backup og meta

นมตั้งเต้า ในเด็กผู้หญิง และพัฒนาการทางร่างกายที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    นมตั้งเต้า ในเด็กผู้หญิง และพัฒนาการทางร่างกายที่ควรรู้

    อาการ นมตั้งเต้า ในเด็กผู้หญิง เป็นหนึ่งในสัญญาณของการเข้าสู่วัยรุ่นระยะแรก อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุ 10-11 ปี มักทำให้เด็กมีอาการปวดหัวนมและหน้าอก เนื่องจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและเต้านมขยายตัว ในช่วงแรกอาจคลำพบก้อนนูนใต้หัวนม เจ็บเวลาสัมผัสโดน จากนั้นหน้าอกจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอาจมีพัฒนาการด้านร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีประจำเดือน สะโพกผายออก เอวคอดลง มีทรวดทรงมากขึ้น ตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีขนขึ้นตามแขน ขา รักแร้ อวัยวะเพศ มีกลิ่นตัว

    นมตั้งเต้า ในวัยรุ่นเกิดขึ้นเมื่อไหร่

    นมตั้งเต้า เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายอันดับแรก ๆ ที่ทำให้ทราบว่าเด็กผู้หญิงเข้าสู่วัยรุ่นระยะแรกแล้ว โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงที่เด็กมีอายุได้ประมาณ 10-11 ปี ในช่วงนี้เด็กผู้หญิงอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกหรือหัวนม หน้าอกขยายตัวขึ้นเป็นก้อน หัวนมตั้ง ลานนมหรือบริเวณวงสีคล้ำรอบหัวนมขยายใหญ่ขึ้น สาเหตุมาจากรังไข่เริ่มผลิตและหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมันในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในทรวงอก ส่งผลให้หน้าอกขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดต่อมน้ำนมในหน้าอก โดยอัตราการเจริญเติบโตของหน้าอกอาจแตกต่างไปในแต่ละคน นอกจากการเปลี่ยนแปลงของเต้านมแล้ว ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น เริ่มมีขนหัวหน่าว ขนรักแร้ มีกลิ่นตัว

    นมตั้งเต้าเร็ว สัญญาณของการเป็นสาวก่อนวัย

    หากเด็กผู้หญิงมีนมตั้งเต้าเร็วหรือเริ่มมีหน้าอกตั้งแต่ก่อนอายุ 8 ขวบ ร่วมกับมีพัฒนาการด้านร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีประจำเดือน เป็นสิว มีกลิ่นตัว สูงเร็วขึ้น อาจหมายถึง เด็กมีภาวะเป็นสาวก่อนวัยหรือโตเร็วกว่าปกติ (Precocious Puberty) แต่บางคนก็อาจมีอาการเพียงอย่างเดียว เช่น นมตั้งเต้า ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ยังไม่มีประจำเดือน โดยปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้มีหลายประการ เช่น พันธุกรรม ปัญหาเกี่ยวกับรังไข่และต่อมไทรอยด์ ปัญหาเกี่ยวกับสมองอย่างเนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมองจากการผ่าตัดหรือการฉายรังสี

    หากเด็กผู้หญิงมีอาการของภาวะเป็นสาวก่อนวัย คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์มือเพื่อเทียบอายุกระดูกกับอายุจริง และยังสามารถทำนายความสูงสุดท้ายเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ การอัลตราซาวด์หรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาเนื้องอก เมื่อพบสาเหตุแล้วคุณหมอมักรักษาตามสาเหตุหรือสั่งยาลดระดับฮอร์โมนตามข้อบ่งชี้เพื่อชะลอพัฒนาการทางเพศเป็นเวลา 2-3 ปี อาจช่วยให้เด็กสามารถเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัยตามปกติ

    พัฒนาการทางร่างกายในเด็กผู้หญิง

    การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในเด็กผู้หญิง อาจมีดังนี้

  • ขนตามร่างกาย เด็กผู้หญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มมีขนเส้นหนาหยาบขึ้นที่รักแร้ แขน ขา และอวัยวะเพศ
  • ตกขาว เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดตกขาวลักษณะเหลว ใส หรือเป็นสีขาว ไหลออกมาจากช่องคลอด ตกขาวจะช่วยหล่อลื่นให้ช่องคลอดชุ่มชื้นและป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอด โดยทั่วไปอาจมีตกขาวก่อนเริ่มเป็นประจำเดือนประมาณ 6-12 เดือน
  • รูปร่างและส่วนสูง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ผู้หญิงจะเริ่มมีทรวดทรงมากขึ้น สะโพกผายออก เอวคอดเล็กลง และจะเริ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เด็กผู้หญิงจะมีพัฒนาการด้านความสูงเร็วกว่าเด็กผู้ชาย และจะสูงขึ้นได้เร็วที่สุดในช่วงก่อนเป็นประจำเดือน และเมื่อประจำเดือนมาแล้วอาจสูงได้ช้าลง ส่วนใหญ่แล้วจะสูงได้อีกประมาณ 5-6 เซนติเมตร
  • ประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุ 11-12 ปี หรือหลังจากนมตั้งเต้าได้ประมาณ 1-2 ปี ประจำเดือนเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวขึ้นเพื่อรองรับการตั้งครรภ์หลุดลอกออกจากโพรงมดลูกเนื่องจากไม่มีการตั้งครรภ์ โดยทั่วไป ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-5 วัน และมีรอบเดือนห่างกันประมาณ 21-35 วัน ในช่วงแรก ประจำเดือนอาจยังมาไม่สม่ำเสมอ และอาจมีอาการปวดท้องประจำเดือนด้วย
  • สิว เป็นภาวะผิวหนังซึ่งเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่นที่ส่งผลให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันหรือซีบัม (Sebum) ออกมามากเกินไป เมื่อน้ำมันที่ผิวหนังรวมตัวกับสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเซลล์ผิวที่ตายแล้ว อาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันและเกิดสิวได้หลายชนิด เช่น สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวอักเสบ สิวซีสต์ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ไหล่ หลังส่วนบน หน้าอก เป็นต้น
  • กลิ่นตัว ฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้เด็กผู้หญิงเริ่มมีกลิ่นตัวตั้งแต่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทั้งนี้ ปัญหากลิ่นตัวอาจบรรเทาได้ด้วยการอาบน้ำและฟอกรักแร้ด้วยสบู่เป็นประจำทุกวันทั้งตอนเช้าและตอนเย็นหลังกลับจากโรงเรียน โดยเฉพาะหากเหงื่อออกมากหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน การทาโรลออนหรือแป้งระงับกลิ่นกาย รวมไปถึงการสวมเสื้อผ้า ชุดชั้นใน และถุงเท้าสะอาด ระบายอากาศได้ดี
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา