ทารกเป็นไข้ อาจเป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่พบเจอ เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีการพัฒนาของระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ จึงอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับเชื้อก่อโรคได้ง่าย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาถึง วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด รวมถึงคอยสังเกตอาการผิดปกติ เพราะหากทารกมีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาขึ้นไป และไม่ลดลงภายใน 24 ชั่วโมง ควรพาพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันอาการชักจากไข้สูงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-vaccination-tool]
สาเหตุที่ทำให้ทารกแรกเกิดเป็นไข้
สาเหตุที่อาจทำให้ทารกแรกเกิดเป็นไข้ มีดังนี้
-
การฉีดวัคซีน
ไข้ เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมีการตอบสนองต่อวัคซีน อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน 12 ชั่วโมง และอาจมีไข้นาน 2-3 วัน
-
สภาพอากาศ
สภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด อาจส่งผลให้ทารกเป็นไข้ได้ เนื่องจากร่างกายของทารกมีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ การสวมเสื้อผ้าหลายชั้นให้ทารก การเปิดแอร์ในอุณหภูมิที่เย็นจัด หรือการให้ทารกโดนแสงแดดมากเกินไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ทารกเป็นไข้ได้เช่นกัน
-
การติดเชื้อ
ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกติดเชื้อได้ง่าย ส่งผลให้มีโอกาสเป็นไข้ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดธรรมดา โรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
-
ภาวะขาดน้ำ
ทารกแรกเกิดที่ได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและมีอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น จนทำให้มีไข้ ตัวร้อน
อาการที่ควรสังเกต
อาการเป็นไข้ที่ควรสังเกต มีดังนี้
- ทารกไม่ยอมกินนม
- ง่วงนอนบ่อย หรืออาจตื่นยากผิดปกติ
- ตัวร้อน มีไข้สูงเกิน 38 องศา
- มีน้ำมูก
- ผื่นขึ้นตามร่างกาย
- ร้องไห้เป็นเวลานาน และอาจมีปริมาณของน้ำตาลลดลง หรืออาจร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา
- อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก
หากทารกแรกเกิดมีอาการรุนแรง เช่น ไข้ขึ้นสูงนานกว่า 24 ชั่วโมง ริมฝีปากทารกแห้ง มีอาการชักนานว่า 15 นาที อาเจียนหลายครั้ง หายใจลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อจากไวรัสชนิดรุนแรง ที่อาจส่งผลให้ปอดบวมหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด
วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาจทำได้ดังนี้
- ให้ทารกดื่มน้ำหรือดื่มนมมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- เช็ดตัวทารก หรืออาบน้ำให้ทารกด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง
- วัดอุณหภูมิร่างกายของทารกอย่างสม่ำเสมอ
- ควรเลือกเสื้อผ้าที่บางเบา และไม่หนาเกินไป เพื่อให้ทารกรู้สึกสบายตัว
- ให้ทารกรับประทานยาลดไข้ โดยควรขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อน ไม่ควรให้รับประทานยาลดไข้เอง อีกทั้งยังไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) กับเด็กทารก เพราะอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงเป็นโรคเรย์ (Reye syndrome) ที่ทำให้การไหลเวียนเลือดลดลง การทำงานของตับและสมองผิดปกติ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การป้องกันทารกเป็นไข้
การป้องกันทารกเป็นไข้ มีดังนี้
- ปรับอุณหภูมิภายในบ้านให้พอดี ไม่ควรร้อนหรือเย็นจนเกินไป
- ล้างมือให้สะอาดก่อนอุ้มหรือเล่นกับทารก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อก่อโรคแพร่กระจายไปยังทารก
- ทำความสะอาดบ้าน ที่นอน หมอน เสื้อผ้า ตุ๊กตา ผ้าอ้อม ให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรค
- ไม่ควรให้ทารกอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย
- ควรให้ทารกสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่หนาเกินไป เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ทารกรู้สึกร้อน จนส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการพาทารกออกไปข้างนอกในช่วงที่แดดจัด โดยเฉพาะในช่วงบ่าย
- พาทารกเข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อช่วยป้องกันโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะส่งผลให้ทารกมีไข้เล็กน้อย แต่ก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าวัคซีนตอบสนองกับระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคได้