backup og meta

ภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด หรือ Birth asphyxia คือ อะไร

ภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด หรือ Birth asphyxia คือ อะไร

ภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด หรือ Birth asphyxia คือ ภาวะที่ทารกในช่วงแรกเกิดขาดออกซิเจนหลังคลอด ทำให้ไม่หายใจ หายใจแผ่ว สีผิวผิดปกติ หรือมีอาการชัก ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกแตก สายสะดือย้อย ทารกเสียเลือดมาก ซึ่งหากรักษาได้ทันและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดก็อาจทำให้ทารกฟื้นตัว และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามปกติได้

Birth asphyxia คือ อะไร

ภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด เกิดจากทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังคลอด เมื่อไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหาร เซลล์จะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ มีกรดสะสมในเซลล์และสร้างความเสียหายให้กับร่างกาย เป็นอันตรายต่อการทำงานของสมองและอวัยวะอื่น ๆ

ความรุนแรงของภาวะนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทารกขาดออกซิเจน ระดับออกซิเจน และความเร็วในการรักษา หากได้รับการรักษาทันท่วงที ทารกอาจฟื้นตัวกลับเป็นปกติได้ แต่หากรักษาล่าช้า อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และอาจเกิดความผิดปกติของระบบประสาทตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง เช่น อาการชัก ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) ภาวะพัฒนาการล่าช้า การดูแลและติดตามสุขภาพของคุณแม่และทารกอย่างใกล้ชิดทั้งก่อนและหลังคลอดจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิดได้

สาเหตุของภาวะ Birth asphyxia

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด อาจมีดังนี้

  • รกลอกตัวก่อนกำหนด
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ปัญหาสายสะดือย้อยระหว่างคลอด
  • ภาวะคลอดก่อนกำหนด
  • การคลอดที่ใช้เวลานานหรือซับซ้อนเกินไป
  • การติดเชื้อรุนแรงของคุณแม่หรือทารก
  • คุณแม่มีระดับความดันโลหิตสูงหรือต่ำเกินไป
  • ทางเดินหายใจของทารกถูกปิดกั้น ทำให้ขาดออกซิเจน
  • ทางเดินหายใจของทารกพัฒนาได้ไม่เต็มที่
  • ทารกเสียเลือดในระหว่างคลอดมากเกินไป
  • ทารกมีภาวะโลหิตจาง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ

ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้มีออกซิเจนส่งผ่านสายสะดือไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายของทารกได้ไม่เพียงพอ จนเซลล์เสียหายรุนแรง ส่งผลเสียต่อสมอง หัวใจ ปอด ไต ลำไส้ หรืออวัยวะอื่น ๆ ของทารก

อาการของภาวะ Birth asphyxia

อาการของภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิด หรือ Birth asphyxia อาจมีดังนี้

  • ทารกไม่หายใจหรือหายใจอ่อนมาก
  • ผิวของทารกเป็นสีออกน้ำเงิน สีเทา หรือซีดกว่าปกติ
  • อัตราการเต้นของหัวใจอ่อน
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีกรดในเลือดปริมาณมาก (Acidosis)
  • มีอาการชัก

การวินิจฉัยภาวะ Birth asphyxia

หลังคลอด คุณหมอและเจ้าหน้าที่จะประเมินสภาพของทารกแรกเกิดด้วยการให้คะแนนแอปการ์ (Apgar score) หรือผลการประเมินสภาพร่างกายทารกแรกเกิด ซึ่งจะเป็นการประเมินสีผิว อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย เพื่อบ่งชี้สุขภาพของทารกในเบื้องต้นในเวลา 1 นาที 5 นาที และ 10 นาทีหลังคลอด คะแนนแอปการ์มีระดับตั้งแแต่ 0-10 โดยทั่วไป เด็กที่มีสุขภาพดีจะได้คะแนนแอปการ์ 7 คะแนนขึ้นไป หากได้คะแนนแอปการ์ 0-3 คะแนน อาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดออกซิเจนรุนแรงซึ่งอาจต้องรับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจเพิ่มเติมว่ามีอาการอื่น ๆ ที่แสดงถึงภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เช่น

  • ทารกหายใจไม่ปกติ
  • การไหลเวียนโลหิตไม่ดี
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ไม่มีการถ่ายปัสสาวะ
  • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

แนวทางการรักษา Birth asphyxia

หากทารกมีภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิดในระดับเบา คุณหมออาจให้ใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าทารกจะแข็งแรงพอที่จะหายใจได้ด้วยตัวเอง และจะติดตามดูสัญญาณภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

สำหรับทารกที่มีภาวะขาดออกซิเจนแรกเกิดอย่างรุนแรง อาจต้องใช้วิธีรักษาดังนี้

  • ใช้เครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กส่งลมไปยังปอดของทารกแบบถี่ ๆ ในบางกรณีอาจต้องให้สารไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ผ่านทางท่อช่วยหายใจ หรือใช้วิธีปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต
  • รักษาด้วยการลดอุณหภูมิของร่างกาย (Hypothermia) ด้วยการใช้เครื่องทำความเย็นผ่านผิวหนัง (Surface cooling) หรือผ้าห่มเย็น (Cooling blanket) เพื่อลดความเสียหายในสมอง
  • ให้ยาควบคุมระดับความดันโลหิต
  • ให้ยาบำบัดอาการชัก
  • ส่งสารอาหารผ่านทางหลอดเลือดดำ (IV) เพื่อช่วยฟื้นฟูลำไส้
  • ฟอกไต เพื่อปรับสมดุลเลือดในร่างกาย

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Asphyxia?. https://www.webmd.com/first-aid/asphyxia-overview. Accessed May 13, 2022

Birth Asphyxia. https://www.seattlechildrens.org/conditions/birth-asphyxia/. Accessed May 13, 2022

Birth Asphyxia. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/birth-asphyxia/. Accessed May 13, 2022

Risk factors of birth asphyxia. https://ijponline.biomedcentral.com/articles/10.1186/s13052-014-0094-2. Accessed May 13, 2022

What To Know About an Apgar Score. https://www.webmd.com/parenting/baby/what-to-know-about-apgar-score. Accessed May 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/06/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทารก กับพฤติกรรมทั่วไปของทารกที่ควรรู้

ปัญหาภูมิคุ้มกันในทารกคลอดก่อนกำหนด ที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา