backup og meta

ลูก ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ลูก ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

    ลูก ไม่อยากไปโรงเรียน บางครั้งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ความพิการ ฐานะครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ซึ่งวิธีการพูดคุยกับลูกและค้นหาสาเหตุของปัญหา อาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้ลูกอยากไปโรงเรียนมากขึ้น

    สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูก ไม่อยากไปโรงเรียน

    หากลูกมีความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนอาจแสดงอาการบางอย่าง เพื่อเป็นการต่อต้านการไปโรงเรียน ดังนี้

    • ร้องไห้ แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ตะโกนหรือกรีดร้อง
    • ซ่อนหรือขังตัวเองไว้ในห้องคนเดียว
    • ลูกปฏิเสธที่จะลุกจากเตียง ออกจากห้อง หรือแต่งตัวไปโรงเรียน
    • ขอร้องหรืออ้อนวอนว่าไม่อยากไปโรงเรียน
    • ลูกอาจโกหกว่าปวดเมื่อยหรือป่วยก่อนไปโรงเรียน
    • ลูกแสดงความกลัวและความวิตกกังวลอย่างมากเมื่อต้องไปโรงเรียน
    • ลูกเริ่มมีปัญหาในการนอนหลับ
    • ลูกอาจขู่จะทำร้ายตัวเอง
    • ลูกร้องไห้ในโรงเรียน

    สาเหตุที่ลูก ไม่อยากไปโรงเรียน

    สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

    • การกลั่นแกล้งและความรุนแรงในโรงเรียน เป็นสิ่งรุนแรงที่สามารถกระทบจิตใจเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวที่จะไปโรงเรียน รู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยอีกต่อไป
    • ฐานะทางครอบครัว เด็กบางคนที่มีฐานะทางครอบครัวไม่ดี อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า หรือสิ่งอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างจากเพื่อนในโรงเรียน รวมทั้งอาจถูกกลั่นแกล้งและล้อเลียนถึงฐานะทางบ้านด้วย
    • ความพิการ ความพิการไม่ใช่ปัญหาในการเรียนหนังสือหรือการใช้ชีวิต แต่บางครั้งอาจทำให้เด็กถูกล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนภายในโรงเรียนจนส่งผลกระทบต่อจิตใจจนทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน
    • ปัญหากับครู เด็กบางคนอาจมีปัญหากับครูในบางเรื่อง เช่น การลงโทษที่รุนแรง ความก้าวร้าว ผลการเรียน  หากวันไหนมีวิชาที่ต้องเรียนกับครูคนนี้เด็กอาจไม่อยากไปโรงเรียนได้
    • ผลการเรียนไม่ดี เด็กทุกคนมีความสามารถที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น เด็กบางคนจึงอาจมีผลการเรียนในบางวิชาที่อ่อนกว่าเพื่อนคนอื่น บางครั้งจึงอาจถูกล้อเลียนจากเพื่อนหรือถูกกดดันจากคุณครู จนทำให้รู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน
    • หลีกเลี่ยงบางสิ่ง เช่น การบ้าน ข้อสอบ วิชาเรียน ครูบางคน เพื่อนบางคน เหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่เด็กรู้สึกไม่ชอบและอยากหลีกหนีจากความรู้สึกแย่ที่ต้องเผชิญเมื่อไปโรงเรียน
    • ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวสังคม โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia) เช่น กลัวการพูดหน้าชั้นเรียน กลัวความสูง กลัวเลือด ของมีคม สัตว์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เด็กรู้สึกกลัว เบื่อหน่ายและอยากปลีกตัวออกจากสังคมโรงเรียน

    อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสาเหตุที่อาจทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนด้วย คุณพ่อคุณแม่จึงควรพูดคุยกับลูกเพื่อค้นหาปัญหาที่แท้จริง และร่วมช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

    ลูกไม่อยากไปโรงเรียนต้องทำอย่างไร

    เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียนสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างแรกคือการทำความเข้าใจกับปัญหาของลูก เพื่อระบุสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ดังนี้

    • พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับโรงเรียนและสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่อยากไป โดยพยายามพูดคุยว่าลูกกำลังมีปัญหากับเพื่อน ครู หรือกำลังพยายามหลีกเลี่ยงบางสิ่งในโรงเรียนหรือไม่
    • หากสังเกตว่าลูกรู้สึกว่าการพูดถึงปัญหาเป็นเรื่องยาก อาจลองขอให้ลูกให้คะแนนแต่ละส่วนในวันที่ไปโรงเรียน เช่น การนั่งรถประจำทาง การเรียนในห้องเรียน วิชาเรียน ครู เพื่อน ช่วงพักกลางวัน แต่หากลูกเป็นเด็กเล็กอาจให้ลูกชี้ไปที่สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น หน้าเศร้า หน้ายิ้ม หรือลองเล่นบทบาทสมมติเมื่ออยู่โรงเรียน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถทราบถึงความรู้สึกของลูกเมื่อไปโรงเรียน
    • ลองคิดทบทวนดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่บ้านที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่ เช่น เคยมีคนในครอบครัวเสียชีวิตหรือเพิ่งย้ายบ้าน ลูกเป็นห่วงคนที่บ้าน ลูกได้ของเล่นหรือสุนัขตัวใหม่

    เมื่อทราบสาเหตุของปัญหาได้เรียบร้อยแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรหาแนวทางการแก้ปัญหา ดังนี้

    • เสนอแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละเรื่อง เช่น ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะถูกกลั่นแกล้ง คุณพ่อคุณแม่สามารถไปโรงเรียนเพื่อพูดคุยกับคุณครูและผู้ปกครองของเด็กที่ก่อเหตุ เพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการแก้ปัญหาอื่น ๆ
    • ใช้คำพูดที่ชัดเจนและควรใจเย็นเมื่อต้องพูดกับลูก โดยพูดแสดงความเชื่อมั่นว่าลูกสามารถไปโรงเรียนได้อย่างมีความสุข และพูดให้กำลังใจลูกอยู่เสมอ
    • คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกว่าได้เข้าไปที่โรงเรียนและพูดคุยกับคุณครู เพื่อขอความร่วมมือในการดูแลความปลอดภัย และการดูแลให้คำปรึกษาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว
    • หากลูกรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับความกังวลหรือความกลัวที่จะไปโรงเรียนได้ ควรพาลูกเข้าพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดภาวะทางสุขภาพจิตบางอย่าง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา