backup og meta

7 พฤติกรรมป้องกันมะเร็ง ทำได้ง่าย ห่างไกลโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/03/2021

    7 พฤติกรรมป้องกันมะเร็ง ทำได้ง่าย ห่างไกลโรค

    หนึ่งในโรคภัยไข้เจ็บที่อันตรายถึงชีวิตนั่นก็คือ โรคมะเร็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้ตัว และเมื่อรู้ตัวก็อาจจะเข้าสู่การเป็นมะเร็งในระยะที่รุนแรงจนเกินจะเยียวยา ดังนั้น Hello คุณหมอ จึงมี 7 พฤติกรรมป้องกันมะเร็ง ที่นอกจากจะช่วยให้ห่างไกลจากมะเร็งแล้ว ก็ยังทำให้มีสุขภาพดีมาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ

    พฤติกรรมการใช้ชีวิตกับโรคมะเร็ง

    มะเร็ง คือ เซลล์ที่มีการแบ่งตัวแบบผิดปกติในร่างกายของคนเรา และเซลล์ที่มีการแบ่งตัวแบบผิดปกตินี้ก็จะเริ่มไปคุกคามเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย และแพร่กระจายไปยังเซลล์ต่างๆ ผ่านระบบเลือดและน้ำเหลือง ซึ่ง โรคมะเร็ง นั้นมีด้วยกันกว่า 100 ชนิด ที่แตกต่างกันออกไป เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง เช่น การได้รับสารเคมีบางชนิด  ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยง รวมถึงปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่าง อายุ ประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว ปัจจัยที่แตกต่างกันไปนี้ ก็มีส่วนในการเพิ่มโอกาสของการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน 

    พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงจะทำให้เป็นมะเร็งนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น 

  • การสูบบุหรี่
  • การสัมผัสกับแสงอาทิตย์
  • การได้รับรังสี
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง
  • การเป็นโรคอ้วน
  • การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ
  • การมีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
  • และพฤติกรรมอื่น ๆ 
  • ดังนั้น หากต้องการมีชีวิตที่ห่างไกลจากมะเร็ง การเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบสุขภาพดีด้วยตัวเอง จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถทำได้ทันที

    7 พฤติกรรมป้องกันมะเร็ง ที่เริ่มได้ด้วยตัวคุณเอง

    การเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น นอกจากจะช่วยลดโอกาสของการเป็น โรคมะเร็ง แล้ว ก็ยังช่วยให้สุขภาพดี และลดโอกาสที่จะมีความเสี่ยงของโรคเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย โดยทุกคนสามารถเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองง่าย ๆ ดังนี้

    1.ลาขาดจากบุหรี่

    การสูบบุหรี่ เสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งปอด รวมถึงยังอาจมีแนวโน้มที่เซลล์มะเร็งจะมีผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ใหญ่ ปาก คอ หลอดอาหาร เต้านม ปากมดลูก และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งไม่เพียงแต่การสูบบุหรี่เท่านั้นที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็ง เพราะผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ต้องสัมผัสและสูดดมควันบุหรี่จากคนใกล้ตัว ก็เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งในระบบทางเดินหายใจด้วยเช่นกัน

    2.ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด

    รังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดดเป็นตัวการที่ทำร้ายผิวให้เสีย แต่แน่นอนว่าแสงแดดไม่ได้ทำร้ายแค่เพียงผิวพรรณเท่านั้น แต่การได้รับรังสีจากแสงแดดมากจนเกินไป เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้น ก่อนออกจากบ้านหรือไปที่ไหนก็ตาม โปรดมั่นใจว่ามีการปกป้องผิวหนังอย่างเพียงพอ ทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่กันรังสียูวี รวมถึงพกอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดไว้เสมอด้วย

    3.ใส่ใจกับอาหารการกิน

    “You are what you eat” กินเช่นไรก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่ดี ไม่มีสารก่อมะเร็ง ก็จะช่วยให้มีสุขภาพดี และห่างไกลจาก โรคมะเร็ง ได้ 

    • เพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ให้มากขึ้น 
    • หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ลงบ้าง แต่ไม่ต้องถึงกับงด 
    • เลือกรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์โดยตรงต่อร่างกาย 
    • หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง เช่น อาหารปิ้ง ย่าง หรือทอด 
    • ข้อสำคัญคือ เลือกซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารจากแหล่งของวัตถุดิบทั้งพืชและเนื้อสัตว์ที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการแปรรูปแบบผิดวิธี หรือปนเปื้อนไปด้วยสารพิษและสารเคมี
    • งดแอลกอฮอล์

    4.อย่ามองข้ามการออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายเป็นประจำแน่นอนว่าช่วยให้สุขภาพดี และที่สำคัญยังช่วยลดโอกาสในการเป็น โรคมะเร็ง ได้อีกด้วย การไม่ค่อยออกกำลังกาย อาจมีผลต่อเรื่องของน้ำหนักตัว หรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ภาวะของโรคอ้วน ร่างกายจะพ่วงมาด้วยความเสี่ยงของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ รวมถึงโรคมะเร็งอย่าง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งตับอ่อนอีกด้วย

    ดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเรื้อรังต่างๆ และโรคมะเร็ง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกกำลังกายเพื่อรักษารูปร่างและเพื่อให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นสภาวะทางสุขภาพที่เสี่ยงต่อการเป็นโรครุมเร้าต่าง ๆ

    5.มีเซ็กส์ที่ปลอดภัย

    การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีการป้องกันอย่างเหมาะสมและถูกวิธี เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยลดโอกาสในการเป็น โรคมะเร็ง ได้ เพราะการมีเซ็กส์ที่ไม่ป้องกัน หรือไม่ปลอดภัย อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อไวรัสที่ชื่อ Human Papillomavirus หรือเชื้อHPV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่จะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นอีกสาเหตุของมะเร็งด้วย โดยมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อHPV ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งในช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก  มะเร็งช่องปาก มะเร็งในลำคอ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคมะเร็ง จึงควรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยขณะมีเซ็กส์ทุกครั้ง

    6.ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

    ไม่ว่าปัญหาสุขภาพใด ๆ ก็ตาม หากรู้เร็ว ย่อมรักษาได้เร็ว ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีทุก ๆ 6 เดือน จึงเป็นเรื่องสำคัญ การตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ รวมถึง โรคมะเร็ง การแจ้งประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวต่อคุณหมอ จะช่วยให้ผลการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้เร็ว แม่นยำ และสามารถที่จะหาทางรับมือหรือป้องกันล่วงหน้า เพื่อลดโอกาสที่จะเข้าสู่ระยะรุนแรงของโรคเรื้อรังได้

    7.ฉีดวัคซีนเป็นเรื่องจำเป็น

    นอกจากการไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอแล้ว การรับวัคซีนก็เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน โดยวัคซีนที่ควรได้รับ ได้แก่

    • วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เนื่องจากไวรัสตับอักเสบ บี สามารถเพิ่มความเสี่ยงของ โรคมะเร็ง ได้ การได้รับวัคซีนดังกล่าว จึงช่วยป้องกันทั้งโรคไวรัสตับอักเสบ บี และโรคมะเร็ง
    • วัคซีน HPV หรือที่รู้จักกันในชื่อ วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก วัคซีนดังกล่าวจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสHPV หรือ เชื้อ Human papillomavirus ที่ร่างกายเสี่ยงจะได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันและไม่ปลอดภัย ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าว เสี่ยงที่จะทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ไปจนถึงมะเร็งผิวหนัง

    การป้องกันมะเร็ง เริ่มได้ในง่ายๆ ที่ตัวเรา ปรับเปลี่ยน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมและพฤติกรรมที่เสี่ยงจะทำให้สุขภาพแย่ เพื่อที่จะได้ห่างไกลจากโรคร้าย และมีสุขภาพที่ดีไปนาน ๆ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา