วิธีเลิกบุหรี่ มีทั้งวิธีที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองอย่างการเปลี่ยนมาเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารนิโคตินแทนการสูบบุหรี่ หรือวิธีบำบัดทางการแพทย์อย่างการใช้แผ่นแปะนิโคติน ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อการเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อฟื้นฟูสุขภาพและป้องกันอวัยวะตนเองก่อนถูกสารเคมีในบุหรี่ทำลาย
[embed-health-tool-bmi]
โทษของการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังและภาวะรุนแรง ดังต่อไปนี้
- โรคมะเร็ง บุหรี่อาจทำให้ผู้สูบเสี่ยงเป็นมะเร็งได้เกือบทุกประเภท เช่น มะเร็งริมฝีปาก มะเร็งลิ้น มะเร็งจมูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ส่วนใหญ่อาจกระทบกับสุขภาพปอด และเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งปอดได้มากกว่า
- โรคหัวใจและหลอดเลือด บุหรี่อาจส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ สมอง หรืออวัยวะอื่น ๆ ได้น้อยลง
- ปัญหาทางเดินหายใจ บุหรี่อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ทำให้หายใจลำบาก และอาจพัฒนานำไปสู่โรคหอบหืด
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ที่สูบบุหรี่อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังอาจทำให้อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคไตแย่ลงได้
- การติดเชื้อ สารเคมีในบุหรี่อย่างสารนิโคติน ปรอท ตะกั่ว เป็นต้น อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง และมีแนวโน้มจะติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้ง่ายขึ้น
- สูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน เนื่องจากบุหรี่อาจลดประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือด จึงส่งผลให้เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงในเนื้อเยื่อหูชั้นในและดวงตาน้อยลง นำไปสู่การสูญเสียการได้ยินรวมถึงการมองเห็นเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลให้ตาบอดได้
นอกจากนี้ผู้สูบบุหรี่อาจทำให้ผู้คนรอบข้างสูดดมสารเคมีจากควันบุหรี่เข้าไป ซึ่งอาจส่งผลให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้เดียวกัน
วิธีเลิกบุหรี่
วิธีเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง
สำหรับวิธีการเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง มีดังนี้
- เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารนิโคตินทดแทนการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจนำไปสู่การสูบบุหรี่ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะการเคลื่อนไหวอาจทำให้ร่างกายกระตือรือร้นระงับความอยากนิโคติน
- เพิ่มความผ่อนคลายให้ตัวเองมากขึ้นด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง ออกกำลังกาย เพราะหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บางคนสูบบุหรี่คือการเพิ่มความผ่อนคลาย
- กระตุ้นตัวเองให้นึกถึงประโยชน์ของการเลิกบุหรี่ เช่น เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย
วิธีเลิกบุหรี่ทางการแพทย์
สำหรับวิธีการเลิกบุหรี่ทางการแพทย์คุณหมออาจแนะนำวิธีรักษาต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ดังนี้
- สารทดแทนนิโคติน เช่น สเปรย์พ่นจมูก แผ่นแปะนิโคติน
- ยา เช่น ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) ยาบูโพรพิออน (Bupropion) เป็นยาที่ไม่มีส่วนประกอบของนิโคติน เพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่
สุขภาพหลังเลิกสูบบุหรี่ เป็นอย่างไร
หลังเลิกสูบบุหรี่อาจทำให้สุขภาพร่างกายมีอาการที่ดีขึ้น ดังนี้
- ระบบสาธารณสุข ประเทศอังกฤษ (NHS) ระบุว่า หลังเลิกบุหรี่ทำให้หายใจสะดวกและปอดมีการทำงานที่ดีขึ้นประมาณ 10% ภายใน 9 เดือน
- เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่อาจช่วยต้านเชื้อโรคที่นำไปสู่การเจ็บป่วย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่
- ทำให้ร่างกายมีพลังงานเพิ่มขึ้น ลดอาการเหนื่อยล้า เนื่องจากร่างกายสามารถรับออกซิเจนได้ดีกว่าเดิม
- การเลิกสูบบุหรี่อาจเพิ่มการไหลเวียนของเลือด จึงอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เพิ่มสมรรถภาพทางเพศทำให้อวัยวะเพศผู้ชายแข็งตัวได้ดี ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น
- ชะลอการเกิดริ้วรอย เพราะผู้ที่เลิกบุหรี่อาจทำให้สุขภาพผิวดีขึ้น เนื่องจากสุขภาพผิวได้รับสารอาหารและออกซิเจนเพียงพอ
- สุขภาพช่องปากดีขึ้นลดความเสี่ยงจากโรคเหงือก ฟันหลุดร่วง และกลิ่นปากไม่พึงประสงค์