backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 3 ของลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 3 ของลูกน้อย

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 3 ทารกอาจเริ่มมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น เริ่มให้ความสนใจกับใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น อาจสามารถเริ่มจดจำและแยกแยะเสียงได้ แต่ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ ทำได้เพียงแค่ร้องไห้เป็นหลัก ในช่วงนี้เด็กอาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตฉับพลันเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ เพราะเด็กอาจสามารถพลิกตัวคว่ำหน้าได้เองแต่อาจไม่สามารถพลิกกลับได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรระวังและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

    การเจริญเติบโตและ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 3

    ลูกน้อยจะเติบโตอย่างไร

    ทารกอายุ 3 สัปดาห์สามารถมองตามวัตถุได้ในระยะ 20-35 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะห่างระหว่างดวงตาของลูกน้อยกับระยะใบหน้าของผู้ที่ป้อนนมให้ เด็กในช่วงวัยนี้มักจะให้ความสนใจกับใบหน้ามากกว่าวัตถุ ควรส่งเสริมโดยมองตาทารกขณะที่ป้อนนมให้

    ในขณะเดียวกันอาจลองเลื่อนศีรษะช้า ๆ จากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง แล้วสังเกตว่าดวงตาของทารกจ้องมองตามอยู่หรือเปล่า วิธีนี้จะช่วยบริหารกล้ามเนื้อและทักษะในการมองตามให้ทารกได้ การสื่อสารด้วยการสบตากันนั้น ยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์สายใยระหว่างแม่หรือผู้ที่ป้อนนมให้ทารก นอกจากนั้น ทารกยังสามารถขยับแขนขาและเคลื่อนไหวหรืออาจพลิกตัวนอนคว่ำเองได้แล้ว

    ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    ลูกน้อยสามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้เพียงวิธีเดียว นั่นก็คือ การร้องไห้ ตอนนี้ลูกน้อยอาจจำเสียงได้แล้ว และสามารถแยกแยะเสียงของคุณพ่อคุณแม่ออกจากเสียงคนอื่น ๆ ได้ด้วย

    ลูกน้อยอาจชอบให้กอด ลูบไล้ จูบ นวด และอุ้ม โดยอาจจะทำเสียง “อา” เวลาที่ได้ยินเสียงหรือเห็นหน้า 

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร

    โดยทั่วไปแล้ว หากทารกมีพัฒนาการตามปกติอาจไม่จำเป็นต้องพาไปพบคุณหมอ อย่างไรก็ตาม ควรสำรวจหาสัญญาณที่ส่อถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อย่างเช่น

    • ตรวจดูปัสสาวะหรือสีอุจจาระ เพื่อตรวจหาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
    • สังเกตรอยช้ำหรือจุดแดงเป็นจ้ำ ๆ บนผิว หากพบอาจหมายถึงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบเลือด ควรปรึกษาคุณหมอทันที

    สิ่งที่ควรรู้

    เด็กวัยนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในเด็กทารกขณะนอนหลับ แม้จะเกิดขึ้นได้ยากแต่ควรหาทางป้องกันโดยเฉพาะทารกที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่  

    • แม่สูบบุหรี่เป็นประจำขณะตั้งครรภ์
    • ผู้ปกครองหรือคนดูแลใกล้ชิดสูบบุหรี่
    • การนอนคว่ำหน้าบนที่นอน
    • คลอดก่อนกำหนด
    • น้ำหนักตัวตอนคลอดน้อย
    • นอนบนเบาะที่นุ่มเกินไป
    • ตัวร้อนขณะนอนหลับ

    เพื่อป้องกันโรคการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในเด็กทารก ควรปฎิบัติดังนี้

    • ควรจับเด็กนอนหงายตลอดเวลา การเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในเด็กทารกอาจลดลง แต่ไม่ควรให้นอนตะแคง และควรจัดระเบียบเปลหรือที่นอน อย่าให้มีหมอน ของเล่นนุ่ม ๆ และที่กันกระแทกมาวางเกะกะ เพราะอาจจะครอบอยู่บนปากทารกจนทำให้ทารกหายใจไม่ออก
    • ควรระมัดระวังไม่ให้มีผ้าห่มมาคลุมอยู่บนศีรษะ และควรปรับอุณหภูมิห้องที่นอนให้อยู่ที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส
    • อย่าใส่เสื้อผ้าให้ทารกมากเกิน คุณพ่อคุณแม่อาจนอนอยู่ห้องเดียวกับลูกหรือวางเตียงชิดกัน และคอยสังเกตเกี่ยวกับการหายใจและการเคลื่อนไหวของลูก หากนอนกับลูกควรระมัดระวังเวลาพลิกตัวเพราะอาจทับและทำให้ลูกหายไม่ออกเสี่ยงเสียชีวิตได้ 
    • งดสูบบุหรี่ในบริเวณใกล้ ๆ ลูก และควรนำลูกให้อยู่ห่างจากคนที่สูบบุหรี่ด้วย

    สิ่งที่ควรเป็นกังวล

    ต้องกังวลในเรื่องใด

    ชีวิตประจำวันและพฤติกรรมของทารกในสัปดาห์นี้ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกซึมเศร้าหรือเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ เนื่องจากลูกจะร้องไห้อยู่ตลอดเวลา เพราะการร้องไห้เป็นช่องทางสื่อสารเพียงวิธีเดียวที่ลูกน้อยสามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้ในตอนนี้ ดังนั้น แทนที่จะรู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวัง ควรค้นหาสาเหตุของการร้องไห้แล้วพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา เช่น ลูกน้อยหิว ง่วงนอน ผ้าอ้อมเปียกชื้น โดนยุงหรือมดกัด 

    ถ้าลูกน้อยร้องไห้วันละมากกว่าสามชั่วโมง เป็นเวลาสามสัปดาห์ อาจหมายถึงเป็นโรคโคลิค (Colic) ซึ่งเด็กที่เป็นโรคนี้จะชอบร้องไห้เป็นเวลานาน ๆ แม้จะมีสุขภาพดีและได้รับอาหารอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม โดยในทารกบางรายจะไม่ยอมหยุดร้องไห้ อาจกำมือและถีบขาอย่างรุนแรง หรืออาจผายลมร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน

    โดยทั่วไป อาการโรคโคลิคนั้น จะเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 60 ของเด็กทารกทั้งหมด และมักหายจากอาการนี้ภายในสามเดือน และร้อยละ 90 มักมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุได้ 4 เดือน

    อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอ หากสังเกตเห็นสัญญาณของความผิดปกติหรือมีข้อสงสัยใด ๆ เพื่อหาวิธีดูแลลูกน้อยอย่างดีที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา