backup og meta

เป้อุ้มเด็ก ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้

เป้อุ้มเด็ก ประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้

เป้อุ้มเด็ก เป็นตัวช่วยสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการอุปกรณ์ในการช่วยอุ้มเด็ก ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณพ่อคุณแม่ ช่วยลดอาการร้องไห้งอแงของเด็ก ช่วยให้เด็กนอนหลับง่ายขึ้น รวมถึงอาจช่วยสร้างความรักความผูกพันและอาจช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่ได้ อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อควรระวังในการใช้เป้อุ้มเด็กก่อนเลือกซื้อเพื่อความปลอดภัยของเด็ก

[embed-health-tool-due-date]

ประเภทของเป้อุ้มเด็ก

เป้อุ้มเด็กเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้อุ้มทารกไว้บนหน้าอกหรือหลัง ซึ่งอาจมีหลายลักษณะ ดังนี้

  • เป้อุ้มเด็ก (Baby Carrier) มีลักษณะเป็นเป้อุ้มสำหรับสะพายไว้ด้านหน้า หรือบางชิ้นอาจสามารถปรับได้เพื่อใช้สะพายไว้ด้านหลังหรือสะโพก
  • เป้หรือผ้าพาดไหล่อุ้มเด็ก (Baby Sling) มีลักษณะเป็นแถบผ้าหรือเป้ที่มีลักษณะพาดไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับอุ้มเด็กทารก
  • กระเป๋าเป้อุ้มเด็ก (Baby Backpack) มีลักษณะเป็นโครงแข็ง มักใช้ใส่เป็นเป้สะพายหลัง เหมาะสำหรับเด็กโตและเด็กวัยหัดเดินที่สามารถยกศีรษะได้เอง

เป้อุ้มเด็ก มีประโยชน์อย่างไร

เป้อุ้มเด็กอาจมีประโยชน์ทั้งต่อคุณพ่อคุณแม่และเด็ก ดังนี้

  • ช่วยให้เด็กนอนหลับได้ดีขึ้น เด็กบางคนเมื่ออยู่ห่างจากคุณพ่อคุณแม่อาจมีอาการร้องไห้งอแงบ่อย ดังนั้น การใช้เป้อุ้มเด็กจึงอาจช่วยให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา ช่วยให้เด็กสบายใจ รู้สึกปลอดภัย และได้รับความรักความอบอุ่น จึงอาจช่วยให้เด็กนอนหลับได้ดีขึ้น
  • ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กร้องไห้งอแง หากเด็กอยู่เพียงลำพังหรือร้องไห้งอแงบ่อยครั้ง อาจทำให้เด็กเกิดความเครียดมากขึ้นและส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งการใช้เป้อุ้มเด็กอาจช่วยให้เด็กร้องไห้งอแงน้อยลง เนื่องจากเด็กจะรู้สึกสบายและปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมกอดของคุณพ่อคุณแม่
  • ช่วยสร้างความสัมพันธ์ ขณะอยู่ในครรภ์เด็กทารกจะใกล้ชิดกับเสียงหัวใจ การหายใจ และการเคลื่อนตัวของคุณแม่ตลอดเวลา เมื่อเด็กคลอดออกมาเป้อุ้มเด็กอาจเป็นตัวช่วยในการสร้างความเคยชินให้กับเด็กแรกเกิด รวมถึงยังอาจช่วยสร้างความผูกพันให้เพิ่มมากขึ้นในระหว่างการอุ้มแนบอกได้อีกด้วย
  • ช่วยให้สามารถให้นมเด็กง่ายขึ้น เป้อุ้มเด็กอาจช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมแม่กับลูกได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องอยู่นอกบ้าน เนื่องจากเด็กจะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การให้นมตลอดเมื่อยังอยู่ในเป้อุ้มเด็ก
  • อาจดีต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสังคม เนื่องจากการใช้เป้อุ้มเด็กจะช่วยให้เด็กสามารถไปไหนมาไหนกับคุณพ่อคุณแม่ได้ทุกที่ สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากขึ้น และได้ฟังการสื่อสารหรือเสียงต่าง ๆ ที่อาจช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมระหว่างคนรอบตัวกับเด็กได้ในเวลาเดียวกัน
  • อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คล่องตัวมากขึ้น การใช้เป้อุ้มเด็กอาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถทำงาน ทำกิจกรรมภายในบ้านหรือนอกบ้านได้คล่องตัวมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะร้องไห้งอแงหรือไม่ และอาจช่วยให้สามารถสังเกตความต้องการของลูกได้ทันที ง่ายต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น
  • อาจช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การอุ้มเด็กให้อยู่ใกล้ตัวตลอดอาจช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ เพราะช่วยให้คุณแม่ได้เห็นหน้าลูกตลอดเวลา อาจช่วยให้รู้สึกได้ถึงความรักและความอบอุ่นของลูก ดังนั้น การเลือกใช้เป้อุ้มเด็กจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคุณแม่หลังคลอด

ข้อควรระวังในการใช้เป้อุ้มเด็ก

การเลือกใช้เป้อุ้มเด็กที่ไม่เหมาะสมกับอายุและขนาดตัวของเด็ก อาจมีความเสี่ยงที่เป้จะหลวมเกินไปจนไม่สามารถพยุงตัวเด็กไว้ได้ หรือเป้อาจรัดแน่นมากเกินไปจนกดหน้าอกหรือจมูก และทำให้เด็กหายใจไม่ออก จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น ในขณะที่ใช้เป้อุ้มเด็กจึงควรสังเกตอยู่เสมอ หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ควรรีบนำเด็กออกจากเป้และเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสอบอาการ

  • ไม่สามารถมองเห็นใบหน้าของเด็ก เนื่องจากเด็กอาจถูกเป้หรือหน้าอกของคุณพ่อคุณแม่กดอยู่ จนอาจเสี่ยงทำให้หายใจไม่ออกได้
  • เด็กมีลักษณะงอตัวมาก คล้ายทารกที่ยังอยู่ในครรภ์
  • เด็กร้องไห้งอแง หายใจมีเสียงหวีด หายใจติดขัด หายใจเร็ว หรือหายใจทางปาก
  • เด็กมีอาการดิ้นและกระสับกระส่าย
  • ผิวของเด็กมีสีซีด สีเทา หรือสีน้ำเงิน

การป้องกันอันตรายเมื่อใช้เป้อุ้มเด็ก

ควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

  • ตรวจสอบว่าเป้อุ้มเด็กแน่นพอดีและอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในการรองรับศีรษะเด็ก เพื่อป้องกันเป้หลวมเกินไปจนไม่สามารถพยุงศีรษะเด็กไว้ได้ หรือแน่นเกินไปจนขัดขวางการหายใจของเด็ก
  • คุณพ่อคุณแม่ที่ใช้เป้อุ้มเด็กควรต้องมองเห็นหน้าเด็กอยู่เสมอ โดยที่ใบหน้าและจมูกของเด็กจะต้องไม่มีอะไรมาปิดกั้นไว้ เพื่อป้องกันการหายใจไม่ออก
  • ตำแหน่งศีรษะของทารกควรอยู่ใกล้คางของคุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ โดยให้ศีรษะหันไปด้านข้าง
  • ตรวจสอบว่าคางของเด็กไม่กดลงไปบริเวณหน้าอกมากเกินไป เพราะอาจขัดขวางการหายใจได้ และควรสังเกตอาการของเด็กเสมอ เพราะบางครั้งเด็กอาจหายใจไม่ออกแต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากขยับตัวไม่ได้
  • พยุงหลังของเด็กให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติ โดยให้หน้าท้องของเด็กชิดกับหน้าอกของคุณพ่อคุณแม่เสมอ และในขณะที่โน้มตัวลงให้ใช้มือพยุงหลังของเด็กไว้ จากนั้นค่อย ๆ งอเข่าและนั่งลงช้า ๆ เพื่อไม่ให้หลังของเด็กเคลื่อนย้ายผิดตำแหน่ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Baby carriers, slings and backpacks: safety guide. https://raisingchildren.net.au/newborns/safety/equipment-furniture/baby-carrier-sling-safety#:~:text=Baby%20carriers%2C%20baby%20slings%20and,on%20your%20back%20or%20hip. Accessed February 28, 2023.

Everything you need to know about slings and carriers. https://www.nct.org.uk/baby-toddler/slings-and-swaddling/everything-you-need-know-about-slings-and-carriers. Accessed February 28, 2023.

Baby Wearing: What Is It?. https://www.webmd.com/baby/what-is-baby-wearing. Accessed February 28, 2023.

The Benefits of Baby Carrying. https://www.naturalchild.org/articles/guest/elizabeth_antunovic.html. Accessed February 28, 2023.

Cuddling Does Kids (and Parents) Good. https://www.chla.org/blog/rn-remedies/cuddling-does-kids-and-parents-good. Accessed February 28, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคโควิด 19 ส่งผลต่อสุขภาพเด็กอย่างไร และวิธีดูแลเด็กที่ควรรู้

8 เคล็ดลับเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา