backup og meta

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ของเด็กมีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ของเด็กมีอะไรบ้าง

    การเจริญเติบโต คือ ส่วนสูง น้ำหนัก และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดย ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ของเด็กสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่เหมาะสมตามวัย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ เช่น โภชนาการ การออกกำลังกาย การนอนหลับ การดูแลสุขภาพของเด็ก เพื่อให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่ดีและการเจริญเติบโตที่สมวัย

    ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ของเด็ก มีอะไรบ้าง

    ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กมีด้วยกันหลายปัจจัย โดยปัจจัยบางประการอาจเกี่ยวข้องตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ดังนี้

    • การตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ครบกำหนดตามอายุครรภ์มีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเด็ก โดยเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีขนาดตัวเล็กและน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนด เนื่องจากร่างกายอาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุนี้อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคตได้
    • โภชนาการของแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ พัฒนาการทางสมองและการเจริญเติบโตทางร่างกายของเด็กเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโภชนาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะสารอาหารที่คุณแม่กินจะส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ หากคุณแม่มีโภชนาการด้านอาหารที่ไม่ดีก็จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย
    • โภชนาการของเด็ก อาหารเป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเด็ก ในขวบปีแรกเด็กควรได้กินนมแม่ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อช่วยบำรุงร่างกายและส่งเสริมการเจริญเติบโต โดยส่วนใหญ่เด็กที่กินนมแม่จะมีการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าเด็กที่กินนมผง นอกจากนี้ เมื่อเด็กเริ่มกินอาหารแข็งได้แล้วควรให้เด็กกินอาหารที่หลากหลายทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและแร่ธาตุ เพื่อช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางร่างกาย รวมทั้งพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัย
    • เพศ ส่วนใหญ่เด็กแรกเกิดเพศหญิงจะมีขนาดตัว ความยาว และน้ำหนักที่น้อยกว่าเด็กแรกเกิดเพศชายเล็กน้อย แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหัดเดินเด็กผู้หญิงจะเริ่มมีการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น จนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นผู้หญิงจะมีการเจริญเติบโตที่ช้าลง ในทางกลับกันวัยรุ่นผู้ชายจะเจริญเติบโตเร็วขึ้นแทน
    • พันธุกรรม การเจริญเติบโตทางร่างกายทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง หรือขนาดตัว อาจขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่สืบทอดมาจากคุณพ่อคุณแม่ นอกจากนี้ภาวะสุขภาพทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กด้วยเช่นกัน
    • ฮอร์โมน ปัญหาฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลของเด็ก เช่น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ อาจทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าลงได้
    • ปัญหาสุขภาพ เด็กที่มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้การดูดซึมสารอาหารในร่างกายผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นประจำ อาจทำให้การเจริญเติบโตช้าลง
    • การนอนหลับ การนอนหลับไม่เพียงพอส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลต่อสมดุลฮอร์โมนในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเด็กด้วย

    วิธีส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก

    การใส่ใจกับปัจจัยภายนอกบางประการอาจช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็กได้ ดังนี้

    • โภชนาการของเด็ก ควรส่งเสริมให้เด็กกินอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและแร่ธาตุ เพื่อช่วยเสริมการเจริญเติบโตและกล้ามเนื้อ เพราะอาหารคือปัจจัยหลักที่ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายเด็ก
    • การออกกำลังกายของเด็ก นอกจากจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายแล้ว ยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเด็กในหลายส่วน เช่น กระดูก ข้อต่อ ส่วนสูง น้ำหนัก ความยืดหยุ่นของร่างกายและกล้ามเนื้อ จึงควรให้เด็กออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่งเล่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
    • การนอนหลับของเด็ก ขณะนอนหลับร่างกายจะเริ่มกระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และปรับสมดุลฮอร์โมน ซึ่งส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของเด็ก จึงควรให้เด็กนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน
    • การรักษาปัญหาสุขภาพเรื้อรังของเด็ก เพราะปัญหาสุขภาพบางอย่างทำให้การดูดซึมสารอาหารของร่างกายลดลง ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
    • การฝึกท่าทางที่ดีของเด็ก การปรับบุคลิกภาพอาจมีความสำคัญต่อความสูงของเด็ก เพราะเด็กบางคนที่มีหลังโค้งงออาจทำให้ความสูงดูลดลง จึงควรฝึกบุคลิกภาพของเด็กอยู่เสมอทั้งการนั่ง การเดิน และการยืน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา