจากอสุจิปฏิสนธิกับไข่และเป็นตัวอ่อนได้ประมาณ 6 วัน และระดับฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในทุก ๆ 2-3 วัน โดยสามารถตรวจการตั้งครรภ์เองด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งมีความแม่นยำถึง 97-99 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้อย่างถูกวิธี หรืออาจเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอก็ได้

    สำหรับช่วงเวลาที่ในการตรวจครรภ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ คือ หลังจากประจำเดือนขาดประมาณ 7 วัน โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้าผิดปกติ หน้าอกบวมหรือขยายใหญ่ขึ้น อารมณ์แปรปรวน อาจต้องทำการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอ เพราะอาจเป็นอาการของการตั้งครรภ์ระยะแรก ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์

    วิธีการตรวจครรภ์

    การตรวจครรภ์อาจทำได้ด้วยการใช้ชุดทดสอการตั้งครรภ์ รวมทั้งยังมีวิธีการตรวจครรภ์อื่น ๆ ดังนี้

    การตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์

    การตรวจครรภ์ด้วยตัวเองนั้นแบ่งออกเป็นหลายชนิด ดังนี้

  • การทดสอบแบบจุ่ม ทำได้ด้วยการเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ด้านที่มีลูกศรชี้ลงจุ่มลงในปัสสาวะประมาณ 3 วินาที ระวังอย่าให้ปัสสาวะเลยขีดที่กำหนด รออ่านผลประมาณ 5 นาที
  • การทดสอบแบบหยดหรือแบบตลับ ทำได้ด้วยการเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง นำหลอดหยดดูดปัสสาวะ แล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ รออ่านผลประมาณ 5 นาที
  • การทดสอบแบบปัสสาวะผ่าน ทำได้ด้วยการถอดฝาครอบแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ออก ถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะให้น้ำปัสสาวะไหลผ่านปลายแท่ง หรือจุดที่ต่ำกว่าลูกศรประมาณ 5 วินาที รออ่านผลประมาณ 5 นาที
  • สำหรับวิธีการตรวจครรภ์ด้วยวิธีอื่น ๆ อาจมีดังนี้

    • การเจาะเลือด เป็นการตรวจหาฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ในเลือด ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ได้แม่นยำกว่าการตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ โดยสามารถเข้ารับการตรวจหลังการปฏิสนธิไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ หากฮอร์โมน hCG มีค่าเกิน 25 U/ml แปลว่า ตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากมีระดับฮอร์โมน hCG ต่ำ และเมื่อตรวจซ้ำในระยะเวลา 48 ชั่วโมงแล้วขึ้นไม่ถึงเกณฑ์ค่าปกติ อาจหมายถึง การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการตั้งครรภ์ผิดปกติในโพรงมดลูกได้
    • การตรวจปัสสาวะ จะมีวิธีคล้ายกับการตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ แต่มีความละเอียดกว่า เพราะนอกจากจะทดสอบได้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ คุณหมอยังสามารถตรวจระดับโปรตีน กลูโคส และสัญญาณของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ด้วย
    • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยใช้การส่งคลื่นเสียงความถี่สูง โดยเครื่องการตรวจอัลตราซาวด์มีตั้งแต่ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ ซึ่งให้ความละเอียดของภาพแตกต่างกัน การตรวจนี้อาจช่วยให้คุณหมอเห็นความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ได้ด้วย

    เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    หากผลของการตรวจครรภ์ออกมาว่า ตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ด้วยวิธีเหล่านี้

    ฝากครรภ์

    เป็นขั้นตอนการดูแลสุขภาพในช่วงตั้งครรภ์ที่สำคัญ คุณหมอจะตรวจร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างละเอียด เพื่อดูสุขภาพคุณแม่ พัฒนาการของทารกในครรภ์ ซึ่งช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ได้ โดยคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจครรภ์ทุก ๆ 4 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 2 สัปดาห์ จนถึงสัปดาห์ที่ 36 และลดลงเหลืออาทิตย์ละ 1 ครั้งจนกว่าจะคลอด แต่หากในกรณีที่คุณแม่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะแทรกซ้อนใดๆเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะเบาหวานจากการตั้งครรภ์  อาจจะมีการนัดติดตามอาการที่ถี่มากขึ้นได้ 

    รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์

    โดยคุณแม่ควรเน้นรับประทานผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืช อัลมอนด์ นมไขมันต่ำ ไข่ เต้าหู้ ปลาแซลมอน เนื้อแดง เนื้อสัตว์ไม่ติดหนังและมัน เพื่อให้ได้รับแคลเซียม ธาตุเหล็ก และโฟเลต ซึ่งมีความสำคัญในการเสริมสร้างมวลกระดูก ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่นำส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย และป้องกันความบกพร่องทางระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกที่กำลังพัฒนา

    นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก นมไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เนื้อสัตว์แปรรูป เพราะอาจมีสารปรอทที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตร

    ดื่มน้ำให้มาก ๆ

    การดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย อาจช่วยลดปัญหาอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ และภาวะขาดน้ำได้

    พักผ่อนให้เพียงพอ

    คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับให้เพียงพอ โดยท่านอนที่เหมาะสม อาจเป็นการนอนตะแคงซ้ายหรือขวาตามแต่ถนัด แต่โดยส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้นอนตะแคงซ้าย เพราะจะช่วยให้มดลูกที่ขยายขนาดขึ้นในครรภ์ไม่ทับหลอดเลือดดำใหญ่ที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ แขนขา ป้องกันอาการบวม เส้นเลือดขอด หากคุณแม่ถนัดนอนหงายอาจจำเป็นต้องนำหมอนมารองหลัง ใต้ท้อง และขา เพื่อลดแรงกดทับหลัง

    อย่างไรก็ตาม หากอายุครรภ์มากขึ้นไม่ควรนอนหงาย เพราะอาจหายใจลำบากขึ้น หรือเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

    ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น โยคะ ว่ายน้ำ แอโรบิก เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ อาจช่วยป้องกันน้ำหนักเกิน ปรับปรุงการนอนหลับ ลดปัญหาปวดหลัง ท้องผูก เพิ่มพลังงาน เสริมสร้างความแข็งแรง

    อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์บางรายอาจจมีข้อห้ามในการออกกำลังกายบางอย่าง เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ตั้งครรภ์อาจขอคำปรึกษาจากคุณหมออีกครั้งในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์

    ไม่สูบบุหรี่

    เนื่องจากสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน

    หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน

    การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีนที่มากเกินไป อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีแนวโน้มพิการแต่กำเนิด ระบบประสาทบกพร่อง คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาจค่อย ๆ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 29/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา