มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก (Childhood Leukemia) คือ ภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติถูกสร้างขึ้นแต่ไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องร่างกายได้ เนื่องจากมีข้อบกพร่อง
คำจำกัดความ
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก (Childhood Leukemia) คืออะไร
คำว่า ลูคีเมีย (leukemia) หมายถึง มะเร็งในเซลล์เม็ดเลือดขาว (หรือเรียกอีกอย่างว่าลูโคไซต์ (leukocytes) หรือ white blood cells: WBCs) เมื่อเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติจำนวนมากจะถูกสร้างขึ้นมาจากไขกระดูก (bone marrow) เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติเหล่านี้ จะรวมตัวกันที่ไขกระดูก และกระจายตัวไปในกระแสเลือด แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ที่เหมาะสม ในการปกป้องร่างกายจากโรค เนื่องจากมีข้อบกพร่อง
เมื่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอาการเพิ่มมากขึ้น มะเร็งจะเข้าแทรกแซงการสร้างเม็ดเลือดประเภทอื่นๆ ของร่างกาย ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจาง (จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ) และภาวะเลือดออก นอกเหนือจากความเสี่ยงที่มากขึ้นในการติดเชื้อ ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาว (white cell abnormalities)
โดยทั่วไปแล้ว โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจำแนกได้เป็นชนิดฉับพลัน (เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว) และชนิดเรื้อรัง (เกิดขึ้นอย่างช้าๆ) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มักเป็นชนิดฉับพลัน
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กชนิดฉับพลัน ยังแบ่งออกเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (acute lymphoblastic leukemia: ALL) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (acute myeloid leukemia: AML) โดยขึ้นอยู่กับว่า มีความเกี่ยวข้องกับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่าลิมโฟไซต์ (lymphyocytes) หรือมัยอีโลไซต์ (myelocytes) ซึ่งสัมพันธ์กับภูมิคุ้มกัน
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก พบได้บ่อยเพียงใด
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในเด็กและวัยรุ่น คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งที่มีอัตราการเกิดสูงสุด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (ALL) ผู้ป่วยส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (AML) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังพบได้น้อยในเด็ก โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของ มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มีอะไรบ้าง
อาการของ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ที่พบได้ทั่วไป มีดังต่อไปนี้
เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู่กับเชื้อโรค เกิดความบกพร่อง เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ได้มากกว่าปกติ นอกจากนี้ เด็กยังอาจมีภาวะเลือดจางได้อีก เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวส่งผลต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนของไขกระดูก ทำให้เด็กมีอาการตัวซีด และอาจรู้สึกเหนื่อย และหายใจได้สั้นในขณะเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ
เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจมีบาดแผลและเลือดออกได้ง่ายมาก มีภาวะเลือดกำเดาไหลบ่อย หรือมีเลือดออกเป็นเวลานานอย่างผิดปกติ จากบาดแผลเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวทำลายความสามารถของไขกระดูกในการสร้างเกล็ดเลือดที่ทำให้เลือดแข็งตัว
อาการของ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก อื่น ๆ มีดังต่อไปนี้
- อาการปวดในกระดูกหรือข้อต่อ ในบางครั้งทำให้เดินไม่สะดวก
- ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอ ขาหนีบ หรือในบริเวณอื่น
- ความรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ
- มีความอยากอาหารน้อย
- มีอาการไข้โดยไม่มีอาการอื่น ๆ
- ปวดในช่องท้อง (เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติ ก่อตัวขึ้นในอวัยวะ เช่น ไต ตับ หรือม้าม)
ในบางครั้ง การแพร่กระจายของมะเร็งเม็ดเลือดขาวไปยังสมอง สามารถก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาการชัก การเสียการทรงตัว หรือการมองเห็นผิดปกติ หากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (ALL) แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองภายในหน้าอก เซลล์จำนวนมากขึ้นอาจไปรวมตัวที่หลอดลมและเส้นเลือดที่สำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะหายใจลำบาก และอาจไปขัดขวางกระแสเลือดที่ไปยังหัวใจ และมาจากหัวใจ
อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
หากคุณมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก เกิดจากอะไร
แพทย์ไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุของ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่แตกต่างกันไปจึงเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคดังกล่าว แต่ส่วนมากมักจะพบว่าเกิดจากพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงสำหรับ มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก หลายประการ เช่น
- อาการผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด เช่น กลุ่มอาการ Li-Fraumeni กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) หรือกลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter syndrome)
- โรคทางภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด เช่น โรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานและหลอดเลือดฝอยพอง (ataxia telangiectasia)
- พี่หรือน้องที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะแฝดเหมือน
- มีประวัติสัมผัสกับการรังสีในระดับสูง การบำบัดด้วยคีโม หรือ สารเคมีต่างๆ เช่น เบนซีน (ตัวทำละลาย) ในปริมาณมาก
- มีประวัติเกี่ยวกับการกดภูมิคุ้มกัน (immune system suppression) เช่น สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
เพื่อวินิจฉัย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก แพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพโดยละเอียด และตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายใช้เพื่อวินิจฉัย พร้อมทั้งจำแนกประเภทของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
การตรวจร่างกายในเบื้องต้นประกอบด้วย
- การตรวจเลือดเพื่อวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดและดูว่าปรากฏตัวอย่างไร
- การดูดไขกระดูกและการตัดเนื้อออกตรวจ ซึ่งมักนำมาจากกระดูกเชิงกราน เพื่อยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวภายในของเหลวที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง
พยาธิแพทย์ตรวจสอบเซลล์จากการตรวจเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนี้จะตรวจสอบตัวอย่างไขกระดูกเพื่อหาจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดและเซลล์ไขมัน
การตรวจประเภทอื่นๆ อาจดำเนินการเพื่อระบุว่า เด็กเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทใด การตรวจดังกล่าวนี้ยังช่วยให้แพทย์ทราบว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่มะเร็งเม็ดเลือดขาวจะตอบสนองต่อการรักษา
อาจต้องมีการตรวจซ้ำบางประการต่อไปเพื่อดูว่า ผู้ป่วยเด็กตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษาลูกของคุณ หรือสมาชิกในทีมที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างเปิดใจ เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับลูกของคุณ การรักษามักขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ
อัตราการรอดชีวิตสำหรับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก หลายประเภท ส่วนใหญ่ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการรักษา ได้มากกว่ามะเร็งในผู้ใหญ่ และร่างกายของเด็กสามารถทนต่อการรักษาได้มากกว่า
ก่อนเริ่มต้นรักษา ในบางครั้งเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อบ่งชี้ภาวะแทรกซ้อนจากโรค ตัวอย่างเช่น ความเปลี่ยนแปลงในเซลล์เม็ดเลือดสามารถ ก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อ หรือภาวะเลือดออกรุนแรง และอาจส่งผลต่อปริมาณออกซิเจนที่ลำเลียงไปยังเนื้อเยื่อของร่างกาย การรักษาอาจใช้ยาปฏิชีวนะ การถ่ายเลือด (blood transfusions) หรือวิธีอื่นๆ เพื่อต้านการติดเชื้อ
การทำคีโมบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ลูกของคุณจะได้รับยาต้านมะเร็ง โดยให้รับประทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือดหรือไขสันหลัง เพื่อป้องการการเกิดโรคซ้ำ อาจการบำบัดเพื่อควบคุมอาการเป็นรอบๆ มีในช่วงระยะเวลา 2 หรือ 3 ปี
ในบางครั้ง สามารถใช้การรักษาเฉพาะบริเวณได้ด้วยเช่นกัน วิธีการรักษาดังกล่าวนี้ใช้ ในบริเวณเฉพาะที่มีเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีกระบวนการแตกต่างจากการทำคีโมบำบัดทั่วไป ด้วยการรักษาที่ได้ผลสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กบางชนิด การรักษาเฉพาะบริเวณมักมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า
วิธีการรักษาประเภทอื่นๆ ได้แก่ การฉายแสง เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และทำให้ก้อนเนื้อหดตัว นอกจากนี้ยังสามารถช่วยป้องกัน หรือรักษาการแพร่กระจายของมะเร็งเม็ดเลือดขาวไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ที่ใช้ไม่แพร่หลาย
หากการรักษาโดยทั่วไปมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพต่ำ วิธีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่สร้างเม็ดเลือด ภายหลังจากการฉายแสงทั่วร่างกาย ร่วมกับการทำคีโมบำบัดในปริมาณสูงในเบื้องต้น เพื่อทำลายไขกระดูกของผู้ป่วยเด็ก
องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้อนุมัติการรักษาด้วยวิธียีนบำบัด (gene therapy) สำหรับเด็ก และวัยรุ่นที่อายุถึง 25 ปี ที่ B-cell สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (ALL) ไม่ดีขึ้น เมื่อรักษาด้วยวิธีการรักษาอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์กำลังดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษาดังกล่าวนี้ สำหรับผู้ป่วยอายุเกิน 25 ปี และสำหรับมะเร็งชนิดอื่นๆ
วิธีการรักษาแบบ CAR T-cell therapy ใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ที่เรียกว่า T cells เพื่อรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะนำเซลล์ดังกล่าวออกมาจากเลือด และเปลี่ยนสภาพโดยเพิ่มยีนเข้าไปใหม่ โดย T cells ใหม่จะทำหน้าที่ได้ดีในการตรวจจับและฆ่าเซลล์มะเร็ง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อรับมือกับ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ที่เหมาะสม พบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มีโอกาสที่จะหายเป็นปกติสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งสำคัญคือครอบครัว เพื่อนๆ และคนใกล้ชิดของเด็กๆ ควรจะต้องให้กำลังใจและสนับสนุนเด็ก เพื่อสร้างกำลังใจของเด็กให้เข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี มีโอกาสที่จะหายเป็นปกติ
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้ดีขึ้น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]