backup og meta

โนโรไวรัส สาเหตุอาการท้องเสียที่ระบาดในเด็ก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    โนโรไวรัส สาเหตุอาการท้องเสียที่ระบาดในเด็ก

    โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยในเด็ก เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำลาย น้ำมูก อาเจียน อุจจาระ การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ยิ่งหากเด็กอยู่ในพื้นที่ปิดและมีผู้คนพลุกพล่านอย่างโรงเรียน เนอสเซอรี สถานรับเลี้ยงเด็ก ก็ยิ่งเสี่ยงรับเชื้อได้ง่าย

    การรักษาโรคติดเชื้อโนโรไวรัสทำได้ด้วยการดูแลให้ผู้ติดเชื้อพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และหลีกเลี่ยงการออกไปที่สาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น โดยทั่วไป หากดูแลถูกวิธี อาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเด็กเล็กหรือวัยเรียนจึงควรรักษาความสะอาดบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยเป็นประจำ และฝึกให้ลูกดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโนโรไวรัส

    โนโรไวรัส คืออะไร

    โนโรไวรัส เป็นชื่อกลุ่มไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ไวรัสชนิดนี้พบได้บ่อยและติดต่อได้ง่ายมาก มักระบาดในหมู่เด็กเล็กและเด็กวัยเรียนที่รวมตัวกันในสถานที่เดียวกันหรือรับประทานอาหารที่จัดเตรียมไว้ให้กับคนจำนวนมาก เช่น เนอสเซอรี่ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทหอยดิบหรือหอยที่สุกไม่ทั่วถึง ผักและผลไม้ที่ยังไม่ปรุงสุกหรือล้างไม่สะอาด นอกจากนี้ โนโรไวรัสยังสามารถแพร่กระจายผ่านวิธีต่อไปนี้ได้ด้วย

  • การสัมผัสกับน้ำลาย อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ
  • การรับละอองอาเจียนของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • การสัมผัสกับมือที่ไม่ได้ล้างของผู้ติดเชื้อ
  • การสัมผัสกับวัตถุที่ผู้ติดเชื้อสัมผัสมาก่อน
  • การรับประทานอาหารและน้ำดื่มร่วมกับผู้ติดเชื้อ
  • อาการของการติดเชื้อ โนโรไวรัส

    การติดเชื้อโนโรไวรัสอาจทำให้มีอาการต่อไปนี้

    • อาเจียน
    • คลื่นไส้
    • ท้องเสีย
    • ปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน
    • มีไข้ต่ำ
    • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

    โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อโนโรไวรัสจะแสดงอาการภายใน 1-2 วันหลังรับเชื้อ แต่บางคนก็อาจแสดงอาการภายใน 12 ชั่วโมงแรกหลังได้รับเชื้อ ไวรัสชนิดนี้อาจทำให้ไม่สบายประมาณ 1-2 วัน แต่จะไม่ก่อให้เกิดภาวะสุขภาพในระยะยาว ทั้งนี้ ในคนบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจมีอาการรุนแรงและป่วยนานกว่าคนทั่วไป จนอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ที่ทำให้มีอาการปากแห้ง กระหายน้ำ วิงเวียนเมื่อลุกขึ้นยืน ถ่ายปัสสาวะน้อยลง ง่วงนอนบ่อย ในเด็กอาจร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา กระสับกระส่าย ง่วงซึม เป็นต้น

    ทั้งนี้ เมื่ออาการคลื่นไส้อาเจียนหายไปแล้ว ผู้ติดเชื้อจะยังสามารถแพร่เชื้อได้อีก 2-3 วัน จึงไม่ควรไปที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ที่ทำงาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

    การรักษาเมื่อติดเชื้อ โนโรไวรัส

    เนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อโนโรไวรัสที่เฉพาะเจาะจง การรักษาจึงทำได้ด้วยการให้ผู้ติดเชื้อพักผ่อนและดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ให้มาก ๆ และจิบน้ำเกลือแร่ (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เป็นระยะ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย ทั้งนี้ ควรใช้ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้ท้องเสียในกรณีที่คุณหมอแนะนำเท่านั้น

    วิธีป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส

    การดูแลสุขอนามัยด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสได้

    • ล้างมือด้วยน้ำสบู่ให้สะอาดก่อนประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนสัมผัสอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
    • ล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหารหรือรับประทาน โดยเฉพาะหอยทะเล ผัก ผลไม้ สำหรับหอยแนะนำให้แช่น้ำเกลือประมาณ 10 นาทีแล้วล้างน้ำเปล่าให้สะอาด ส่วนผักและผลไม้ให้แช่น้ำเกลือ น้ำผสมเบคกิ้งโซดาหรือด่างทับทิม ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างน้ำเปล่าให้สะอาด หรือเปิดให้น้ำไหลผ่านเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค สารพิษ หรือยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อน
    • ซักเครื่องนอนเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และหากเครื่องนอนเปื้อนน้ำลาย อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ ควรนำไปซักทันที
    • ทำความสะอาดผ้าม่านและพรมด้วยน้ำร้อนผสมผงซักฟอก เพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
    • ทำความสะอาดพื้นบ้าน เช่น พื้นห้องนอน พื้นห้องครัว ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากติดเชื้อโนโรไวรัสและมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • เด็กเล็กมีอาการท้องเสียนานเกิน 1 วัน หรือผู้ใหญ่มีอาการท้องเสียนานเกิน 2 วัน
    • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ถ่ายปัสสาวะน้อย หายใจหอบถี่
    • มีไข้ ปวดท้องหรือทวารหนักรุนแรง
    • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรืออุจจาระมีสีดำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา