backup og meta

ลูกไม่ยอมนอน เกิดจากอะไร ควรแก้ไขอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    ลูกไม่ยอมนอน เกิดจากอะไร ควรแก้ไขอย่างไร

    ลูกไม่ยอมนอน ตื่นกลางคืนบ่อย หรือหลับยาก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น นอนกลางวันมากเกินไป อยู่ในช่วงวัยที่ห่วงเล่น ความเจ็บป่วย และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่รบกวนการนอนหลับของลูก หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกพักผ่อนเพียงพอ ควรศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้สนิท เพื่อป้องกันอาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียระหว่างวัน

    สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมนอน

    ลูกไม่ยอมนอน อาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

    • นอนกลางวันมากเกินไป ลูกอาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำกิจกรรมระหว่างวัน เช่น วิ่งเล่น เล่นกีฬา จนอาจเผลองีบหลับในตอนกลางวันนานเกินไป ทำให้ไม่รู้สึกง่วงเมื่อถึงเวลาที่ควรนอน และอาจตื่นในตอนกลางคืน
    • อยู่ในช่วงวัยห่วงเล่น เมื่อลูกเริ่มมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ และการเข้าสังคมมากขึ้น อาจทำให้มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ห่วงเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อน หรือของเล่นต่าง ๆ จนทำให้ลูกไม่ยอมนอน
    • การเจ็บป่วย ความรู้สึกไม่สบายตัวจากการเจ็บป่วย อาจทำให้ลูกไม่ยอมนอนหรือหลับไม่สนิท ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ ท้องเสีย กินอาหารได้น้อย ร้องไห้
    • สภาพแวดล้อม เช่น อากาศภายในห้องร้อนเกินไป เสียงรบกวน แสงไฟ การเคลื่อนไหวของคุณพ่อคุณแม่ อาจรบกวนการนอนของลูกทำให้ลูกสะดุ้งตื่นและไม่ยอมนอนอีก
    • ความหิว เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในทารก เนื่องจากลูกน้อยมีกระเพาะอาหารขนาดเล็ก ทำให้จุอาหารได้น้อย และย่อยอาหารได้เร็ว ส่งผลให้ลูกรู้สึกหิวบ่อยจนไม่ยอมนอน หรืออาจตื่นบ่อยตอนกลางคืน โดยลูกจะส่งสัญญาณให้คุณพ่อคุณแม่ทราบด้วยการร้องไห้งอแง
    • มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ลูกน้อยอาจกลืนอากาศมากเกินไปขณะกินนม ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ระบบย่อยอาหารของลูกที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่อาจทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดี นำไปสู่การเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร และทำให้ลูกมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ไม่สบายท้อง จนอาจนอนไม่หลับ
    • อยู่ในช่วงปรับตัว ทารกแรกเกิดอาจจำเป็นต้องใช้เวลาปรับตัวกับโลกภายนอก จึงอาจยังไม่รู้ช่วงเวลาการนอนที่เหมาะสม ทำให้ไม่ยอมนอนหรือตื่นกลางคืนบ่อย ๆ
    • ความเครียดและความวิตกกังวล เหตุการณ์บางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของลูก เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน การใช้ความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจทำให้ลูกมีอาการวิตกกังวล ความเครียด จนเก็บไปฝันและไม่กล้านอนอีกเพราะกลัวตัวเองจะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงในฝัน

    ลูกไม่ยอมนอนส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพ

    หากลูกไม่ยอมนอน จนร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพลูก ดังนี้

    • ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน
    • ความตื่นตัวลดลง
    • การตอบสนองช้า
    • ทักษะการตัดสินใจลดลง
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
    • เสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า สมาธิสั้น ความจำเสื่อม โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • มีผลต่อด้านการเจริญเติบโต เนื่องจากฮอร์โมนด้านการเจริญเติบโต (growth hormone) จะหลั่งมากในช่วงต้นของการนอนหลับ และช่วงเวลา 22.00-01.30 น.

    วิธีช่วยให้ลูกนอนหลับ

    วิธีช่วยให้ลูกนอนหลับ อาจทำได้ดังนี้

  • สำหรับทารกที่ไม่ยอมนอน คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มลูกเดินอย่างช้า ๆ หรือไกวเปลช้า ๆ และอาจเปิดเพลงหรือเล่านิทานระหว่างกล่อมลูกนอน
  • อาบน้ำให้ลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวก่อนเข้านอน
  • ลดเสียง ลดการเคลื่อนไหว และหรี่ไฟในห้องให้มืดสลัว เพื่อไม่ให้ไปกระตุ้นลูกจนตื่น
  • ฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลา เพื่อให้ลูกจดจำช่วงเวลาที่ควรนอน ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนตอนกลางวันนานเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกไม่ยอมนอนในตอนกลางคืน
  • ไม่ควรให้ลูกดูทีวี เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกม เมื่อใกล้ถึงเวลานอน เพราะอาจทำให้ลูกไม่ยอมนอนได้
  • ใช้ของเล่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา และหมอนข้างนุ่ม ๆ ล้อมรอบตัวลูก เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีคนอยู่เคียงข้าง และช่วยลดความกลัว แต่ควรระวังไม่ให้อยู่ใกล้ใบหน้ามากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงทำให้ลูกหายใจไม่สะดวก
  • สำหรับลูกที่มีความเครียดและความวิตกกังวล เนื่องจากเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลลูกอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ หากลูกสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนอย่างรุนแรง หรือร้องไห้ ควรโอบกอดเพื่อปลอบลูก ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา