backup og meta

โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร คืออะไร รักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร คืออะไร รักษาอย่างไร

    โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร หมายถึง ภาวะที่ร่างกายของเด็กผู้หญิงเติบโตสู่ภาวะเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ หรือเร็วกว่าค่าอายุเฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน โดยจะพิจารณาว่าเด็กคนไหนเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควรเมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงก่อนอายุ 8 ปี นอกจากนี้ อาจพบได้ในเด็กผู้ชายเช่นกัน เรียกว่า โรคเป็นหนุ่มก่อนวัยอันควร โดยร่างกายจะเป็นหนุ่มก่อนอายุ 9 ปีในเด็กผู้ชาย

    โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร คืออะไร

    โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร (Precocious puberty) หมายถึง ภาวะที่เด็กเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าค่าเฉลี่ย โดยปกติ เด็กผู้หญิงจะเริ่มเป็นสาวเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 10 ปี และเด็กผู้ชายจะเริ่มเป็นหนุ่มเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 11 ปี โดยเด็กผู้หญิงที่เรียกว่าเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร จะมีสัญญาณเตือนของภาวะเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 8 ปี และเด็กผู้ชาย อาจเป็นโรคเป็นหนุ่มก่อนวัยอันควร เมื่อมีสัญญาณเตือนภาวะเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 9 ปี

    อาการ โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร

    อาการ โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร สามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนี้

    • เริ่มมีขนขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา รักแร้ และขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
    • ร่างกายสูงขึ้นหรือน้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ
    • หน้าอกเริ่มขยาย สะโพกผาย เริ่มมีส่วนเว้าส่วนโค้ง
    • มีสิวขึ้นตามใบหน้า หรือบริเวณแผ่นหลัง มีกลิ่นตัว
    • ไข่ตก และมีประจำเดือนครั้งแรก

    สาเหตุ โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร

    โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควรมักเกิดจากความผิดปกติของการส่งสัญญาณของสมองที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังต่อมฮอร์โมนเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้ ไม่มีสาเหตุจากการใช้ยาหรือการกระตุ้นจากปัจจัยอื่น อย่างไรก็ตาม โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควรอาจเกิดขึ้นได้กับสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน นอกจากนี้ อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอก ภาวะไทรอยด์ ผลจากการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง แต่พบได้น้อยมาก

    ผลกระทบต่อร่างกายของ โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร

    หากเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร แม้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ร่างกายหยุดสูงเร็วกว่าปกติ ทำให้ตัวเตี้ยกว่าที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน นอกจากนั้น หากเป็นสาวก่อนวัยอันควรอาจกระทบต่อภาวะจิตใจและอารมณ์ทำให้ยากต่อการรับมือเพราะอายุยังน้อย ขาดวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์และทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หากมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ อาจโดนล้อหรือรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ทำให้เสียความมั่นใจหรือรู้สึกอับอายได้ และหากดูโตกว่าเพื่อน ๆ อาจได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป สร้างความเครียดหรือกดดันจนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้

    กลุ่มเสี่ยงเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร

    • มีเชื้อชาติอเมริกันหรือแอฟริกัน มักมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสาวก่อนวัยอันควรมากกว่าเชื้อชาติอื่น
    • เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกินตั้งแต่เด็ก
    • ได้รับสารหรือสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือเทสโทสเทอโรน เช่น การฉายรังสี การบำบัดด้วยยาหรือการรักษาโรคบางชนิด
    • มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมน ในบางรายอาจเกี่ยวข้องกับไฮโปไทรอยด์ แต่พบได้น้อยมาก
    • ผ่านการฉายรังสี ได้รับการรักษาเนื้องอก หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร
    • เคยมีประวัติติดเชื้อที่สมองหรือเยื่อหุ้มสมอง

    วิธีรักษา โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร

    เมื่อเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร คุณหมอจะตรวจสุขภาพและเลือกรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามภาวะสุขภาพในเด็กแต่ละคน โดยจะต้องส่งต่อให้คุณหมอเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความผิดปกติของฮอร์โมนในเด็ก หรือเรียกว่า คุณหมอโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึมในเด็ก จะเน้นการรักษาหรือให้ยาเพื่อหยุดพัฒนาการทางเพศเป็นสำคัญ

    คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่มีลูกเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร

    พ่อแม่หรือผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับโรค เป็นสาวก่อนวัยอันควรได้ โดยพ่อแม่ควรเน้นการสร้างความมั่นใจและการสอนให้ลูกรู้จักรักตัวเองเป็นสำคัญ สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • หลีกเลี่ยงการพูดจาตำหนิรูปร่างหรือกล่าวถึงรูปลักษณ์ภายนอก
    • เลือกที่จะชื่นชมความสำเร็จของลูกในด้านอื่น ๆ เช่น ผลการเรียน การเล่นกีฬา การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ
    • ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ลูกชอบแทนการหมกมุ่นกับรูปร่างของตนเอง
    • สอนให้ลูกเข้าใจตัวโรคและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา