backup og meta

ทารกเสียงแหบ ที่อาจเกิดจากอาการโคลิก

ทารกเสียงแหบ ที่อาจเกิดจากอาการโคลิก

ทารกเสียงแหบ อาจเกี่ยวข้องกับอาการโคลิก (Colic) ซึ่งเป็นอาการที่ทารกร้องไห้ โวยวาย กรีดร้องบ่อย ๆ มักพบในเด็กอายุ 6 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุมาจากความไม่สบายตัวจนทำให้ทารกร้องไห้มากขึ้น จนอาจส่งผลให้กล่องเสียงอักเสบและทำให้ทารกเสียงแหบตามมา เสียงแหบที่เกิดขึ้นในทารกอาจหายได้เอง แต่ถ้าสังเกตพบว่าเสียงยังแหบเรื้อรังหลายวัน สัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาจต้องพาทารกเข้าพบคุณหมอ เพื่อตรวจอาการที่เกิดขึ้นและรับการรักษา

[embed-health-tool-baby-poop-tool]

โคลิก คืออะไร

โคลิก คือ อาการของทารกที่ร้องไห้งอแงมากและบ่อยครั้ง อาจพบบ่อยในเด็กทารกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเด็กอายุ 3-4 เดือนขึ้นไป โดยทารกจะร้องไห้ งอแง โวยวายมากขึ้นและบ่อยครั้ง การปลอบโยนหรือการกล่อมให้นอนอาจไม่ช่วยให้อาการร้องไห้งอแงดีขึ้น ส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน ส่งผลทำให้พ่อแม่เกิดความเครียด เหนื่อยล้า และกังวลในการดูแลทารก

โคลิกเกิดขึ้นได้อย่างไร

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการโคลิก แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • การให้ทารกกินอาหารมากเกินไป น้อยเกินไป หรือทารกไม่ได้เรอหลังกินอาหาร อาจทำให้ทารกรู้สึกอึดอัดท้อง ไม่สบายตัว หรือหากกินน้อยเกินไปก็อาจทำให้ทารกรู้สึกหิวและร้องไห้งอแงมากขึ้นได้
  • ความไม่สมดุลของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์ของทารกอาจเกี่ยวข้องกับความสมดุลของแบคทีเรียที่ช่วยย่อยอาหาร หากทารกกินอาหารที่ย่อยยาก เช่น นมผงบางชนิด อาจทำให้ทารกท้องอืด อาหารไม่ย่อยและร้องไห้มากจนเสียงแหบได้
  • ระบบย่อยอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทารกอาจมีระบบย่อยอาหารที่ยังไม่สมบูรณ์ การให้ทารกกินอาหารที่ย่อยยากอาจทำให้ทารกท้องอืด อาหารไม่ย่อย อึดอัด ไม่สบายตัว ทำให้ร้องไห้มากขึ้นจนเสียงแหบได้
  • การแพ้อาหารบางชนิด เช่น นม ถั่ว ไข่ ข้าว อาหารเหล่านี้อาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ในทารกซึ่งทำให้ทารกไม่สบายตัว มีผื่นแดง คัน อาจร้องไห้ กรีดร้องมากขึ้นจนเสียงแหบ
  • ความเครียดหรือความวิตกกังวลของเด็กต่อครอบครัว อารมณ์ในครอบครัว เช่น ความเครียด การทะเลาะกัน อาจส่งผลต่ออารมณ์ของทารกได้เช่นกัน เนื่องจากทารกจะซึมซับอารมณ์ พฤติกรรมและความรู้สึกจากคนรอบข้าง อาจส่งผลให้ทารกเกิดความทุกข์ทางอารมณ์และร้องไห้มากจนเสียงแหบ
  • การเป็นไมเกรนในวัยเด็ก ทารกบางคนอาจเป็นไมเกรนได้แต่อาจเกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งอาการปวดหัวไมเกรนอาจทำให้เด็กร้องไห้มาก กรีดร้องมากขึ้น จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาอาการไมเกรนในเด็ก

ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวจนมีอาการร้องไห้งอแง โวยวาย กรีดร้องมากขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนอาจทำให้กล่องเสียงอักเสบและส่งผลให้ทารกเสียงแหบ เมื่อพยายามเปล่งเสียงทารกอาจไม่มีเสียงหรือมีเสียงเล็กแหลมออกมา นอกจากนี้ ทารกอาจมีอาการไม่สบายคอ คันคอ ไอร่วมด้วย ซึ่งอาการเสียงแหบอาจค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่หากทารกเสียงแหบนานกว่านั้นอาจต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

วิธีดูแลทารกเสียงแหบ

การรักษาทารกเสียงแหบที่มีสาเหตุมาจากอาการโคลิก คุณหมออาจพิจารณารักษาอาการโคลิกก่อนเพื่อช่วยให้ทารกร้องไห้ งอแง โวยวายและกรีดร้องลดลง ซึ่งจะช่วยให้กล่องเสียงได้พักและอาการเสียงแหบของทารกจะค่อย ๆ ดีขึ้น สำหรับการดูแลทารกที่มีอาการเสียงแหบ อาจทำได้ดังนี้

การทำให้ทารกผ่อนคลาย

วิธีนี้จะช่วยให้ทารกรู้สึกสบายและสงบลงได้ เช่น

  • ลูบหน้าท้องทารกหรืออุ้มทารกพาดบ่า จะทำให้ทารกรู้สึกได้รับความรัก ความอบอุ่น ผ่อนคลายเมื่อโดนอุ้มและโดนลูบ การอุ้มพาดบ่าหลังดื่มนมจะช่วยให้ทารกเรอ และช่วยคลายความอึดอัดได้เช่นกัน
  • การให้จุกนมหลอก บางครั้งเด็กอาจร้องไห้จะกินนม หรือต้องการเอาสิ่งของเข้าปาก การให้จุกนมหลอกอาจช่วยลดอาการร้องไห้งอแงของเด็ก
  • พาทารกไปนั่งรถเล่น อาจจะเป็นรถยนต์หรือรถเข็นเด็ก จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ ช่วยให้เด็กเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ลดอาการร้องไห้ของเด็กได้
  • อุ้มทารกแล้วเดินไปรอบ ๆ จะทำให้เด็กรู้สึกโดนปลอมประโลม ผ่อนคลาย ได้รับความรักความอบอุ่นจนหยุดร้องไห้ลง
  • ห่อตัวทารก จะช่วยให้เด็กรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องแม่ ทารกจะรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลายมากขึ้น
  • อาบน้ำอุ่น เด็กร้องไห้มากอาจเพราะรู้สึกร้อน ไม่สบายตัว การอาบน้ำจะช่วยให้เด็กสบายตัวมากขึ้น
  • เปิดเพลง เปิดเสียงการเต้นของหัวใจเบา ๆ เพื่อให้ทารกรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องแม่และผ่อนคลาย
  • จัดบรรยากาศในห้องให้เหมาะกับการนอน ไม่มีแสงหรือเสียงดังรบกวนจะช่วยเพิ่มการนอนหลับที่ดีในเด็กทารกมากขึ้น

การป้อนอาหารทารก

หลีกเลี่ยงการป้อนอาหารทารกที่มากเกินไป ควรเว้นระยะการป้อนอาหารอย่างน้อย 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง/ครั้ง เพื่อให้ทารกไม่รู้สึกอึดอัดท้องมากเกินไป และควรป้อนนมทารกในท่าตั้งตรงเพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปในปากมากเกินไป หลังจากกินนมเสร็จควรอุ้มทารกพาดไหล่ให้ทารกเรอออกมา เพื่อช่วยระบายลมและความอึดอัดหลังกินนม

การเปลี่ยนแปลงอาหาร

ทารกร้องไห้หนักอาจเกิดจากการแพ้อาหาร หากสังเกตเห็นผื่นแดง อาการอาเจียน หายใจมีเสียงหวีด ท้องเสีย อาจเป็นสัญญาณของการแพ้อาหาร นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนนมผงสำหรับทารก หรือคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรมีการเปลี่ยนแปลงอาหารที่กินเข้าไป ดังนั้น จึงควรเลือกนมผงที่เหมาะสมสำหรับทารก รวมถึงการหลีกเลี่ยงการกินอาหารบางชนิดสำหรับคุณแม่ ดังนี้

  • การเปลี่ยนนมผง ควรพิจารณานมผงสูตรที่เหมาะกับวัยและสุขภาพของทารก อาจขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อนซื้อนมผง เพื่อช่วยให้ย่อยง่ายและไม่ทำให้ทารกอึดอัดท้อง เช่น นมผงสูตรไฮโดรไลเสต (Hydrolysate) ประกอบไปด้วยโปรตีนขนาดเล็ก ทำให้ย่อยง่ายและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางเดินอาหาร เช่น อาการจุกเสียดและท้องผูก
  • แม่ให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่ว ข้าวสาลี และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารของทารก เช่น อาหารที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด คาเฟอีน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chronic Hoarseness. https://kidshealth.org/en/parents/hoarseness.html. Accessed February 1, 2022

Colic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/colic/symptoms-causes/syc-20371074#:~:text=Colic%20is%20frequent%2C%20prolonged%20and,seems%20to%20bring%20any%20relief. Accessed February 1, 2022

Colic-symptoms-diagnosis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/colic/diagnosis-treatment/drc-20371081. Accessed February 1, 2022

Colic in Babies. https://www.webmd.com/parenting/baby/what-is-colic. Accessed February 1, 2022

Laryngitis. https://www.hopkinsallchildrens.org/Patients-Families/Health-Library/HealthDocNew/Laryngitis. Accessed February 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/12/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผดร้อน ทารก สาเหตุและการดูแล

พัฒนาการทารก ในช่วงขวบปีแรก และวิธีดูแลทารกที่เหมาะสม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 01/12/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา