วิธีอาบน้ำทารก เป็นขั้นตอนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความใส่ใจและให้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ นอกเหนือจากขั้นตอนต่าง ๆ ที่ควรอาบน้ำให้ถูกต้องแล้ว ควรคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้ครีมอาบน้ำ สบู่ ยาสระผม รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของผู้ใหญ่กับเด็กทารก เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
วิธีอาบน้ำทารก
โดยปกติแล้ว ทารกแรกเกิดจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์สายสะดือจึงจะหลุดออก ซึ่งในระหว่างนั้นไม่ควรอาบน้ำให้ทารก แต่ควรใช้ฟองน้ำนุ่ม ๆ ชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดแทน ส่วนเด็กผู้ชายที่ทำการขลิบไม่ควรอาบน้ำจนกว่าแผลที่บริเวณอวัยวะเพศจะหายดีแล้ว โดยคุณพ่อคุณแม่อาจอาบน้ำทารกได้ ดังนี้
- ถอดเสื้อผ้าและผ้าอ้อมออกจากตัวทารก แล้ววางทารกไว้บนผ้าเช็ดตัวแห้งสะอาด หากอากาศหนาว ให้ถอดเสื้อผ้าออกทีละชิ้น เพื่อป้องกันทารกหนาวเกินไปจนอาจทำให้เป็นไข้ได้
- ใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ชุบน้ำอุ่น บิดให้หมาด แล้วเช็ดหน้าให้ทารกโดยไม่ต้องใช้สบู่
- ผสมน้ำอุ่นกับสบู่ นำผ้าขนหนูที่ใช้เช็ดหน้าเมื่อสักครู่ชุบน้ำสบู่ที่ผสมไว้ บิดให้หมาด แล้วเช็ดตัวให้ทารก โดยเช็ดทำความสะอาดส่วนที่อยู่ใต้ผ้าอ้อมเป็นที่สุดท้าย
- ล้างตัวด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้าขนหนูแห้งสนิทซับตัวให้แห้ง
- ควักน้ำอุ่นใส่ศีรษะทารกช้า ๆ ให้น้ำเปียกทั่วศีรษะ
- บีบยาสระผมปริมาณเล็กน้อยลงบนศีรษะ จากนั้นถูวนเป็นวงกลมให้ทั่ว เสร็จแล้วค่อย ๆ ล้างยาสระผมออกให้เกลี้ยง โดยต้องระวังอย่าให้ยาสระผมเข้าตา
สำหรับวิธีอาบน้ำทารก นอกจากต้องใส่ใจในทุกขั้นตอนและควรทำด้วยความระมัดระวังแล้ว ยังควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิวและเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทารกโดยเฉพาะ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้ครีมอาบน้ำ สบู่ ยาสระผม รวมถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของผู้ใหญ่กับทารก เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง
การดูแลร่างกายส่วนต่าง ๆ ของทารก
นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้องเรียนรู้วิธีอาบน้ำทารกที่ถูกต้องแล้ว ก็ควรดูแลร่างกายส่วนอื่น ๆ ของทารก ดังนี้
-
การดูแลหู
หลังจากอาบน้ำทารกเรียบร้อยแล้ว ควรทำความสะอาดบริเวณหูด้วย โดยใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ หรือก้านสำลีเช็ดบริเวณใบหูทั้งหน้าและหลัง อย่าแคะหรือแหย่ก้านสำลีเข้าไปในรูหูของเด็กเด็ดขาด เพราะอาจทำให้หูของทารกมีปัญหาได้ เช่น แก้วหูทะลุ หูอักเสบ ปวดหู สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ คือ เช็ดทำความสะอาดบริเวณด้านนอกช่องหู และปล่อยให้ขี้หูที่อยู่ในรูหูหลุดออกมาเอง แต่หากขี้หูไม่หลุดออกมา หรือกลัวมีปัญหาขี้หูอุดตัน ควรพาทารกไปพบคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอเอาขี้หูออกให้
-
การดูแลเล็บ
เล็บของทารกอาจงอกยาวขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีความคม คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยดูแลเล็บให้ดี หากยังตัดเล็บให้ทารกไม่ได้ก็ควรสวมถุงมืออยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันทารกข่วนหน้าตัวเอง เมื่อถึงเวลาให้ใช้กรรไกรตัดเล็บหรือตะไบสำหรับเด็กตัดเล็บให้ทารกอย่างเบามือ เวลาที่ดีที่สุดในการดูแลเล็บทารก คือ ช่วงที่ทารกกำลังงีบหลับ คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดไฟให้สว่างเพียงพอจะได้มองเห็นเล็บ จากนั้นวางนิ้วทารกไว้บนอุ้งมือ แล้วค่อย ๆ ตัดเล็บอย่างระมัดระวัง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจต้องตัดเล็บให้ทารกสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บยาวเกินไป
-
การดูแลเหงือก
ถึงแม้ทารกจะยังไม่มีฟัน แต่ก็ควรเริ่มทำความสะอาดในช่องปากและเหงือกได้แล้ว เพราะยิ่งคุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นดูแลช่องปากให้ทารกน้อยเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้คุ้นชินกับการทำความสะอาดช่องปากเร็วขึ้นเท่านั้น ทั้งยังเป็นการช่วยสร้างนิสัยที่ดีในการแปรงฟันให้แก่ทารกในอนาคตได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยให้ทารกรู้สึกสบายขึ้นเวลาที่ฟันเริ่มงอกขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่อาจใช้ผ้าชื้น ๆ พันปลายนิ้วและเช็ดทำความสะอาดภายในช่องปากและเหงือกให้ทารก เมื่อฟันเริ่มงอกจึงค่อยให้แปรงสีฟันสำหรับเด็กแปรงฟันให้ทารกอย่างจริงจัง
-
การดูแลผิว
ถึงแม้ผิวทารกจะเนียนนุ่มอยู่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญก็มักแนะนำให้ทาโลชั่นที่เหมาะสำหรับทารกเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ผิวของทารกยังคงความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทั้งยังป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย หากปล่อยให้ผิวทารกแห้งแตกก็อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราแทรกซึมเข้าสู่ผิวที่บอบบางได้
ทารกวัย 2-4 สัปดาห์ อาจมีผื่นขึ้นที่ใบหน้าในบริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง และในทารกบางรายก็อาจมีผื่นขึ้นตามตัวด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะฮอร์โมนของคุณแม่ยังคงอยู่ในระบบหมุนเวียนโลหิตจึงไม่มีทางป้องกันผื่นเหล่านี้ได้ ซึ่งผื่นที่เกิดขึ้นนี้อาจหายไปได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องทาครีมหรือทายาอะไร เพียงทำความสะอาดผิวให้ทารกด้วยน้ำอุ่นในช่วงอาบน้ำตามปกติก็เพียงพอแล้ว แต่หากเวลาผ่านไปนานแล้วผื่นยังไม่หาย หรือมีอาการแย่ลง ผื่นที่เป็นอาจเกิดจากอาการแพ้ ที่เรียกว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ จึงควรพาทารกไปพบคุณหมอทันที