คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจมีความกังวลเมื่อ ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ ตามร่างกาย ซึ่งอาการผื่นเม็ดเล็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นอันตรายก็ได้ ทั้งนี้ หากลูกมีอาการผื่นร่วมกับไข้ เจ็บปวด ไม่สบายตัว อ่อนแรง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษา
[embed-health-tool-child-growth-chart]
ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง
ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ เป็นปัญหาสภาพผิวที่พบได้บ่อยในทารกและเด็ก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
ผิวหนังอักเสบ
- ผื่นผ้าอ้อม พบไ้ด้บ่อยในทารก ซึ่งเกิดขึ้นจากความชื้นบริเวณผ้าอ้อมทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการเจริญเติบโตของเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการผื่นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายผด แสบและคัน
- ผื่นไขมัน ไขบนหัวทารก หรือต่อมไขมันอักเสบ (Cradle Cap) อาจเกิดจากหนังศีรษะของทารกผลิตน้ำมันมากเกินไป ทำให้ผิวหนังเป็นสะเก็ดสีเหลืองล้อมรอบด้วยผื่นแดงบนหนังศีรษะ
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สภาพอากาศ การติดเชื้อ ผิวแห้ง ทำให้มีอาการระคายเคือง ผิวแห้ง คัน และแดง
- โรคผื่นผิวหนังจากการสัมผัส (Contact Dermatitis) เกิดขึ้นเมื่อเด็กมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองผ่านการสัมผัส เช่น น้ำหอม สบู่ น้ำยาทำความสะอาด ทำให้มีอาการผื่นแดงเม็ดเล็ก ๆ คัน เจ็บปวด
การติดเชื้อแบคทีเรีย
- ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus Group A) ทำให้มีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีผื่นแดงที่คอและหน้าอก โดยผื่นจะมีลักษณะหยาบคล้ายกระดาษทรายอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และอาจมีอาการคล้ายไหม้แดดร่วมด้วย
- แผลพุพองจากการติดเชื้อ (Impetigo) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่อาจพบได้บ่อยในเด็กอายุ 2-5 ปี โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ ทำให้เกิดแผลพุพอง ตุ่มแดง และสะเก็ด โดยส่วนใหญ่มักพบบริเวณปากและจมูกของเด็ก หรือบริเวณที่เกิดการระคายเคืองซ้ำ ๆ
การติดเชื้อไวรัส
- โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นรอบปาก ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นอาจกลายเป็นตุ่มหรือแผลพุพองบนผิวหนังและในปาก จนอาจทำให้มีอาการเจ็บปวดมากจนรับประทานอาหารและน้ำไม่ได้
- โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ทำให้เกิดผื่นบนใบหน้า หน้าอก และหลังของเด็ก หรืออาจลามไปทั่วร่างกาย โดยผื่นจะคันมาก กลายเป็นตุ่มน้ำ จากนั้นจะกลายเป็นแผลพุพองและตกสะเก็ด ซึ่งมักจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์
- โรคฟิฟธ์ (Fifth Disease) เกิดจากการติดเชื้อพาโวไวรัส บี 19 (Parvovirus B19) ทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นที่แก้มและมีไข้
- ส่าไข้ หรือหัดกุหลาบ (Roseola Infantum หรือ Exanthem Subitum) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 (Human Herpesvirus Type 6 หรือ HHV-6) ทำให้มีอาการไข้สูง ผื่นสีชมพูเป็นจุด ๆ บริเวณหน้าอก ท้อง ต้นแขนหรือคอของทารก โดยผื่นจะขึ้นหลังจากไข้เริ่มลง อาจเกิดขึ้นยาวนานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นจะจางหายไป
- โรคหัด เกิดจากการติดเชื้อมอร์บิลลิไวรัส (Morbillivirus) ทำให้เกิดผื่นที่ใบหน้า หลังหู รอบปาก หรือที่เยื่อบุช่องปาก แล้วกระจายออกไปตามแขนขา ซึ่งผื่นจะมีลักษณะเป็นจุดแดงแบน ๆ หรืออาจมีจุดสีขาวนูนเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นที่ด้านบนของจุดแดง โดยอาการอาจหายได้เองประมาณ 2 สัปดาห์
- โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) ทำให้เกิดผื่นแดงหรือชมพู โดยจะเริ่มขึ้นบนใบหน้าและลำคอ จากนั้นผื่นจะกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และคงอยู่ประมาณ 3 วัน
- โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตระกูลโมลลูสชิพอกซ์ จีนัส (Molluscipox Genus) ทำให้เกิดผื่นนูน สีเนื้อ สีชมพู หรือสีขาว โดยมีรอยบุ๋มตรงกลาง ไม่เจ็บปวด พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า หน้าอก ท้อง แขนและขาของเด็ก
การติดเชื้อรา
- โรคกลาก (Ringworm) อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อราที่พบได้บ่อยในทารก เด็กเล็ก และเด็กโต ทำให้ผิวมีลักษณะเป็นผื่นแดง เป็นรอยวงกลมหรือวงรี อาจมีอาการคัน เจ็บปวด อักเสบ และบวม
ผื่นจากการงอกของฟัน (Teething Rash)
ผื่นชนิดนี้มักเกิดขึ้นในทารกที่ฟันเริ่มขึ้น เนื่องจากน้ำลายไหลออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้ผิวหนังของทารกระคายเคืองและเกิดผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณแก้ม คอ ใบหน้า และหน้าอก หายเองได้เมื่อน้ำลายของทารกไม่ไหลออกมาเปื้อนบริเวณผิวหนังภายนอก อย่างไรก็ตาม หากลูกมีไข้ร่วมกับผื่นควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
ผื่นลมพิษ
ผื่นลมพิษมีลักษณะเป็นผื่นสีแดงหรือสีชมพูเกิดขึ้นบนผิวหนังของทารกและเด็ก อาจปรากฏเป็นจุดนูนเล็ก ๆ หรือเป็นรอยนูนขนาดใหญ่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งผื่นอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่ผื่นลมพิษอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส การแพ้อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว สภาพอากาศเย็น หรือความเครียด
วิธีดูแลผิวเด็กเพื่อไม่ให้ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ
การรักษาสุขภาพผิวของลูกอยู่เสมออาจช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ ได้ ดังนี้
- อาบน้ำเป็นประจำ การทำความสะอาดร่างกายของลูกทั้งเช้าและเย็น หรือมากกว่านั้นหากลูกเปื้อนสิ่งสกปรก ช่วยขจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ทำให้ลูกเกิดผื่นได้
- เช็ดผิวหนังให้แห้งเสมอ หลังจากอาบน้ำควรเช็ดผิวหนังให้แห้งสนิทโดยการซับ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ซอกคอ ขาหนีบ เพื่อป้องกันความอับชื้นที่อาจทำให้ผิวของลูกระคายเคืองและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เป็นสูตรอ่อนโยน เพื่อป้องกันอาการแพ้และความระคายเคืองที่อาจทำให้เกิดผื่นเม็ดเล็กๆ ได้
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น สบู่ อาหาร ครีมทาผิว เสื้อผ้าขนสัตว์ เพื่อป้องการอาการผื่นแพ้กำเริบ
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจมีแมลงอยู่มาก เพื่อป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อยที่อาจทำให้ลูกเกิดอาการแพ้ได้
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกออกนอกบ้านเวลาที่มีแสงแดดจัด เพราะแสงแดดอาจเป็นตัวการที่ทำให้ลูกเหงื่อออกมากและมีอาการผื่นแดงเกิดขึ้นตามผิวหนังได้
- หากลูกมีโรคผิวหนังควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาปัญหาผิวหนังอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบรุนแรงขึ้น