backup og meta

ความรุนแรงในโรงเรียน คืออะไร และควรป้องกันอย่างไร

ความรุนแรงในโรงเรียน คืออะไร และควรป้องกันอย่างไร

ความรุนแรงในโรงเรียน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกโรงเรียน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น เช่น ความรุนแรงภายในครอบครัว การเลี้ยงดู เพื่อน สังคม สภาพแวดล้อม ภาวะสุขภาพ การใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดีของเด็กในอนาคต

[embed-health-tool-bmi]

ความรุนแรงในโรงเรียน คืออะไร

ความรุนแรงในโรงเรียน คือ พฤติกรรมความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ระหว่างการเดินไปและกลับจากโรงเรียน หรือการไปทัศนศึกษากับโรงเรียน เช่น การพูดจาก้าวร้าว การทำร้ายร่างกาย การใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่น รวมไปถึงการทำความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโรงเรียน

โดยสัญญาณเตือนของนักเรียนที่อาจมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน คุณครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนอาจสังเกตได้จากสิ่งเหล่านี้

  • นักเรียนพูดคุยหรือเล่นกับอาวุธทุกชนิด
  • นักเรียนมีพฤติกรรมทำร้ายสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่น ๆ
  • นักเรียนมีพฤติกรรมข่มขู่หรือกลั่นแกล้งผู้อื่น
  • นักเรียนพูดถึงความรุนแรง ดูหนังที่มีความรุนแรง หรือชอบเล่นเกมที่มีความรุนแรง
  • นักเรียนพูดหรือแสดงท่าทีก้าวร้าวทั้งต่อเพื่อนและผู้ใหญ่

สาเหตุของ ความรุนแรงในโรงเรียน

อาจไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน แต่อาจเป็นไปได้ว่าเด็กที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรงอาจถูกครอบครัวหรือสังคมกดดันในด้านต่าง ๆ เช่น ความรุนแรงภายในครอบครัว การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม ผลการเรียนตกต่ำ พฤติกรรม บุคลิกภาพ ฐานะครอบครัว ภาวะสุขภาพ การใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัยอยากรู้อยากลอง ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจมากพอ แสดงพฤติกรรมหรือลงมือทำความรุนแรงต่อผู้อื่น ๆ ได้ โดยเข้าใจว่าความรุนแรงอาจช่วยปกป้องตัวเองหรือช่วยให้ตัวเองเป็นที่รักและเป็นจุดสนใจมากขึ้น

ประเภทของ ความรุนแรงในโรงเรียน

ความรุนแรงในโรงเรียนมีหลายรูปแบบโดยอาจแบ่งเป็นประเภทได้ ดังนี้

  • การกลั่นแกล้ง อาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือการคุกคามทางเพศ โดยมีลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าวซ้ำ ๆ และจงใจกระทำต่อบุคคลอื่น
  • การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศหรือทางจิตใจผ่านทางโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ เช่น การโพสต์ข้อมูลเท็จ ความคิดเห็นที่ทำร้ายจิตใจ ข่าวลือที่เป็นอันตราย ลงรูปภาพหรือวิดีโอที่น่าอับอายในโซเชียลมีเดีย
  • ความรุนแรงทางร่างกาย เป็นความก้าวร้าวทางร่างกายทุกประเภท เช่น การใช้อาวุธ การโจรกรรม การลอบวางเพลิง
  • ความรุนแรงทางจิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางอารมณ์และทางวาจา เช่น การดูถูก การคุกคาม การเมินเฉย การปล่อยให้โดดเดี่ยว การปฏิเสธ การประนาม การเยาะเย้ย การปล่อยข่าวลือ การพูดโกหก ทำให้ผู้อื่นอับอาย หรือลงโทษบุคคลอื่นโดยไม่ยุติธรรม
  • ความรุนแรงทางเพศ เป็นการคุกคามทางเพศ การข่มขู่ทางเพศ การสัมผัสที่อีกฝ่ายไม่ต้องการหรือไม่อนุญาต การบังคับทางเพศ และการข่มขืน

ผลกระทบของความรุนแรงในโรงเรียน

ความรุนแรงในโรงเรียนอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนี้

  • ผลกระทบต่อเด็กที่กระทำรุนแรง บางครั้งเด็กที่ใช้ความรุนแรงอาจทำลงไปเพื่อปกป้องตัวเอง เนื่องจากเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน จึงพยายามแสดงความแข็งแกร่งให้ผู้อื่นเห็นด้วยการทำพฤติกรรมรุนแรงต่อผู้อื่น ซึ่งความรู้สึกพึงพอใจนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปเด็กอาจกลับมารู้สึกกลัวในความผิดนั้น และกระทำผิดเพิ่มมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองอีกครั้ง
  • ผลกระทบต่อเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง อาจทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น รอยถลอก ฟกช้ำ กระดูกหัก ความพิการทางร่างกาย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งยังอาจกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า ความวิตกกังวล หวาดระแวง จนทำให้เสียการเรียนหรือคุณภาพชีวิตย่ำแย่ลงได้
  • ผลกระทบต่อเด็กที่เห็นความรุนแรงในโรงเรียน เด็กที่เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด อาจเกิดความหวาดกลัวที่จะเป็นเหยื่อรายต่อไป และอาจรู้สึกผิดที่ไม่สามารถแจ้งเหตุการณ์เหล่านั้นให้ผู้ใหญ่ทราบได้เพราะถูกข่มขู่ จึงส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยตรง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและสูญเสียมั่นใจในตนเอง

การป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน

โรงเรียนควรเป็นสถานที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน ดังนั้นเพื่อป้องกันความรุนแรงในโรงเรียนผู้ใหญ่จึงอาจทำได้ ดังนี้

  • คุณครูเตือนนักเรียนให้ปกป้องสิทธิของตัวเอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมความรุนแรงจากเพื่อน
  • คุณครูเน้นย้ำกฎของโรงเรียนและบทลงโทษเมื่อกระทำผิดให้นักเรียนทราบ รวมทั้งขอให้นักเรียนรายงานความรุนแรงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นให้คุณครูหรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทราบ
  • โรงเรียนควรสนับสนุนให้มีการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้มีความปลอดภัย เช่น การให้บริการและคำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิต อบรมและแนะนำด้านพฤติกรรมให้แก่นักเรียน เสนอกิจกรรมเชิงบวกร่วมกัน
  • โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนมีความรับผิดชอบในความปลอดภัยทั้งต่อตัวเองและสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน
  • โรงเรียนควรสร้างระบบการรายงานเหตุการณ์ผิดปกติโดยไม่ระบุตัวตน เช่น สายด่วน กล่องคำแนะนำ
  • โรงเรียนควรควบคุมการเข้าถึงจุดต่าง ๆ ภายในอาคารเรียน โดยเฉพาะจุดอับที่นักเรียนอาจใช้จุดนี้เพื่อกระทำความรุนแรงต่อเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
  • โรงเรียนควรตั้งมาตรการตรวจสอบสถานที่หรือบุคคลที่อาจเป็นอันตรายต่อนักเรียน เช่น แขกของโรงเรียน โรงอาหาร สนามเด็กเล่น โถงทางเดิน ลานจอดรถ
  • โรงเรียนควรมีปริมาณคุณครูและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ เพื่อช่วยในการสอดส่องพฤติกรรมไม่ดีของนักเรียน และนักเรียนสามารถแจ้งเหตุได้อย่างทันท่วงที
  • โรงเรียนควรจัดอบรมเกี่ยวกับการรับมือเมื่อถูกคุกคาม และขั้นตอนการจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้น ให้แก่นักเรียน คุณครู และเจ้าหน้าที่ภายในโรงเรียน
  • โรงเรียนควรสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน เพื่อช่วยสอดส่องหากนักเรียนมีพฤติกรรมรุนแรงภายนอกโรงเรียน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

School Violence Prevention. https://www.nasponline.org/resources-and-publications/resources-and-podcasts/school-safety-and-crisis/school-violence-resources/school-violence-prevention. Accessed March 21, 2023

School Violence: What Students Can Do. https://kidshealth.org/en/teens/school-violence.html. Accessed March 21, 2023

What you need to know about school violence and bullying. https://www.unesco.org/en/articles/what-you-need-know-about-school-violence-and-bullying. Accessed March 21, 2023

Protecting children from violence in school. https://www.unicef.org/protection/violence-against-children-in-school. Accessed March 21, 2023

School Violence. https://www.cdc.gov/violenceprevention/youthviolence/schoolviolence/fastfact.html. Accessed March 21, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/06/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัยรุ่นตอนปลาย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

วัยรุ่นอายุเท่าไหร่ และปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/06/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา