backup og meta

ภาวะบกพร่องทางการเขียน คืออะไร ทำไมจึงทำให้เด็กเรียนรู้ช้าได้

ภาวะบกพร่องทางการเขียน คืออะไร ทำไมจึงทำให้เด็กเรียนรู้ช้าได้

ภาวะบกพร่องทางการเขียน หรือโรคดิสกราเฟีย (Dysgraphia) คือภาวะที่เด็กมีปัญหาในการเขียนสะกดคำผิดเป็นประจำและอาจพัฒนาได้ช้าหรือไม่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาได้ด้วยตนเองแม้ว่าจะเติบโตขึ้นมาตามวัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียงลำดับตัวอักษรผิด การพิมพ์ หรือการสะกดคำผิด เด็กแต่ละคนอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้แตกต่างกันไป หากเด็กเขียนคำผิดบ้าง หรือใช้เวลาคิดคำหรือคิดประโยคใดนานก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กบางคนอาจเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างจำเป็นที่จะต้องสังเกตหากเด็กเรียนรู้ช้า ไม่สามารถพัฒนาได้เมื่อเวลาผ่านไป  ควรหาวิธีช่วยพัฒนาทักษะการเขียนให้เด็ก ๆ เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเข้าสังคมได้ตามวัย

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ทำความรู้จัก ภาวะบกพร่องทางการเขียน

ภาวะบกพร่องทางการเขียน หรือโรคดิสกราเฟียเป็นโรคทางระบบประสาทในกลุ่มโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learning disorder) ที่สามารถส่งผลกระทบได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้มีปัญหาในการเขียน เช่น เรียงลำดับตัวอักษรผิด เขียนตัวหนังสือติดกันเป็นพรืด หรือเว้นวรรคไม่ถูก สะกดคำไม่ได้ ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นตัวอักษรไม่ได้ หรือบางครั้งอาจใช้คำผิดความหมาย ทำให้ผู้อื่นอ่านไม่เข้าใจ

ภาวะนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก และในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ภาวะบกพร่องทางการเขียน หรือโรคดิสกราเฟียในเด็กนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่ แต่เด็กที่เกิดภาวะนี้มักจะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อื่น ๆ ด้วย เช่น ภาวะพร่องการอ่านหรือโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) โรคสมาธิสั้น

สำหรับผู้ใหญ่บางคนที่ต้องพบเจอกับประสบการณ์สะเทือนขวัญ หรือเหตุการณ์ร้ายแรงที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ รวมถึงอาการบาดเจ็บทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะบกพร่องทางการเขียน

แม้ผู้เชี่ยวชาญจะยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนี้ แต่ก็พบว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ มักมีคนในครอบครัวประสบปัญหานี้มาก่อน เป็นไปได้ว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรืออาจเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของทารกในช่วงตั้งครรภ์ เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด

ภาวะบกพร่องทางการเขียน กับ ภาวะบกพร่องทางการอ่าน

ดิสกราเฟียคือภาวะบกพร่องทางการเขียน ส่วนดิสเล็กเซียคือภาวะบกพร่องทางการอ่าน แต่ในบางครั้ง อาการที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่สับสนได้ เพราะเด็กที่เป็นโรคดิสเล็กเซียก็อาจมีปัญหาในการอ่านและการสะกดคำ ส่วนเด็กที่เป็นโรคดิสกราเฟีย ก็มักมีปัญหาในการอ่านเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกจะมีปัญหาในการเรียนรู้ ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์พัฒนาการ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมตรงกับสาเหตุ

อาการของภาวะบกพร่องทางการเขียน

ลายมือที่ยุ่งเหยิงอ่านยาก ถือเป็นสัญญาณที่พบได้บ่อยในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะบกพร่องทางการเขียน แต่ก็ใช่ว่าคนที่ลายมือเรียบร้อย สวยงาม อ่านง่าย จะไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้เลย เพราะนอกจากเรื่องลายมือแล้ว เด็กที่เป็นโรคดิสกราเฟียมักจะมีอาการหรือสัญญาณเหล่านี้ด้วย

  • สะกดคำผิดเป็นประจำ
  • เรียงลำดับตัวอักษรผิด
  • เขียนหนังสือติดกันเป็นพรืด หรือเว้นวรรคไม่ค่อยถูก
  • หากเป็นภาษาอังกฤษ อาจเขียนตัวพิมพ์และตัวเขียนผสมกัน
  • เขียนช้า หรือต้องพยายามอย่างมาก หรือเขียนไม่จบคำ ไม่จบประโยค
  • มักมีท่าเขียนหนังสือที่แตกต่างจากคนอื่น
  • จับปากกาหรือดินสอแน่นมากจนมือเป็นตะคริว และปวดมือ
  • เวลาจะเขียนอะไรต้องพูดคำนั้นออกมาดัง ๆ ด้วย
  • มักจะเขียน ๆ ลบ ๆ
  • มีปัญหากับการใช้พื้นที่ในหน้ากระดาษ เช่น เขียนกระจุกอยู่มุมใดมุมหนึ่ง
  • ถ่ายทอดความคิดลงบนกระดาษไม่ได้ คือ คิดไปเขียนไปไม่ได้ จึงมักมีปัญหาในการจดโน้ต หรือการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เช่น เขียนเรื่องตามจินตนาการ เขียนเรื่องจากภาพ
  • ไม่ชอบเขียน หรือวาดรูป และมักจะเหนื่อยหรือถอดใจง่าย ๆ เวลาทำกิจกรรมเหล่านี้
  • ชอบมองคนอื่นเขียน หรือพิมพ์

วิธีรักษา และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางการเขียน

ผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางการเขียนอาจมีพัฒนาการการเรียนรู้ดีขึ้นได้ด้วยกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) เช่น

  • การฝึกจับดินสอหรือปากกาวิธีใหม่ เพื่อช่วยให้เขียนง่ายขึ้น
  • เล่นเกมฝึกหาตัวอักษรในกล่อง ช่วยในการฝึกจัดเรียงคำ
  • ฝึกกล้ามเนื้อมือด้วยการปั้นดินน้ำมัน หรือดินปั้น
  • เล่นเกมลากเส้นหาทางออกจากเขาวงกต
  • เล่นเกมลากเส้นต่อจุด

ทั้งนี้ คุณหมอหรือนักบำบัดอาจให้เด็กเข้าโปรแกรมฝึกเขียน เพื่อช่วยให้ฝึกคัดตัวหนังสือแบบบรรจงมากขึ้น ช่วยให้อ่านง่ายขึ้น หรือหากเด็กมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น คุณหมอต้องจ่ายยาให้มารับประทานร่วมด้วยเพื่อรักษาอาการ

นอกจากการรักษากับคุณหมอและนักบำบัดแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาและขอความร่วมมือกับทางโรงเรียนด้วย เพื่อที่คุณครูจะได้เตรียมรูปแบบการสอน หรือการเรียนรู้ได้เหมาะสมกับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเขียน เช่น

  • ให้เด็กบันทึกการสอนด้วยวิธีอื่นแทนการจดโน้ต เช่น บันทึกวิดีโอ บันทึกเสียง
  • ให้เด็กสอบพูดแทนสอบเขียน
  • ให้เด็กส่งการบ้านในรูปแบบวิดีโอหรือบันทึกเสียง แทนงานเขียน
  • เพิ่มเวลาในการทำข้อสอบ หรือทำการบ้าน
  • ให้เด็กจดโน้ตในกระดาษมีเส้น หรือกระดาษกราฟ เพื่อฝึกให้การเขียนมีระเบียบ
  • ให้เด็กได้ลองใช้ดินสอหรือปากกาหลาย ๆ แบบ จนกว่าจะเจออุปกรณ์ที่ช่วยให้เขียนได้ดีขึ้นมากที่สุด

สำหรับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเขียน คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ถือว่าเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยส่งเสริมและให้กำลังใจเด็กอยู่เสมอ ควรทำความเข้าใจและให้เวลาเมื่อเด็กเรียนรู้หรือเขียนได้ช้า ไม่ควรดุหรือลงโทษด้วยวิธีที่ผิด ๆ เพราะอาจทำให้มีปัญหาในการเรียนรู้หนักกว่าเดิม หรือนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ด้วย ควรใช้วิธีการพูดให้กำลังใจแทน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Learning disorders: Know the signs, how to help. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/learning-disorders/art-20046105. Accessed November 23, 2022.

What Is Dysgraphia? What Should I Do If My Child Has It?. https://www.webmd.com/add-adhd/childhood-adhd/dysgraphia-facts#1. Accessed November 23, 2022.

Dysgraphia. https://ldaamerica.org/types-of-learning-disabilities/dysgraphia/. Accessed November 23, 2022.

What Is Dysgraphia?. http://www.ldonline.org/article/12770/. Accessed November 23, 2022.

Dysgraphia: What You Need to Know. https://www.understood.org/en/learning-thinking-differences/child-learning-disabilities/dysgraphia/understanding-dysgraphia. Accessed November 23, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/11/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เช็คให้ชัวร์ ลูกขี้เกียจไปโรงเรียน หรือว่าเป็น โรคกลัวโรงเรียน

เด็กควรเรียนกี่ชั่วโมง จึงจะเหมาะสม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา