การมองเห็นของทารก จะเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด โดยจอตา (Retina) และรูม่านตาจะค่อย ๆ พัฒนาและกว้างขึ้น ส่งผลให้ทารกมองเห็นภาพได้ชัดเจน มองเห็นในระยะไกล และสามารถควบคุมกล้ามเนื้อตาในการมองตามวัตถุได้เป็นอย่างดี ควบคู่ไปกับทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้ทารกสามารถหยิบจับสิ่งของได้แม่นยำมากขึ้น
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การมองเห็นของทารก พัฒนาอย่างไร
การมองเห็นของทารกอาจมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามช่วงอายุ ดังนี้
ทารกแรกเกิด
ดวงตาของทารกแรกเกิดอาจไวต่อแสงจ้ามาก เนื่องจากรูม่านตาของทารกยังมีขนาดที่เล็กมาก ทารกจึงอาจมองเห็นได้เพียงในวงแคบ และเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ จอตาซึ่งเป็นเซลล์ประสาทที่ไวต่อแสงอยู่บริเวณด้านหลังภายในลูกตา จะค่อย ๆ พัฒนาทำให้รูม่านตาของทารกกว้างขึ้น ส่งผลให้ทารกสามารถมองเห็นรูปร่าง สีสัน มองเห็นในมุมกว้างมากขึ้น และเริ่มเรียนรู้ในการจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า
เมื่อทารกอายุครบ 1 เดือน ดวงตาจะสามารถมองเห็นสิ่งตรงหน้าได้ชัดเจนไม่เกิน 100 เซนติเมตร และจดจ่อกับสิ่งนั้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่จะให้ความสนใจกับสิ่งของที่มีสีสันสดใส
ทารกอายุ 2-4 เดือน
ดวงตาของทารกในช่วง 2 เดือนแรก อาจยังทำงานไม่ประสานกันมากนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อดวงตายังอยู่ในช่วงพัฒนา ในช่วงนี้ทารกสามารถมองตามการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ ซึ่งดวงตาจะค่อย ๆ ทำงานประสานกันได้ดียิ่งขึ้น
เมื่ออายุครบ 3 เดือน ดวงตาของทารกจะเริ่มจดจ่อกับการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ดีมากขึ้น และอาจสามารถเริ่มใช้แขนตีวัตถุได้ตรงตามเป้าหมาย
ทารกอายุ 5-8 เดือน
เมื่อทารกอายุได้ 5 เดือน การมองเห็นของทารกจะดีมากขึ้นโดยสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ไกลขึ้นและอาจมองเห็นเป็นภาพ 3 มิติได้อย่างสมบูรณ์ สามารถหยิบจับสิ่งของได้แม่นยำและมองเห็นสีได้ชัดขึ้น
นอกจากนี้ ทารกอาจมองเห็นวัตถุและจดจำสิ่งเหล่านั้นได้แม่นยำแม้ว่าจะเห็นเพียงบางส่วนเท่านั้น
ทารกอายุ 9-12 เดือน
เมื่ออายุ 9-12 เดือน ทารกอาจเริ่มคลานหรือเดินได้ซึ่งจะเริ่มมีการประสานงานระหว่างการมองเห็นและการเคลื่อนไหวร่างกาย สามารถหยิบจับสิ่งของได้แม่นยำ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลมากขึ้นและอาจกะระยะห่างของวัตถุเพื่อให้สามารถใช้นิ้วมือในการจับวัตถุได้อย่างแมนยำ
สัญญาณปัญหา การมองเห็นของทารก
หากพบสัญญาณความผิดปกติในการมองเห็นของทารกต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอ
- ดวงตาของทารกทั้ง 2 ข้างเคลื่อนไหวไม่ประสานกัน หลับตาข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา หรือดวงตาหมุนอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสัญญาณของปัญหาการควบคุมกล้ามเนื้อตา หรือกล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรง
- ดวงตามีบาดแผล หรือรอยฉีกขาด อาจเป็นสัญญาณของท่อน้ำตาอุดตัน
- เปลือกตามีสีแดง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่ตา
- ดวงตาของทารกไวต่อแสงมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณของความดันสูงในดวงตา
- รูมานตามีสีขาว อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งตา
อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพดวงตาหรือปัญหาการมองเห็นของทารก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำและทำการวินิจฉัยทันที
การดูแลสุขภาพดวงตาของทารก
การทำความสะอาดใบหน้าและดวงตาของทารกเป็นประจำทุกวันในขณะอาบน้ำ อาจเป็นวิธีที่จะช่วยดูแลสุขภาพดวงตาของทารกได้ ด้วยขั้นตอนดังนี้
- ใช้สำลีก้อนชุบน้ำอุ่นแล้วบีบพอหมาด
- เช็ดทำความสะอาดอย่างเบามือบริเวณมุมตา โดยเช็ดจากมุมด้านในออกด้านนอก เพื่อขจัดสิ่งสกปรก คราบน้ำตาและขี้ตา
- ควรเปลี่ยนสำลีก้อนใหม่ทุกครั้งสำหรับการเช็ดในแต่ละครั้ง
นอกจากการเช็ดทำความสะอาดดวงตาของทารก เมื่อทารกอายุประมาณ 6-12 เดือน โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนด ที่มีอาการของโรคตาหรือประวัติครอบครัวที่เป็นโรคตา ควรพาทารกเข้ารับการตรวจสุขภาพดวงตาอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของดวงตา เช่น สายตาเอียง สายตาสั้น ปัญหาการมองเห็น การเคลื่อนไหวของดวงตา ตำแหน่งดวงตา การสะท้อนแสงสีแดง การกะพริบตา การตอบสนองของดวงตา