backup og meta

วิธีดูแลทารกตัวเหลือง และการรักษาทารกตัวเหลือง

วิธีดูแลทารกตัวเหลือง และการรักษาทารกตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในทารกแรกเกิด มักเกิดจากทารกมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารเคมีสีเหลืองในเลือดมากเกินไป จนส่งผลให้มีสีผิวหรือสีตาขาวเป็นสีเหลือง วิธีดูแลทารกตัวเหลือง ในเบื้องต้น ทำได้ด้วยการให้ทารกกินนมแม่บ่อยขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายขับบิลิรูบินส่วนเกินออกทางอุจจาระ อาจช่วยให้ภาวะตัวเหลืองดีขึ้นได้ โดยปกติแล้วทารกตัวเหลืองไม่ต้องรับการรักษา เว้นแต่ทารกจะมีระดับบิลิรูบินสูงเกินไป เป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีภาวะขาดน้ำ หรือป่วยจนอาการตัวเหลืองไม่สามารถหายไปเองได้ ทั้งนี้ หากดูแลเบื้องต้นแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ทารกยังตัวเหลืองหรือมีอาการแย่ลง ควรพาทารกไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ทารกตัวเหลืองเกิดจากอะไร

ทารกตัวเหลืองเกิดจากทารกมีระดับบิลิรูบิน ซึ่งเป็นสารเคมีสีเหลืองที่ถูกเปลี่ยนมาจากฮีโมโกลบินที่เซลล์เม็ดเลือดแดงปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการสลายเม็ดเลือดในปริมาณมากเกินไป ส่งผลให้ตาขาวและผิวหนังของทารกแรกเกิดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มจากบริเวณใบหน้าและหนังศีรษะ แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ภาวะตัวเหลืองในทารกมักพบหลังจากทารกเกิดได้ประมาณ 2-3 วัน และอาจหายไปเองภายใน 10-14 วันหลังคลอด โดยปกติแล้ว ร่างกายของทารกสามารถกำจัดบิลิรูบินออกไปได้เอง แต่หากตับของทารกยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ก็อาจทำให้กำจัดบิลิรูบินไม่ทันและมีสารชนิดนี้สะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไปจนทำให้ตัวเหลืองได้

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทารกตัวเหลือง อาจมีดังนี้

  • การได้รับน้ำนมแม่น้อยเกินไป ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่ยังผลิตน้ำนมเหลืองหรือโคลอสตรุม (Colostrum) ได้น้อยกว่าน้ำนมขาวทั่วไป จึงอาจทำให้ทารกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ และร่างกายไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินส่วนเกินได้ทัน ส่งผลให้ทารกตัวเหลืองได้ จึงควรให้กินนมแม่บ่อยขึ้น
  • สารบางชนิดในน้ำนมแม่ (Breast milk jaundice) บางครั้งการกินนมแม่เพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้ทารกไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินส่วนเกินได้ทัน ทารกที่มีภาวะนี้อาจต้องงดกินนมแม่แล้วกินอาหารเสริมอื่น ๆ เป็นเวลา 1-3 วัน จนกว่าระดับบิลิรูบินจะลดลงเป็นปกติ
  • ภาวะคลอดก่อนกำหนด (Premature) ร่างกายของทารกคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่ยังไม่แข็งแรงมากนัก การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงตับที่ทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินจึงยังไม่สมบูรณ์ เมื่อตับกำจัดบิลิรูบินได้ไม่ดีจึงอาจส่งผลให้มีระดับบิลิรูบินสูงกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด
  • การมีกรุ๊ปเลือดต่างจากคุณแม่ ในกรณีที่คุณแม่และทารกมีกรุ๊ปเลือดต่างกัน เช่น คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปโอ ส่วนทารกมีเลือดกรุ๊ปเอหรือบี คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปอาร์เอชลบ (Rh Negative) ส่วนทารกมีเลือดกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก (Rh Positive) อาจส่งผลให้แอนติบอดีของคุณแม่โจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก ทำให้ทารกมีระดับบิลิรูบินสูงกว่าปกติได้
  • ภาวะสุขภาพบางประการ ทารกบางคนอาจเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงอ่อนแอกว่าปกติและสลายได้ง่าย เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงป่องพันธุกรรม (Hereditary Spherocytosis) ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) หรือมีระดับเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ (Polycythemia) หรือมีภาวะที่เลือดออกที่เยื่อหุ้มใต้กะโหลกศีรษะในทารกหลังคลอด (Cephalohematoma) จากภาวะคลอดยาก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกตัวเหลือง เช่น

  • ทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์
  • ทารกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว หรือมีปัญหาในการกินนมจากเต้าหรือจากขวดนม
  • ทารกมีพี่ท้องเดียวกันที่เคยมีภาวะตัวเหลือง
  • คุณแม่มีเลือดกรุ๊ปโอ หรืออาร์เอชลบ

อาการทารกตัวเหลือง

อาการตัวเหลืองในทารกแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค อาการโดยทั่วไปอาจมีดังนี้

  • ผิวหนังเป็นสีเหลือง โดยเริ่มจากใบหน้าและหนังศีรษะ
  • ตาขาวของทารกเป็นสีเหลือง
  • ในทารกที่มีอาการปานกลาง อาการผิวเหลืองจะกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • เซื่องซึมผิดปกติ
  • ไม่ยอมกินนมตามปกติ
  • ในบางกรณี ทารกอาจมีอุจจาระสีอ่อน และมีปัสสาวะสีเข้ม

หากทารกที่มีภาวะตัวเหลืองไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงที อาจส่งผลให้มีระดับบิลิรูบินสูงมากจนเข้าไปจับกับเนื้อสมอง และส่งผลให้มีความผิดปกติทางสมองที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ที่อาจส่งผลให้ทารกมีอาการชัก เกร็ง ร่างกายและแขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ และมีพัฒนาการล่าช้า

วิธีดูแลทารกตัวเหลือง

วิธีดูแลทารกตัวเหลือง อาจทำได้ดังนี้

  • ให้ทารกกินนมอย่างน้อย 8-12 ครั้ง/วัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ สำหรับทารกที่กินนมผงสำหรับทารกแรกเกิด ควรให้กินนมประมาณ 30-60 มิลลิลิตร ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด การกินนมจะทำให้ทารกอุจจาระบ่อยขึ้น ซึ่งจะช่วยกำจัดบิลิรูบินส่วนเกิน และลดอาการตัวเหลืองได้
  • สำหรับทารกที่ไม่สามารถกินนมได้ตามปกติ จนมีอาการขาดน้ำ หรือน้ำหนักลดลง คุณหมอจะให้กินอาหารเสริมสำหรับทารกร่วมกับการกินนมแม่ ในบางกรณีคุณหมออาจแนะนำให้กินอาหารเสริมอย่างเดียวเป็นเวลา 1-3 วัน แล้วกลับมาให้นมแม่ต่อตามปกติ

การรักษาทารกตัวเหลือง

การรักษาทารกตัวเหลือง อาจแบ่งตามสาเหตุและความรุนแรงของโรคได้ ดังนี้

  • ตัวเหลืองเล็กน้อย ในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ อาจดูแลเบื้องต้นด้วยการให้กินนมบ่อย ๆ เท่านั้น เนื่องจากตับของทารกจะสามารถควบคุมปริมาณบิลิรูบินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน
  • ตัวเหลืองปานกลาง จะรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) โดยให้ทารกสวมผ้าอ้อมและอุปกรณ์ป้องกันดวงตา เพื่อให้แสงไฟสามารถส่องไปยังผิวหนังได้อย่างทั่วถึง ระยะเวลาในการส่องไปจะขึ้นอยู่กับระดับบิลิรูบิน วิธีนี้จะช่วยให้ตับสลายบิลิรูบินได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับบินลิรูบินในเลือดของทารกลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
  • ตัวเหลืองรุนแรง อาจรักษาด้วยการส่องไฟหลายดวงพร้อมกัน หากทารกมีกรุ๊ปเลือดต่างจากคุณแม่ อาจให้อิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin หรือ IVIg) ร่วมด้วย และหากทารกไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น อาจต้องถ่ายเลือดเพื่อลดระดับบินลิรูบินในเลือดและเจือจางแอนตีบอดีของคุณแม่ในเลือดทารกร่วมด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Infant jaundice. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infant-jaundice/diagnosis-treatment/drc-20373870. Accessed October 19, 2022

Newborn jaundice. https://www.nhs.uk/conditions/jaundice-newborn/treatment/. Accessed October 19, 2022

Jaundice in Newborns. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/Pages/Jaundice.aspx. Accessed October 19, 2022

Newborn Jaundice. https://www.webmd.com/parenting/baby/digestive-diseases-jaundice. Accessed October 19, 2022

Jaundice in babies. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/jaundice-in-babies. Accessed October 19, 2022

Jaundice in Newborns. https://kidshealth.org/en/parents/jaundice.html. Accessed October 19, 2022

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1238. Accessed October 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกตัวเหลือง ดูแลอย่างไรหลังคลอดและเมื่อกลับมาอยู่บ้าน

ตัวเหลือง หรือดีซ่านในทารกแรกเกิด อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา