backup og meta

เมื่อถูกยิง ควรทำอย่างไร วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกยิง ที่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/06/2020

    เมื่อถูกยิง ควรทำอย่างไร วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูกยิง ที่ควรรู้

    จากข่าวกราดยิงในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้เราหลายคนรู้สึกสะเทือนใจ หวาดกลัว และตระหนักว่าภัยอันตรายจากอาวุธปืนนั้น เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น บาดแผลจากการถูกยิงนั้นเป็นอันตราย และทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง แต่หากเราเรียนรู้ วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกยิง อาจทำให้เราสามารถช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ประสบเหตุให้มากขึ้น

    บาดแผลจากกระสุนปืน มีลักษณะอย่างไร

    ก่อนที่เราจะทำการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกยิงได้นั้น ก่อนอื่นเราควรทำการประเมินสถานการณ์โดยรอบ สภาพบาดแผล และบริเวณที่ถูกยิงเสียก่อน

    ลักษณะของบาดแผลจากกระสุนปืนนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับถูกของแข็ง ไม่มีคมแทงเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากลักษณะของหัวกระสุนส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลมมน ไม่มีคม กระสุนนั้นจะทะลุทะลวงเข้าสู่ร่างกายด้วยความแรงที่ดินปืนผลักดันหัวกระสุนออกมา ดังนั้นบาดแผลจากกระสุนปืนส่วนใหญ่จึงมักจะมีรอยถลอกอยู่รอบๆ รอบแผล และอาจจะมีรอยไหม้จากดินปืนด้วย หากถูกยิงในระยะใกล้

    บาดแผลจากกระสุนปืน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

    บาดแผลทางเข้ากระสุนปืน

    บาดแผลทางเข้ากระสุนปืน หมายถึงบาดแผลในส่วนทางด้านที่กระสุนปืน ทะลุทะลวงเข้าสู่ร่างกาย เมื่อกระสุนดันเข้าสู่ร่างกาย หัวกระสุนจะเจาะผิวหนัง ทำให้ผิวเป็นรู และอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

    • รูแผลจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดความใหญ่ของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของกระสุน
    • รอบๆ รอยแผลจะมีรอยถลอก
    • อาจพบคราบเขม่าดำของดินปืน หรือรอยไหม้รอบปากแผล หากยิงในระยะใกล้
    • หากลูกกระสุนกระทบกับสิ่งอื่นๆ จนทำให้หัวกระสุนแตก ก่อนเข้าสู่ร่างกาย อาจจะมีรอยบาดในบริเวณรูกระสุน

    บาดแผลทางออกกระสุนปืน

    ทางออกกระสุน หมายถึงจุดที่ลูกกระสุน ทะลุออกจากร่างกายไป อาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

    • เป็นรูกลม หากกระสุนปืนนั้นทะลุผ่านร่างกายไปโดยไม่กระทบกับกระดูก หรือของแข็งภายในร่างกาย
    • บาดแผลทางออกนี้จะไม่มีรอยถลอกรอบบาดแผล ต่างจากบาดแผลทางเข้า
    • หากกระสุนปืนกระทบกับกระดูกก่อนทะลุออกจากร่างกาย บาดแผลทางออกกระสุนปืนอาจมีรอยคล้ายของมีคม
    • บาดแผลทางออกกระสุนอาจมีมากกว่า 1 รู หากกระสุนปืนกระทบกับกระดูก แล้วแตกออกเป็นหลายชิ้น ทะลุออกจากร่างกาย
    • หากไม่พบบาดแผลทางออก อาจหมายความว่ากระสุนปืนนั้นค้างอยู่ในร่างกาย

    วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกยิง

    ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัย

    ก่อนอื่นคุณต้องมั่นใจก่อนว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัย ไม่มีการยิงกันอีก ก่อนที่จะไปช่วยเหลือใคร คุณไม่สามารถช่วยผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณเองก็เจ็บตัวเช่นกัน ดังนั้นหากยังมีการยิงกันอยู่อย่างต่อเนื่อง คุณควรเลือกที่จะหาที่หลบภัยก่อน

    ขั้นตอนที่ 2 ขอความช่วยเหลือ

    เมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว ควรขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งหน่วยฉุกเฉินมาทันที ก่อนที่จะเข้าไปจัดการกับสถานการณ์ พยายามอย่าเคลื่อนไหวตัวผู้ป่วยมากจนเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของผู้ที่ถูกยิงได้

    ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบแผล

    ตรวจดูบาดแผลว่าอยู่ในบริเวณใด มีกี่แผล คนที่ถูกยิงหนึ่งครั้งก็อาจจะมีโอกาสเกิดแผลได้มากกว่า 1 แผล เนื่องจากลูกกระสุนสามารถชนเข้ากับกระดูก และแตกออกเป็นหลายเสี่ยงได้

    ขั้นตอนที่ 4 ห้ามเลือด

    ห้ามเลือดที่ไหลออกจากบาดแผลด้วยการกดลงไปที่บริเวณแผลโดยตรง โดยออกแรงให้มากพอที่จะสามารถหยุดเลือดได้ กดแผลห้ามเลือดไปจนกว่าการช่วยเหลือจะมาถึง คุณอาจจะหาผ้าสะอาดหรือผ้าพันแผลมาช่วยซับเลือดระหว่างการกดห้ามเลือดด้วยก็ได้เช่นกัน

    ขั้นตอนที่ 5 อุดบาดแผล

    สำหรับแผลในบริเวณหน้าอกเท่านั้น ควรหาพลาสติกหรืออะไรก็ได้มาอุดปิดบาดแผล เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศไหลเข้าทางบาดแผล และเพื่อป้องกันไม่ให้ปอดแฟ่บ แต่หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออก ก็ไม่มีควรอุดบาดแผลนั้น

    ขั้นตอนที่ 6 ตรวจสอบลมหายใจ

    ตรวจดูว่าผู้ป่วยนั้นยังคงหายใจอยู่หรือไม่ หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการ CPR ผู้ป่วยทันที

    สิ่งที่ไม่ควรทำ

    • ห้ามประคองตัวให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนเท่านั้น
    • อย่าเคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อตัวผู้ป่วย และอาจทำให้บาดแผลรุนแรงขึ้นได้
    • การทำให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง จะทำให้เลือดไปไหลเวียนในสมองได้ยากขึ้น ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และทำให้สมองขาดออกซิเจนได้
    • พยายามอย่ากดห้ามเลือดแรงเกินไป จนกดเข้าไปในแผล
    • หากผู้ป่วยเสียเลือดมาก ให้ยกขาผู้ป่วยขึ้น แต่ห้ามยกขาผู้ป่วยหากบาดแผลถูกยิงอยู่ในบริเวณหน้าอกหรือช่องท้อง เพราะจะทำให้เลือดไหลออกเร็วขึ้น

    Hello Health Groupไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา