ลูกท้องผูก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็น เด็กอาจถ่ายอุจจาระไม่ออก อุจจาระมีลักษณะแข็งหรือแห้ง ทำให้เวลาถ่ายอุจจาระแต่ละทีต้องใช้เวลานาน หรือต้องพยายามเบ่งจนเหนื่อย โดยส่วนใหญ่ลูกท้องผูกเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เและเป็นปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือได้ แต่ไม่ควรปล่อยไว้นานเกินไป หากเป็นบ่อยครั้งควรรีปปรึกษาแพทย์
อาการแบบไหนที่ถือว่า ลูกท้องผูก
การขับถ่ายของเด็กแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่หากการขับถ่ายอุจจาระของลูกคุณ มีลักษณะเหล่านี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า “ลูกท้องผูก” เข้าแล้ว
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อุจจาระแข็ง แห้ง และถ่ายอุจจาระยาก
- อุจจาระก้อนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการขับถ่าย
- มีอาการเจ็บปวดขณะขับถ่าย
- มีอาการปวดท้อง
- อุจจาระเหลวหรือมีลักษณะคล้ายดินเหนียว
- อุจจาระแข็งและมีเลือดปน
ทำไมเด็กถึงท้องผูก
อาการท้องผูกในเด็กอาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้
- อั้นอุจจาระ เด็กๆ อาจไม่สนใจการขับถ่าย เนื่องจากพวกเขาอาจกลัวการเข้าห้องน้ำ หรือติดเล่นจนไม่อยากไปเข้าห้องน้ำ ทำให้เด็กบางคนอาจอั้นอุจจาระ จนเป็นเหตุให้เกิดอาการท้องผูก
- อาหาร เมื่อเด็กกินอาหารที่มีไฟเบอร์อย่างผักและผลไม้ไม่เพียงพอ รวมถึงดื่มน้ำน้อย ก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกในเด็กได้
- การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น การไปท่องเที่ยว อาจส่งผลกระทบต่อเวลาในการขับถ่ายของลูก จนทำให้ลูกท้องผูกได้
- ยาบางชนิด ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
- การแพ้นมวัว การแพ้นมวัวหรือการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัวมากเกินไปอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการท้องผูก
- ปัญหาสุขภาพ อาการท้องผูกสามารถบ่งบอกได้ว่า เด็กๆอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร หรือมีโรคอื่น ๆ แต่อาการท้องผูกเนื่องจากการเป็นโรคเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย
วิธีบรรเทาอาการ ลูกท้องผูก ที่พ่อแม่ช่วยได้
1. รับประทานอาหารไฟเบอร์สูง
คุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มผักและผลไม้ในมื้ออาหารให้ลูก ๆ เพื่อให้ได้รับไฟเบอร์อย่างน้อย 3-5 กรัม นอกจากนี้ ยังสามารถให้ลูกกินอาหารเช้าซีเรียลไฟเบอร์สูง ขนมปังธัญพืช และถั่วชนิดต่าง ๆ เนื่องจากอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์เหล่านี้ จะช่วยให้อุจจาระของเด็ก ๆ นุ่มและพองขึ้น จึงช่วยให้ขับถ่ายได้ง่าย โดยเด็กๆ ควรได้รับไฟเบอร์ 14 กรัม จากการกินอาหาร 1,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน
ส่วนปริมาณไฟเบอร์ที่ควรได้รับต่อวันในแต่ละวัยนั้น คือ
- วัยเด็กควรได้รับไฟเบอร์ 20 กรัมต่อวัน
- วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เพศหญิง ควรได้รับไฟเบอร์ 29 กรัมต่อวัน
- ส่วนวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เพศชาย ควรได้รับไฟเบอร์ 38 กรัมต่อวัน
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูก ๆ กินอาหารไฟเบอร์สูง เช่น ถั่ว ธัญพืช ผักและผลไม้ แต่ควรค่อย ๆ เริ่มต้นและอาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในมื้ออาหาร เพราะเด็ก ๆ บางคนอาจไม่คุ้นเคยกับการกินอาหารไฟเบอร์สูง
2. ดื่มน้ำให้มาก
หากเด็ก ๆ กินอาหารที่ไฟเบอร์สูง แต่ยังขับถ่ายได้ไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ รวมถึงจำกัดปริมาณน้ำหวานด้วย เด็กเล็กไม่ควรดื่มน้ำหวานเกิน 4 ออนซ์ (118.3 มิลลิลิตร) ต่อวัน ส่วนเด็กวัยเรียนไม่ควรดื่มน้ำหวานเกิน 6-8 ออนซ์ (177-236 มิลลิลิตร) ต่อวัน เมื่อเด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยให้อุจจาระของเด็กๆ นุ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการขับถ่าย
ข้อควรระวัง คือ การดื่มนมอาจทำให้เด็ก ๆ บางคงอาจมีอาการท้องผูก ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กดื่มนมในปริมาณที่มากจนเกินไป
3. ขับถ่ายให้เป็นเวลา
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กเข้าห้องน้ำเป็นอย่างแรกในตอนเช้า และควรเข้าห้องน้ำหลังจากกินอาหาร 5-10 นาทีในแต่ละมื้ออาหาร โดยควรให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลาจนเป็นนิสัย
4. ให้ลูกออกกำลังกาย
คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกทำกิจกรรม เคลื่อนไหวร่างกายบ้าง จะพาลูกออกไปเดิน วิ่ง ชวนลูกเล่นกีฬา หรือให้เขาเล่นนอกบ้านบ้างก็ได้ การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำจะช่วยทำให้อาการท้องผูกดีขึ้นได้
5. ตรวจสอบยาของลูก
ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก จึงควรปรึกษาแพทย์หากลูกท้องผูกเนื่องจากกินยารักษาโรค
6. ใช้ตัวช่วย
หากเด็กได้รับไฟเบอร์จากอาหารแต่ละมื้อไม่เพียงพอ คุณหมออาจให้กินอาหารเสริมไฟเบอร์ แต่อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ จำเป็นต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 1 ลิตรต่อวันเพื่อให้อาหารเสริมไฟเบอร์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คุณหมออาจให้เด็กกินยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม (Stool Softener) เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก โดยคุณหมอจะจ่ายยาที่เหมาะกับอายุและน้ำหนักของเด็ก
เมื่อไหร่ควรไปหาคุณหมอ
ปกติหาก ลูกท้องผูก มักไม่เป็นอันตราย แต่อย่างไรก็ตาม หากเด็ก ๆ มีอาการท้องผูกรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ดังนั้นหากลูกท้องผูกนานกว่า 2 สัปดาห์ และมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
- เป็นไข้
- อาเจียน
- มีเลือดในอุจจาระ
- ท้องบวม
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- แผลรอยแยกขอบทวารหนัก (anal fissures)
- ภาวะลำไส้ตรงยื่นออกมาทางช่องทวารหนัก (rectal prolapse)
[embed-health-tool-vaccination-tool]