ผื่น เด็ก หรือผื่นคันบนผิวหนังเด็ก มักเกิดในทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากผิวของเด็กยังบอบบาง ไม่แข็งแรง และระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์เหมือนของผู้ใหญ่ เด็กจึงอาจเกิดผดผื่นได้บ่อยครั้ง ผื่นในเด็กอาจเกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่นควัน ความร้อนจากแสงแดด แมลงกัดต่อย รวมไปถึงการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย โดยทั่วไป ผื่นในเด็กสามารถหายได้เองหรือบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาลดอาการคันและระคายเคือง แต่หากดูแลเบื้องต้นและใช้ยารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพาเด็กไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด
[embed-health-tool-vaccination-tool]
สาเหตุที่ทำให้เกิด ผื่น เด็ก
สาเหตุที่ทำให้เกิด ผื่น เด็ก อาจมีดังนี้
- ติดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เชื้อรา เช่น แคนดิดา (Candida infection) เชื้อไวรัสมากมายหลายชนิด เช่น วาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus)
- แมลงกัดต่อย เช่น มด ยุง
- สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เช่น เกสรดอกไม้ สารเคมี อาหาร
- เผชิญสภาพอากาศร้อน จนทำให้ต่อมเหงื่ออุดตัน ส่งผลให้เกิดผดผื่น
- แพ้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
- หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ก็อาจส่งผลให้เด็กเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้มากขึ้นเช่นกัน
ประเภทของ ผื่น เด็ก ที่พบได้บ่อย
ประเภทของผื่นที่พบได้บ่อยในเด็ก อาจมีดังนี้
ผื่นผ้าอ้อม (Diaper Rash)
ผื่นผิวหนังอักเสบลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ๆ หรือมีผื่นเป็นปื้นหรือเป็นรอยแดงบริเวณอวัยวะเพศและก้น แต่จะไม่พบตามร่องขาหนีบหรือร่องก้นที่ไม่ได้สัมผัสกับผ้าอ้อมโดยตรง สัมผัสแล้วอาจรู้สึกร้อน บางครั้งหากผดผื่นแพร่กระจายและรุนแรง อาจทำให้เกิดรอยถลอกหรือเป็นแผลได้ ผื่นผ้าอ้อมมักเกิดกับเด็กที่ใส่ผ้าอ้อม โดยเฉพาะเด็กวัย 9-12 เดือน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสียดสีของผ้าอ้อมที่คับหรือไม่พอดีตัว สารเคมีจากผงซักฟอกที่สัมผัสผิวทารก การติดเชื้อราแคนดิดา หรือเนื้อผ้าอ้อมอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองจนเกิดผดผื่น
วิธีรักษา ผื่นผ้าอ้อมเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป สามารถรักษาได้ด้วยการทาครีมหรือขี้ผึ้งที่ใช้เฉพาะที่ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น
- ยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อลดอาการบวมและอักเสบของผิวหนัง
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Medicines) หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เพื่อลดการติดเชื้อ
- ครีมที่ส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคืองผิวหนัง
- ยาหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์ ตามคำแนะนำของคุณหมอ
ผื่นกุหลาบหรือส่าไข้ (Roseola)
ภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังที่มักพบในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 (Human Herpesvirus Type 6) และไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 7 (Human Herpesvirus Type 7) ซึ่งเป็นไวรัสจำพวกเดียวกับโรคเริมที่ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย เด็กที่เป็นผื่นกุหลาบมักมีไข้สูง และเกิดผดผื่นลักษณะเป็นจุดขนาดเล็กแบนราบไปกับผิวขึ้นเป็นหย่อม ๆ บนผิวหนัง เริ่มจากบริเวณกลางลำตัว เช่น หน้าอก หลัง หน้าท้อง และอาจจะแพร่กระจายไปด้านนอกลำตัวตามใบหน้า ลำคอ แขนและขา ผื่นกุหลาบมักไม่ทำให้เกิดอาการคันหรือทำให้รู้สึกเจ็บ และในบางกรณีอาจไม่มีไข้ร่วมด้วย
วิธีรักษา โรคผื่นกุหลาบไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ การใช้ยาและการดูแลเด็กด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้อาการของโรคผื่นกุหลาบทุเลาและหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- สำหรับเด็กเล็กและเด็กโต สามารถให้รับประทานยาแก้ไข้ เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล ในปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของเด็กตามที่ระบุไว้บนฉลากยา และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงอย่างโรคเรย์ซินโดรม (Reye’syndrome) ที่สร้างความเสียหายให้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะสมองและตับ ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เซื่องซึม ชัก หมดสติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มาก ๆ รวมถึงเช็ดตัวให้เด็กบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งอาจช่วยให้ไข้ลดลงได้
โรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster) อาการจะเริ่มจากมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเป็นระยะออกผื่น เกิดเป็นตุ่มนูนแดงหรือตุ่มใส ๆ อาจเริ่มพบที่ผิวหนังบริเวณหนังศีรษะ หน้าอก หลัง และใบหน้า แล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ไม่นานตุ่มน้ำจะแตกออก แล้วแผลจะแห้งและตกสะเก็ด ผู้ป่วยอาจมีอาการอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนอาการจะค่อย ๆ ทุเลา ในระหว่างที่เป็นโรคอีสุกอีใสควรแยกเด็กออกจากเด็กคนอื่นและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาคาลาไมน์ เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองและคันบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ
- ให้เด็กรับประทานยาลดไข้และบรรเทาปวดอย่างพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการให้เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสรับประทานยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างโรคเรย์ซินโดรมได้
- หลีกเลี่ยงการเกาเนื่องจากจะทิ้งรอยแผลเป็นและยังเสี่ยงติดเชื้อจากแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มักเกิดในเด็กเล็ก แต่ก็สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย โรคนี้จะทำให้ผิวหนังแห้งลอกและคัน มีผื่นขึ้นตามใบหน้า ซึ่งอาการจะกำเริบเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหารที่แพ้ ผ้าขนสัตว์ น้ำหอม เชื้อรา เกสรดอกไม้ อากาศเย็น เหงื่อ หรือแม้แต่ความเครียดก็อาจทำให้เกิดผื่นบนผิวหนังได้เช่นกัน โดยทั่วไป อาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังสามารถหายเองได้หากหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้
วิธีรักษา โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้กำเริบได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้
- อาบน้ำธรรมดาหรืออุ่นเล็กน้อย ระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 10 นาที วันละ 1-2 ครั้ง และใช้สบู่ที่อ่อนโยน มีค่า pH เป้นกลาง ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีสาระเคืองหรือน้ำหอมร่วมด้วยทุกครั้ง
- ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการผิวแห้งและบรรเทาอาการคันได้
- ใช้ยาทาชนิดสเตียรอยด์ทุกวันในช่วงแรกเพื่อควบคุมอาการ นานประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงลดความถี่ลงเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อควบคุมไม่ให้ผื่นกำเริบ
- สำหรับเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาทาภายนอกในกลุ่มต้านแคลซินูริน (Calcineurin inhibitor) เช่น ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus) ยาพิเมโครลิมัส (Pimecrolimus) ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์
ลมพิษ (Urticaria/Hive)
เป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้บ่อยในเด็ก มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ก็อาจเกิดได้บ่อยการติดเชื้อไวรัส ที่พบได้น้อยกว่าคือ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมีในผงซักฟอก โลชั่น หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ฝุ่น เชื้อรา ขนสัตว์ แมลงกัดต่อย ลมพิษมีทั้งแบบเกิดขึ้นเฉียบพลันที่ทำให้เกิดอาการไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน ไปจนถึงแบบเรื้อรังที่อาจทำให้เกิดอาการหลายสัปดาห์ อาการโดยทั่วไปของลมพิษ เช่น มีผื่นผิวหนัง ดวงตา ริมฝีปาก มือหรือเท้าบวมแดง คันมาก เด็กอาจร้องไห้งอแงผิดปกติ
วิธีรักษา การรักษาลมพิษขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากเป็นลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการเพียงเล็กน้อยมักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง อาจต้องรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- ให้เด็กรับประทานยาลดอาการภูมิแพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) ที่มีทั้งชนิดน้ำ แคปซูล และชนิดเม็ด แต่อาจมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
- ให้เด็กรับประทานยาเซทิริซีน (Cetirizine) ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการคัน รักษาลมพิษ ลดอาการแพ้อากาศ
- ให้เด็กรับประทานยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ซึ่งเป็นยาต้านฮีสตามีน ช่วยรักษาลมพิษและผดผื่น ลดอาการคัน
ยาดังกล่าวข้างต้นให้เลือกรับประทานเพียงชนิดเดียวเนื่องจากกลไกการออกฤทธิ์ใกล้เคียงกัน หากรับประทานร่วมกันจะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงได้ หาอาการยังไม่ทุเลาหลังรับประทานแล้วในเบื้องต้น ควรปรึกษาแพทย์เป้นลำดับถัดไป
เมื่อไหร่ควรพาเด็กไปพบคุณหมอ
ผื่นที่เกิดในเด็กมักไม่รุนแรงและอาจหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่หากเด็กมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
- มีของเหลวไหลซึมออกมาจากผื่น ผื่นบวมแดงหรือชื้น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- มีผื่นรุนแรงบริเวณรอยพับบนผิวหนัง
- ผื่นบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าลอกเป็นสะเก็ด
- มีผื่นบริเวณช่องปาก อวัยวะเพศ
- มีรอยฟกช้ำที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ
- ผื่นไม่ทุเลาภายใน 2-3 วัน
- มีอาการแน่นหน้าอก หรือ หายใจไม่สะดวก
- เด็กดูไม่ค่อยสบาย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้