เด็กไอ เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่อาจพบเจอได้ แต่ก็ควรระวัง เพราะบางครั้งการที่เด็กไออาจส่งสัญญาณบ่งชี้บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายของเด็กได้ หากเด็กไอเป็นเวลานานกว่า 2-3 สัปดาห์ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย
[embed-health-tool-bmi]
เด็กไอ เกิดจากอะไร
เด็กไอมักเป็นสัญญาณว่าร่างกายพยายามกำจัดความระคายเคืองจากเสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอม เนื่องจากหากไม่กำจัดออกอาจสร้างความรำคาญ และอาจทำให้หายใจไม่สะดวก ซึ่งสาเหตุทั่วไปของอาการไอ เช่น
- โรคภูมิแพ้ และไซนัสอักเสบ สิ่งที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น อาหาร ละอองเกสร ฝุ่นละออง อาจเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง และยังทำให้ระคายเคือง มีน้ำมูก เสมหะ เจ็บคอ รวมถึงอาจมีผื่นขึ้นตามตัว
- โรคหอบหืด เกิดจากมีสิ่งกระตุ้นต่อภาวะหลอดลมไว ทำให้เด็กมีหลอดลมตีบเล็กลง อาการอาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ส่วนมากมักไอแบบมีเสียงหวีด ซึ่งอาการมักจะแย่ลงในเวลากลางคืน หรือมักไอขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเคลื่อนไหว เช่น ออกกำลังกาย
- โรคกรดไหลย้อน อาจทำให้มีอาการไอ อาเจียนบ่อย รู้สึกขมในปาก และปวดแสบร้อนภายในอก
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรัง หากเป็นหวัดอาจมีอาการไอเล็กน้อยถึงไอปานกลาง ซึ่งเป็นอาการไอที่ไม่รุนแรงมาก แต่หากเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจไอแบบแห้ง หรือมีเสมหะ ร่วมกับมีไข้สูง
สาเหตุอื่นที่อาจทำให้เด็กไอ คือ การสูดดมสารระคายเคือง หรือมีสิ่งแปลกปลอม เช่น อาหาร ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ มลพิษจากบุหรี่ หรือควัน
ลักษณะอาการเด็กไอ
หากคุณพ่อคุณแม่ทราบถึงอาการเด็กไอแต่ละแบบ อาจช่วยให้ดูแลลูกเบื้องต้นได้ ซึ่งลักษณะอาการเด็กไออาจมีดังต่อไปนี้
- ไอแบบแห้ง เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนบวม ส่วนใหญ่มาจากโรคครูป(Croup) โรคที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงภาวะกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคครูปสูง หากมีทางเดินหายใจที่แคบมาก
- ไอกรน เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis) ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ เด็กที่มีอาการไอกรนจะไอติด ๆ กันจนเด็กอาจหายใจไม่ทันถึงหยุดไอ และเวลาหายใจเข้าลึก ๆ จะมีเสียงวู๊ป (Whooping Cough) ซึ่งโรคไอกรนสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนในเด็ก
- ไอเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือโพรงจมูก รวมถึงอาจเกิดจากโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรืออาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งอย่าง หากลูกมีอาการไอเรื้อรังนานกว่า 3 สัปดาห์ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอ
- ไอขณะเป็นไข้ หากเด็กไอ มีน้ำมูก และมีไข้เล็กน้อย อาจเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าเด็กหายใจเร็ว รู้สึกกระสับกระส่ายและมีไข้สูงกว่า 39 องศา อาจเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ
- ไอจนอาเจียน หากไอหนัก ๆ อาจไปกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณโคนลิ้น และคอหอย ทำให้เกิดการอาเจียนได้ นอกจากนี้ โรคหอบหืดอาจทำให้อาเจียนได้ หากน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงเข้าช่องท้องในปริมาณมากก็อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ซึ่งเป็นปฏิกริยาที่อาจไม่ส่งผลอันตราย ยกเว้นลูกน้อยอาเจียนไม่หยุด
- ไอตอนกลางวัน อาการไอที่อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคหวัด หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น อากาศเย็น ฝนตก หรือทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการไอ ซึ่งอาการมักจะหายไปในช่วงตอนกลางคืน หรือเวลาพักผ่อน
- ไอตอนกลางคืน เด็กไออาจมีอาการแย่ลงในช่วงเวลากลางคืน และอาจเป็นหนักขึ้นหากเป็นหวัดด้วย เนื่องจากน้ำมูก และเสมหะอาจไปขัดขวางระบบทางเดินหายใจ ทำให้น้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ จนเกิดอาการไอขณะหลับ นอกจากนั้น โรคหอบหืดก็อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการไอตอนกลางคืน เพราะระบบทางเดินหายใจอาจไวต่อความรู้สึกมากกว่าเดิมในตอนกลางคืน เกิดภาวะหลอดลมตีบ หายใจไม่สะดวกจนไอ
วิธีบรรเทาอาการเด็กไอ
วิธีบรรเทาอาการเด็กไอ อาจสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ยาแก้ไอ อาจช่วยละลายเสมหะ บรรเทาอาการระคายคอได้ แต่คุณพ่อ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ หรือเภสัชกร ในการเลือกซื้อยาแก้ไอให้เด็ก
- น้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ้งมีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี
- หลีกเลี่ยงการวางตุ๊กตาไว้ใกล้เด็ก เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นแหล่งสะสมของฝุ่น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงน้ำหอมปรับอากาศ และสัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นปัจจัยให้เด็กไอได้
- การจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ลำคอมีความชุ่มชื้น ลดอาการระคายคอได้ อีกทั้งลดความเสี่ยงภาวะการขาดน้ำในช่วงมีไข้สูงด้วย
- ใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศทั้งตอนกลางวัน และเวลานอน รวมถึงหลีกเลี่ยงการนอนในห้องที่อากาศเย็นเกินไป อากาศในห้องนอนควรถ่ายเทได้สะดวก เพราะหากภายในห้องมีกลิ่นอับ ก็อาจทำให้เด็กไอได้เช่นกัน