backup og meta

โรคเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi Syndrome) สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    โรคเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi Syndrome) สาเหตุ อาการ และการรักษา

    โรคเพรเดอร์-วิลลี คือ โรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก ที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม เช่น มีความอยากอาหารมากผิดปกติ มีพัฒนาการที่ล่าช้า ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจทำการบำบัดเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้

    คำจัดกัดความ

    โรคเพรเดอร์-วิลลี คืออะไร

    โรคเพรเดอร์-วิลลี คือ โรคทางพันธุกรรมหายาก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ การเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ รวมถึงพฤติกรรม ที่อาจทำให้รู้สึกหิวอย่างต่อเนื่อง และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคตับ

    อาการ

    อาการของโรคเพรเดอร์-วิลลี

    อาการโรคเพรเดอร์-วิลลี อาจแตกต่างกันออกไปตามช่วงวัย โดยเริ่มตั้งแต่ทารกไปจนถึงผู้ใหญ่ ดังนี้

    อาการของโรคเพรเดอร์-วิลลีในทารก

    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้
    • ดวงตามีลักษณะเป็นวงรี คล้ายเมล็ดอัลมอนด์
    • ศีรษะ มือ และเท้ามีขนาดเล็ก
    • ริมฝีปากบางและคว่ำลง
    • รับประทานอาหารยาก
    • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ตื่นยาก ร้องไห้เสียงเบา
    • มีปัญหาการนอนหลับ
    • ระบบสืบพันธุ์ไม่พัฒนา เช่น องคชาต ถุงอัณฑะ คลิตอริสมีขนาดเล็ก

    อาการของโรคเพรเดอร์-วิลลีในเด็กและผู้ใหญ่

    • มีความอยากอาหารอย่างต่อเนื่อง
    • มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ล่าช้า
    • มีความบกพร่องด้านการรับรู้ การแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล และการคิดวิเคราะห์
    • ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ส่งผลให้เกิดอารมณ์เกรี้ยวกราด ฉุนเฉียว ดื้อรั้น
    • มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
    • นอนหลับยาก และอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
    • มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น สายตาสั้น ตาพร่ามัว
    • อุณหภูมิในร่างกายแปรปรวน เนื่องจากการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไม่ดี โดยเฉพาะในระหว่างที่เป็นไข้ หรืออยู่ในสภาพอากาศร้อนหรือเย็น

    สาเหตุ

    สาเหตุของโรคเพรเดอร์-วิลลี

    สาเหตุของโรคเพรเดอร์-วิลลี อาจเกิดจากความบกพร่องของโครโมโซมคู่ที่ 15 เช่น ยีนบางตัวที่ได้รับมาจากฝั่งพ่อหายไป หรือยีนที่ได้รับมาอาจมีความผิดปกติ จนอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ความหิว ความกระหายน้ำ ความเหนื่อยล้า และอารมณ์ ดังนั้น เมื่อการหลั่งฮอร์โมนไฮโปทาลามัสผิดปกติจึงอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ จิตใจ อารมณ์ การนอนหลับ และการรับประทานอาหารได้

    ภาวะแทรกซ้อน

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคเพรเดอร์-วิลลี

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคเพรเดอร์-วิลลี มีดังนี้

    • โรคอ้วน
    • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
    • ความดันโลหิต คอเลสเตอรอลสูง
    • โรคหัวใจ
    • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
    • โรคตับ
    • นิ่วในถุงน้ำดี
    • โรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย
    • เป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้
    • ท้องโตผิดปกติ ที่อาจเกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป

    การวินิจฉัยและการรักษา

    การวินิจฉัยโรคเพรเดอร์-วิลลี

    คุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างเลือด และทำการทดสอบทางพันธุกรรมเพื่อตรวจสอบว่าโครโมโซมมีความผิดปกติที่บ่งบอกว่าเสี่ยงเป็นโรคเพรเดอร์-วิลลีหรือไม่

    การรักษาโรคเพรเดอร์-วิลลี

    โรคเพรเดอร์-วิลลีไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

    • การรับประทานอาหารตามที่คุณหมอแนะนำ ทารกที่เป็นโรคเพรเดอร์-วิลลี อาจมีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ คุณหมอจึงอาจแนะนำให้รับประทานอาหารสูตรที่มีแคลอรี่สูง เพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับทารก
    • การบำบัดด้วยฮอร์โมนการเจริญเติบโต (HGH) เด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเพรเดอร์-วิลลี มักมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต คุณหมอจึงอาจทำการรักษาด้วยการฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตเพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต ปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อ และอาจช่วยลดไขมันในร่างกาย
    • การบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศ คุณหมออาจบำบัดด้วยการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนสำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนเพศต่ำ ซึ่งอาจเริ่มทำได้ตั้งแต่ช่วงวัยแรกรุ่น
    • การควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคเพรเดอร์-วิลลี อาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างต่อเนื่อง จึงอาจส่งผลให้มีน้ำหนักเกินได้ ดังนั้น คุณหมอจึงอาจแนะนำวิธีควบคุมน้ำหนัก เพื่อช่วยป้องกันน้ำหนักเกิน โดยอาจจำกัดแคลอรี่ และเสริมวิตามินและแร่ธาตุ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน รวมถึงแนะนำการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
    • การดูแลสุขภาพจิต โรคเพรเดอร์-วิลลี อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ ดังนั้น จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการบำบัดจากคุณหมอด้านสุขภาพจิต เพื่อช่วยแก้ปัญหาสำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ อารมณ์แปรปรวน หรือวิตกกังวล
    • การบำบัดอื่น ๆ เช่น การเรียนรู้ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเคลื่อนไหว การคิดวิเคราะห์ และการประกอบอาชีพ ที่อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาการและส่งเสริมให้เด็กสามารถประกอบอาชีพ เอาตัวรอด และเข้าสังคมกับบุคคลอื่น ๆ ได้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเพรเดอร์-วิลลี

    วิธีบรรเทาอาการโรคเพรเดอร์-วิลลี อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารตามแผนที่คุณหมอกำหนด
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอนัดหมาย
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ

    สำหรับคุณแม่ที่มีบุตรคนแรกเป็นโรคเพรเดอร์-วิลลีและต้องการจะมีลูกคนที่ 2 อาจจำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงว่าบุตรอีกคนหนึ่งจะเสี่ยงเป็นโรคเพรเดอร์-วิลลีด้วยหรือไม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา