โรคสมาธิสั้น เป็นโรคบกพร่องทางพฤติกรรม เกิดจากสมองส่วนที่ส่งผลต่อการควบคุมสมาธิและพฤติกรรม รวมถึงสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน และมักส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการปรับตัวเข้ากับเด็กในวัยเดียวกัน อาการเด็กสมาธิสั้น ที่พบทั่วไป เช่น อยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ จดจ่อกับอะไรไม่ได้นาน หากพบว่าเด็กมีอาการ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมวัยและควบคุมโรคสมาธิสั้นให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันน้อยที่สุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
โรคสมาธิสั้น คืออะไร
โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) เป็นโรคที่เกิดจากสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสมาธิ พฤติกรรมและการแสดงออกของเด็กผิดปกติ ส่งผลให้เด็กว่อกแว่ก ซนกว่าเด็กทั่วไป ขาดสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างทั้งที่บ้านและโรงเรียน โรคสมาธิสั้นมักได้รับการวินิจฉัยในช่วงอายุ 3-7 ปี และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ในเด็กผู้ชายมักพบว่ามีอาการอยู่ไม่นิ่งเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีอาการขาดสมาธิ และแสดงพฤติกรรมก่อกวนน้อยกว่า ซึ่งอาจทำให้เด็กผู้หญิงที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้รับการวินิจฉัยช้าเนื่องจากมีพฤติกรรมแสดงออกไม่เด่นชัดเท่าเด็กผู้ชาย
โดยทั่วไปโรคสมาธิสั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่บางกรณีก็อาจเป็นโรคสมาธิสั้นไปจนถึงเป็นผู้ใหญ่ และบางรายก็อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นตอนโต กลุ่มที่ยังคงมีอาการจนเข้าวันผู้ใหญ่อาจเกิดโรคร่วมอื่นๆ ตามมาได้เช่น โรคพฤติกรรมต่อต้านสังคม (antisocial personality disorder)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นในเด็ก อาจมีดังนี้
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสมาธิสั้น เสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากกว่าเด็กทั่วไป
- การคลอดก่อนกำหนด ความเสี่ยงในการเป็นโรคสมาธิอาจเพิ่มขึ้น หากเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์
- น้ำหนักตัวแรกเกิด ทารกที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์หรือน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม เสี่ยงเกิดโรคสมาธิสั้น และมีความผิดปกติทางระบบประสาทมากกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดคลอด เนื่องจากพัฒนาการทางสมองอาจยังไม่สมบูรณ์
อาการเด็กสมาธิสั้น เป็นอย่างไร
อาการเด็กสมาธิสั้น อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ๆ ได้ดังนี้
- อาการสมาธิสั้นหรือขาดสมาธิ (Inattention) เด็กจะมีปัญหาในการตั้งสมาธิ ไม่ค่อยจดจ่อ ไม่ตั้งใจฟังผู้อื่น อยู่เฉย ๆ ได้ไม่นาน มักเก็บรายละเอียดไม่ค่อยได้ หลงลืมเป็นประจำ ทำผิดพลาดบ่อยครั้ง ทักษะการจัดการเรื่องต่าง ๆ ไม่พัฒนาตามวัย ไม่สามารถทำงานหรือตั้งใจทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายได้จนสำเร็จ
- อาการอยู่ไม่นิ่งหรือไฮเปอร์ (Hyperactivity) เด็กจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง พูดมาก กระสับกระส่าย นั่งอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานานไม่ได้ ในเด็กเล็กอาจจะวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่ายอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย รบกวนผู้อื่นในเวลาที่ไม่เหมาะสม
- อาการขาดความยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) เด็กจะมีพฤติกรรมขาดสมาธิ กระสับกระส่าย ขัดจังหวะผู้อื่นบ่อยครั้ง มักลงมือทำก่อนจะไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ไม่สามารถรอคอยอะไรได้นาน มีทักษะทางสังคมต่ำ แสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
การรักษาโรคสมาธิสั้น
การกำหนดแผนการรักษาอาการเด็กสมาธิสั้นมักขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของเด็ก ประวัติสุขภาพ อายุ ความรุนแรงของอาการ เป็นต้น โดยวิธีรักษาที่ใช้ อาจมีดังนี้
- การใช้ยา ยารักษาโรคสมาธิสั้น เช่น เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) ลิสเดกซ์แอมเฟตามีน (Lisdexamfetamine) เด็กโตรแอมเฟตามีน (Dextroamphetamine) จะช่วยกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิ การให้ความสนใจ การคิด การตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรม ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แพทย์มักจะพิจารณาเริ่มยาในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ที่ยังควบคุมอาการไม่ได้แม้จะทำพฤติกรรมบำบัดแล้ว
- พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) การเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์อาจช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม รวมถึงทักษะด้านอื่น ๆ ที่อาจขาดหายไป เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยที่สุด
- มักเป็นวิธีการรักษาลำดับแรก
- การฝึกอบรมผู้ปกครอง การให้ผู้ปกครองเข้ารับการฝึกอบรมวิธีเลี้ยงดูเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น อาจช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจโรคที่เด็กเป็น สามารถรับมือกับพฤติกรรมของเด็ก และช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการเติบโตทั้งทางพัฒนาการและสุขภาพกายใจที่เหมาะสม
- การสนับสนุนจากทางโรงเรียน เช่น จัดที่นั่งใกล้ครูเพื่อให้ช่วยดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ฝากเพื่อนนักเรียนให้ช่วยดูแลเรื่องการเรียนและกิจกรรมในโรงเรียน ให้รางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม จะช่วยให้เด็กปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมภายในโรงเรียนได้ดีขึ้น
วิธีเลี้ยงเด็กสมาธิสั้น
วิธีเลี้ยงเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอย่างเหมาะสม อาจมีดังนี้
- กำหนดกิจวัตรประจำวันของเด็กอย่างมีแบบแผน มีตารางเวลาที่แน่นอน เพื่อช่วยให้เด็กสามารถควบคุมและจัดการกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างลื่นไหล
- ควรวางขอบเขตและให้เด็กทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสมและพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำให้ชัดเจน เพื่อให้เด็กเข้าใจและทำตามกฎระเบียบที่วางไว้ได้โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ พยายามยึดตามกฎที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอ หากทำดีก็ควรให้รางวัลหรือพูดชื่นชมเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากทำสิ่งที่เหมาะสมเสมอ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้รางวัลเป็นข้อต่อรองบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้เด็กสนใจแต่การได้รับรางวัลที่ต้องการ โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่ใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่
- หากต้องการให้เด็กทำกิจกรรมใด ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าเหตุใดถึงต้องทำ และให้คำแนะนำที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้เด็กทำตามคำแนะนำได้จนสำเร็จ
- หากต้องการให้เด็กปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น ควรมีแรงจูงใจและแรงกระตุ้นที่ช่วยให้เด็กอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อเด็กปรับพฤติกรรมได้แล้ว ควรส่งเสริมให้เด็กแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำ ๆ เพื่อปลูกฝังให้เป็นนิสัย
- หากเด็กเริ่มแสดงพฤติกรรมรบกวนผู้อื่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ตื่นเต้นเกินปกติ ให้เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กเท่าที่ทำได้ พยายามทำให้เด็กสงบลง และไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
- ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเต็มที่ แต่ไม่ควรนานเกินไป เนื่องจากเด็กอาจเริ่มหมดความใจ เริ่มควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ ทั้งนี้ ควรให้เด็กสมาธิสั้นได้เล่นกับเพื่อน ๆ ในเวลาที่เด็กอารมณ์ดี ไม่เหนื่อย อ่อนเพลีย หรือหิวจัด
- ให้เด็กออกกำลังกายและทำกิจกรรมทางกายบ่อย ๆ ในเวลากลางวัน เพราะการได้ใช้พลังงานมาก ๆ อาจช่วยให้เด็กสงบ และนอนหลับได้เต็มที่ในเวลากลางคืน
- พยายามให้เด็กเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมหรือในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน เพื่อให้เด็กรู้สึกรู้สึกคุ้นชินและปลอดภัย ลดความรู้สึกสับสนและลดปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ที่อาจทำให้อาการโรคสมาธิสั้นแย่ลงได้