backup og meta

ครีมกันแดดเด็ก แบบไหนกันแดดได้ดี และปลอดภัยต่อลูกน้อย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ครีมกันแดดเด็ก แบบไหนกันแดดได้ดี และปลอดภัยต่อลูกน้อย

    การใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวี เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ ที่มีผิวบอบบาง เมื่อเด็กอายุเกิน 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรทา ครีมกันแดดเด็ก ซึ่งมีส่วนประกอบที่อ่อนโยนต่อผิวเด็ก และควรสอนให้เด็ก ๆ ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อให้ครีมกันแดดสามารถช่วยปกป้องผิวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    ครีมกันแดดเด็ก ควรเลือกแบบไหน

    การสัมผัสแสงแดดโดยตรง อาจทำให้ผิวหนังได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet หรือ UV) ซึ่งประกอบไปด้วยรังสียูวีเอ (UVA) ที่มีส่วนสร้างความเสียหายให้กับผิว อาจทำให้ผิวเกิดริ้วรอย จุดด่างดำ และความหมองคล้ำ และรังสียูวีบี (UVB) ที่ทำให้ผิวชั้นนอกไหม้แดด กระตุ้นการสร้างเมลานินใหม่เป็นสีน้ำตาล ทำให้ผิวดูหมองคล้ำ ทั้งยังทำลายดีเอ็นเอใต้ผิวหนัง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

    สำหรับการป้องกันผิวของลูกน้อยจากแสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือก ครีมกันแดดเด็ก ที่มีซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide) หรือ ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide หรือ TiO2) เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากมีความสามารถในการเป็นเกราะป้องกันแสงแดดและสะท้อนแสงแดด ทั้งยังเป็นสารที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่ทำให้ผิวเด็กที่บอบบางระคายเคือง นอกจากนี้ ควรเลือกครีมกันแดดเด็กที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) 50 ขึ้นไป โดยค่าเอสพีเอฟเป็นตัวเลขที่ประเมินว่าครีมกันแดดสามารถกันรังสียูวีได้ดีเพียงใด และควรมีค่า PA ด้วย เพราะจะช่วยปกป้องผิวจากความหมองคล้ำได้มากขึ้น

    นอกจากนี้ เด็กไม่ควรใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของพาบา (PABA) หรือ กรดพาราอะมิโนเบนโซอิก (Para-Aminobenzoic Acid) ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง และควรหลีกเลี่ยงครีมกันแดดที่มีออกซิเบนโซน (Oxybenzone) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับสารกันแดดอื่น ๆ แต่อาจมีระดับฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อและกระทบต่อการเจริญเติบโตตามปกติของเด็ก หากใช้ในปริมาณมากอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้

    เคล็ดลับการใช้ครีมกันแดดเด็ก

    เคล็ดลับการใช้ครีมกันแดดเด็ก อาจมีดังนี้

    • ไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนทาครีมกันแดดเด็กเพราะอาจเกิดอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้ได้ง่ายกว่าเด็กที่อายุมากกว่า
    • ควรทาครีมกันแดดเด็กให้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหู มือ เท้า ไหล่ และหลังคอ ซึ่งเป็นจุดที่มักถูกละเลย หากต้องใช้ครีมกันแดดก่อนลงน้ำ ควรใช้ครีมกันแดดเด็กแบบกันน้ำ และควรทาครีมกันแดดบริเวณใต้สายรัดชุดว่ายน้ำด้วย โดยทั่วไปครีมกันแดดแบบกันน้ำจะอยู่ได้นานประมาณ 80 นาที เมื่อเด็กขึ้นจากน้ำแล้วให้ทาซ้ำอีกครั้ง
    • หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของครีมกันแดดเด็กที่ใช้ โดยทั่วไปครีมกันแดดที่ไม่ระบุวันหมดอายุและยังไมได้เปิดใช้งานจะมีอายุประมาณ 3 ปี และอายุของครีมกันแดดเด็กจะสั้นลงอีกหากเก็บรักษาในที่ร้อนชื้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดที่หมดอายุแล้วเพราะจะมีประสิทธิภาพในการกันแดดลดลง
    • ปริมาณครีมกันแดดที่แนะนำสำหรับทาผิวหน้าอยู่ที่ 1-2 กรัม/ครั้ง หรือประมาณ 2 ข้อนิ้ว สำหรับการทาทั้งตัวอยู่ที่ประมาณ 30 กรัม/ครั้ง เมื่อจะออกไปข้างนอก ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 15-30 นาที
    • ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากเหงื่อออกง่าย เช็ดตัว หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เพราะน้ำอาจชะล้างครีมกันแดดออกจากผิวไวขึ้น

    วิธีอื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันผิวเด็กจากแสงแดด

    วิธีในการป้องกันผิวเด็กจากแสงแดดที่นอกเหนือไปจากการใช้ ครีมกันแดดเด็ก อาจมีดังนี้

  • ลิปบาล์ม การทาลิปบาล์มที่มีค่าเอสพีเอฟ 30 ขึ้นไปให้กับเด็ก จะช่วยป้องกันริมฝีปากของเด็กหมองคล้ำจากการสัมผัสรังสียูวีได้
  • แว่นกันแดด เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องดวงตาจากรังสียูวียูวีเอและยูวีบี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจก ทั้งยังช่วยปกป้องผิวที่บอบบางรอบดวงตาจากแสงแดด ทั้งนี้ไม่ควรใช้แว่นกันแดดของเล่นสำหรับเด็กเพราะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้จริง
  • เสื้อผ้า ควรให้เด็กสวมหมวกบังศีรษะและใบหน้า สวมเสื้อผ้าที่คลุมแขนและขามิดชิด อาจเลือกเสื้อผ้าเด็กที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันรังสียูวี และให้เด็กหลบแดดให้มากที่สุดหากต้องออกไปกลางแจ้งหรือไปอยู่ในที่ ๆ มีแดดจัด
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา