backup og meta

5 โรคในเด็ก ที่พบบ่อย วิธีการรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    5 โรคในเด็ก ที่พบบ่อย วิธีการรักษาและการป้องกัน

    โรคในเด็ก ที่พบได้บ่อยอาจมีหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคอีสุกอีใส โรคปอดอักเสบ ที่อาจส่งผลให้เด็ก ๆ เจ็บป่วย และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ โรคในเด็ก เพื่อคอยสังเกตอาการผิดปกติและพาเด็ก ๆ เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของเด็ก

    5 โรคในเด็ก ที่พบบ่อย

    โรคในเด็ก ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    1. โรคไข้หวัดใหญ่

    โรคไข้หวัดใหญ่ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส 3 ชนิด คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A และ B ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง และไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด C ที่อาจไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง และไม่แพร่ระบาด

    เด็ก ๆ อาจได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ผ่านการไอ การจาม หรือการสัมผัสกับสิ่งรอบตัวที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคจากละอองสารคัดหลั่ง เช่น ลูกบิดประตู ของเล่น ปากกา ดินสอ หลังจากได้รับเชื้ออาจเริ่มมีอาการภายในประมาณ 5-7 วัน โดยสังเกตอาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็ก ได้ดังนี้

    • มีไข้สูงกว่า 39.4-40.5 องศาเซลเซียส
    • มีอาการจามและไออย่างรุนแรง
    • เจ็บคอ
    • น้ำมูกไหลและคัดจมูก
    • ปวดศีรษะ
    • เหนื่อยล้า อ่อนเพลียและปวดเมื่อยตามร่างกาย
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ท้องเสีย

    ควรพาเด็กเข้าพบคุณหมอทันทีหากอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูงต่อเนื่อง มีปัญหาการหายใจ ผิวเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงิน อาเจียนบ่อย ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลง และมีอาการชัก

    การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่

    การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก อาจทำได้ดังนี้

    • ยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และลดไข้ ไม่ควรให้เด็กรับประทานยาแอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เป็นกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้ตับและสมองเกิดความผิดปกติเฉียบพลัน ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
    • ยาต้านไวรัส เช่น บาลอกซาเวียร์ มาร์โบซิล (Baloxavir marboxil) โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) ซึ่งควรให้เด็กเริ่มรับประทานภายในระยะเวลไม่เกิน 2 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัส ช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัดใหญ่ และช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วย แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง ไม่ซื้อยารับประทานเอง
    • ยาแก้ไอ เด็กที่มีอาการไออาจให้รับประทานยาแก้ไอตามที่คุณหมอหรือเภสัชกรกำหนด
    • น้ำเกลือล้างจมูก เด็กที่มีน้ำมูกหรือมีอาการคัดจมูก คุณพ่อคุณแม่สามารถนำน้ำเกลือและไซริงค์สำหรับล้างจมูก มาล้างจมูกเพื่อช่วยกำจัดน้ำมูก และทำให้หายใจได้สะดวกมากขึ้น
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยป้องกันร่างกายขาดน้ำ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย และช่วยขับปัสสาวะ อีกทั้งยังควรให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

    การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

    การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อาจทำได้ดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
    • พาเด็ก ๆ ออกกำลังกาย เช่น วิ่งในสวนสาธารณะ เตะฟุตบอล ว่ายน้ำ
    • พาเด็ก ๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ขึ้นไป
    • ไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
    • สอนให้เด็ก ๆ ล้างมือหลังจากจับสิ่งของ หลังเข้าห้องน้ำ หรือก่อนรับประทานอาหารเพื่อรักษาสุขอนามัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
    • สวมใส่หน้ากากอนามัยให้เด็ก ๆ เมื่อต้องออกไปอยู่ในพื้นที่แออัด มีคนพลุกพล่าน หรือสถานพยาบาล

    2. โรคอีสุกอีใส

    โรคอีสุกอีใสเป็นโรคในเด็กที่พบได้บ่อยโดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster) ที่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับตุ่มอีสุกอีใส และการสูดดมละอองจากสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อจากการไอและจามเข้าสู่ทางเดินหายใจ ซึ่งตุ่มอีสุกอีใสจะปรากฏหลังจากร่างกายได้รับเชื้อ 10-21 วัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ ดังต่อไปนี้

    • ตุ่มอีสุกอีใสปรากฏขึ้นบนผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ รักแร้ ลำตัว แขน ขา ในช่องปาก และอาจแตกออกจนกลายเป็นแผลพุพอง ตกสะเก็ด
    • มีไข้
    • ไอ และน้ำมูกไหล
    • ปวดศีรษะ
    • รู้สึกเบื่ออาหาร
    • เหนื่อยล้า รู้สึกไม่สบายตัว
    • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ

    ควรพาเด็ก ๆ เขาพบคุณหมอทันที หากตุ่มอีสุกอีใสลุกลามไปยังบริเวณดวงตา มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส วิงเวียนศีรษะ หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว อาเจียน และอาการไอรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ อาการชัก โรคไข้สมองอักเสบ การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อ กระดูก ข้อต่อและกล้ามเนื้อ

    การรักษาโรคอีสุกอีใส

    สำหรับเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีอาการรุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล คุณหมออาจแนะนำให้รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาแก้แพ้และคาลาไมน์โลชั่นเพื่อบรรเทาอาการคัน ใช้ยาอะเซตามิโนเฟนเพื่อลดไข้ และให้เด็ก ๆ พักผ่อนและดื่มน้ำให้มาก ๆ ป้องกันร่างกายขาดน้ำ

    แต่สำหรับเด็กที่มีอาการอีสุกอีใสรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน คุณหมออาจให้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ภายใน 24 ชั่วโมงแรก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค

    การป้องกันโรคอีสุกอีใส

    การป้องกันโรคอีสุกอีใสอาจทำได้ด้วยการระมัดระวังไม่ให้เด็กอยู่ใกล้กับผู้ป่วยอีสุกอีใส สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปยังพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด และควรพาเด็ก ๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส โดยอาจเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12-15 เดือน สำหรับโดสแรก และตั้งแต่ 18 เดือน – 4  ปี สำหรับโดสที่สองแต่หากเป็นช่วงที่โรคกำลังระบาดสามารถรับโดสสองห่างจากโดสแรกได้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

    สำหรับเด็กโตที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ควรฉีดทันทีเมื่ออายุ 7-12 ปี จำนวน 2 โดส โดยแต่ละโดสห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน และสำหรับเด็กโตอายุ 13 ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ควรฉีดให้ครบ 2 โดส แต่ละโดสห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์

    3. โรคมือเท้าปาก

    โรคมือเท้าปากเป็นโรคในเด็กที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ คอกซากีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A16) ที่สามารถได้รับผ่านการสูดดมสารคัดหลั่งจากการไอและจามเข้าสู่ทางเดินหายใจ หรือการสัมผัสกับของเหลวจากแผล โดยอาการของโรคมือเท้าปากอาจปรากฏขึ้นหลังจากเด็กได้รับเชื้อ 3-6 วัน ดังนี้

    • มีผื่นแดงแต่ไม่มีอาการคัน พบได้มากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และก้น
    • แผลพุพองพร้อมอาการแสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม
    • มีไข้
    • เจ็บคอ
    • น้ำลายไหล
    • รู้สึกเบื่ออาหาร
    • หงุดหงิดง่าย

    การรักษาโรคมือเท้าปาก

    โรคมือเท้าปากไม่มีการรักษาเฉพาะทาง โดยปกติแล้วเด็ก ๆ จะมีอาการดีขึ้นหรือหายได้เองภายใน 7-10 วัน อย่างไรก็ตาม หากเด็กมีอาการเจ็บปวดแผล มีไข้  หรือเจ็บคอ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้เด็กรับประทานยาอะเซตามิโนเฟนหรือไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้

    นอกจากนี้ ควรให้เด็กรับประทานน้ำแข็งหรือของเย็น เพื่อช่วยทำให้แผลในช่องปากชา ช่วยลดอาการเจ็บปวด และควรให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ หลีกเลี่ยงการให้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติเปรี้ยวและเผ็ด เพราะทำให้เด็กรู้สึกแสบแผล

    การป้องกันโรคมือเท้าปาก

    การป้องกันโรคมือเท้าปาก อาจทำได้ดังนี้

    • สอนให้เด็กหมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก
    • หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็ก ๆ อยู่ใกล้กับผู้ป่วย และหากเด็กมีอาการป่วยควรให้หยุดพักที่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น ๆ
    • คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ รวมถึงสิ่งรอบตัวที่เด็กสัมผัสบ่อยครั้ง เช่น ของเล่น ราวบันได ลูกบิดประตู โซฟา โต๊ะ เก้าอี้

    4. ท้องเสีย

    ท้องเสียเป็นโรคในเด็กที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus) การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) หรือการติดเชื้อปรสิตไกอาร์เดีย (Giardia) ที่ส่งผลให้กระเพาะและลำไส้อักเสบ นำไปสู่อาการท้องเสีย นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ โรคลำไส้แปรปรวน และโรคโครห์น (Crohn’s Disease) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคลำไส้อักเสบที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณเตือนของอาการท้องเสีย ได้ดังนี้

  • ขับถ่ายเหลว ขับถ่ายบ่อย
  • ปวดท้อง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ท้องอืด
  • มีไข้
  • ผิวหนังและริมฝีปากแห้ง
  • ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มหรือปัสสาวะน้อย ที่อาจเกิดจากภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • ควรพาเด็ก ๆ เข้าพบคุณหมอทันที หากมีผื่นขึ้นลำตัว มีอาการท้องเสียต่อเนื่องมากกว่า 3 ครั้ง/วัน มีไข้สูง อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้องนานกว่า 2 ชั่วโมง และไม่ปัสสาวะนานกว่า 6-12 ชั่วโมง

    การรักษาอาการท้องเสีย

    สำหรับเด็กที่ท้องเสียเล็กน้อยและไม่มีอาการอาเจียน ปกติแล้วอาจมีอาการดีขึ้นจนหายได้เองภายใน 2-3 วัน โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอาหารที่รับประทานหรือให้เด็กรับประทานเกลือแร่ แต่สำหรับเด็กที่มีอาการอื่น ๆ ร่วม อาจจำเป็นต้องรักษา ดังนี้

    • เด็กท้องเสียและมีอาการอาเจียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กหยุดอาหารและจดบันทึกว่าเด็กรับประทานอาหารชนิดใดแล้วท้องเสีย และควรให้เด็กดื่มน้ำหรือเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป
    • เด็กท้องเสียระดับรุนแรง ควรพาเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรับการรักษา โดยคุณหมออาจให้ดื่มน้ำหรือให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนของเหลวที่ร่างกายสูญเสียออกไป

    การป้องกันอาการท้องเสีย

    การป้องกันอาการท้องเสีย อาจทำได้ดังนี้

    • สอนให้เด็กรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้ถูกต้อง โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังหยิบจับสิ่งของ และหลังจากเข้าห้องน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจส่งผลให้เด็กติดเชื้อและมีอาการท้องเสีย
    • หลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้
    • พาเด็ก ๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนโรตาไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการท้องเสีย
    • หลีกเลี่ยงการให้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ควรปรึกษาคุณหมอก่อนให้เด็กรับประทานยา เพราะยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงที่ทำให้เด็กท้องเสียได้

    5. โรคปอดอักเสบ

    โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวมเป็นโรคในเด็กที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา เช่น ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) แบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนีย (Streptococcus pneumoniae) แบคทีเรียฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา ชนิดบี (Hemophilus influenza type B) และเชื้อรา นิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis jirovecii) โดยแพร่กระจายผ่านทางการสูดดมสารคัดหลั่งจากการไอและจาม หรือการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อและเผลอนำมือเข้าปาก

    สัญญาณเตือนของโรคปอดอักเสบในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต มีดังนี้

  • มีไข้
  • ไอและมีเสมหะ
  • หายใจไม่ออก หรือหายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ หรือไอ
  • อาเจียน
  • หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • ท้องเสีย
  • เหนื่อยง่าย
  • รู้สึกเบื่ออาหาร
  • การรักษาโรคปอดอักเสบ

    การรักษาโรคปอดอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ลดไข้
    • รับประทานยาแก้ไอและกำจัดเสมหะ เช่น โคเดอีน (Codeine) เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
    • ควรให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มาก ๆ
    • ยาปฏิชีวนะ แบบรับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือด ใช้สำหรับเด็กที่มีอาการปอดอักเสบระดับรุนแรง และอาจต้องให้ออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย

    การป้องกันโรคปอดอักเสบ

    การป้องกันโรคปอดอักเสบ อาจทำได้ดังนี้

    • สอนให้เด็กล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกหลังจากสัมผัสสิ่งรอบตัว หลังจากเข้าห้องน้ำ และก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก
    • หลีกเลี่ยงให้เด็กสัมผัสใบหน้าตนเองบ่อย ๆ โดยไม่ได้ล้างมือ
    • สอนให้เด็กไอและจามใส่ทิชชู หรือสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่แออัด
    • พาเด็ก ๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ขึ้นไป อีกทั้งควรพาเข้ารับการฉีดวัคซีนพีซีวี 13 (Pneumococcal Conjugate Vaccine 13) เพื่อลดโอกาสเป็นโรคปอดบวม โดยสามารถพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน และควรรับการฉีดต่อเนื่องตามเกณฑ์จนกว่าจะอายุครบ 15 เดือน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา