backup og meta

พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 37 เป็นอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 37 เป็นอย่างไร

    พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 37 หรือพัฒนาการของทารกช่วงอายุประมาณ 9 เดือน เป็นช่วงวัยที่สามารถเห็นพัฒนาการและการเติบโตอย่างชัดเจน ลูกน้อยจะเริ่มเล่น เรียนรู้ พูด และเคลื่อนไหว นั่ง คลานอย่างคล่องแคล่ว ยืน และเริ่มก้าวเดิน นอกจากนั้น ยังเริ่มรับประทานอาหารที่ไม่ใช่แค่อาหารเหลวได้แล้วเพราะฟันเริ่มขึ้นแล้ว รวมทั้งแสดงอารมณ์ต่าง ๆ และแยกแยะสมาชิกในครอบครัวและคนแปลกหน้าได้แล้ว

    การเจริญเติบโต พฤติกรรม และ พัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 37 

    ทารกในวัยนี้ มีพัฒนาการที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ดังนี้

    • เริ่มแสดงสีหน้าได้หลายอย่าง เช่น สุข เศร้า โกรธ ร้องไห้ ยิ้มหรือหัวเราะเมื่อเล่น
    • หาทางหยิบของเล่นที่อยู่เกินเอื้อม
    • มองหาสิ่งของที่ทำตกไป
    • แยกแยะคนแปลกหน้าได้ และเริ่มกลัวหากไม่ใช่คนในครอบครัว
    • ทำเสียงดังและเสียงแปลก ๆ เริ่มพูดคุยแต่ยังไม่เป็นคำพูดที่เข้าใจได้
    • ทำมือให้อุ้ม แสดงความต้องการบางอย่างได้
    • นั่งเองได้ เริ่มยืนได้อย่างมั่นคง และเริ่มก้าวเดิน

    ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร

    ในช่วงวัยนี้ ลูกน้อยจะติดการได้อยู่ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ หากต้องการออกไปทำงานหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ควรหาอุปกรณ์หรือกิจกรรมมาช่วยหันเหความสนใจ เช่น สมุดภาพ ของเล่นที่มีเสียง ตัวต่อ หุ่นที่ใช้มือเชิด ไม่ควรปล่อยลูกน้อยไว้ตามลำพัง ควรพูดคุยและหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำกับลูกน้อย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์

    สุขภาพและความปลอดภัย

    ควรปรึกษาแพทย์อย่างไร

    การตรวจร่างกายของลูกน้อยช่วงวัยนี้ คุณหมอแต่ละคนก็มีสไตล์ในการตรวจสุขภาพเด็กที่แตกต่างกัน โดยคุณหมอมักทำการตรวจสอบทางร่างกายโดยรวม ดังนี้

    • ซักถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ลูกน้อยและสมาชิกในครอบครัวทำร่วมกันที่บ้าน รวมทั้งการรับประทานอาหาร การนอนหลับ และพัฒนาการโดยทั่วไปของลูกน้อย
    • ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดขนาดศีรษะ และตรวจสอบพัฒนาการตั้งแต่เกิด
    • ซักถามเกี่ยวกับการดูแลลูกน้อย เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงานถึงการวางแผนต่าง ๆ เพื่อมั่นใจว่า เด็กจะมีผู้ที่สามารถดูแลและช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสม

    สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก สัปดาห์ที่ 37 

    ไข้หวัดธรรมดา

    เด็กส่วนใหญ่มักเป็นไข้หวัดในช่วงสองปีแรก 8-10 ครั้ง คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่คอยทำให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว เพื่อร่างกายจะได้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสและฟื้นฟูตัวเอง วิธีช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น ได้แก่

  • ให้ลูกน้อยพักผ่อนมาก ๆ เพาะเด็กในช่วงวัยนี้หากไม่สบายจะต้องการงีบหลับยาวกว่าปกติหรืองีบหลับมากขึ้น
  • ใช้ผ้าเช็ดตัวหนุนที่นอนบริเวณหัวนอน เพื่อยกศีรษะของทารกขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • ให้ลูกน้อยอาบน้ำอุ่น
  • ดูแลลูกน้อยไม่ให้อยู่ในภาวะขาดน้ำด้วยการป้อนนมแม่ นมขวด หรือน้ำ
  • ใช้ยาหยอดจมูกและลูกยางในการดูดน้ำมูกออกจากจมูกลูกน้อย
  • ติดตั้งเครื่องทำความชื้น หรือเครื่องพ่นละอองเย็นไว้ในห้องลูก หรือพาลูกน้อยเข้าไปอยู่ในห้องน้ำที่มีไอน้ำประมาณ 15 นาที เพื่อช่วยทำให้หายใจได้โล่งขึ้น
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาแก้หวัดหรือใช้ยาพ่นจมูก อย่าให้ยาแอสไพริน (Aspirin) อีเฟรดา (Ephedra) หรืออีเฟรดีน (Ephedrine) หรือยาใด ๆ ที่มีส่วนประกอบเหล่านี้ อาจให้ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) สำหรับอาการไข้ แต่ควรรู้ขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับเด็กก่อน หากไม่แน่ใจควรต้องปรึกษาคุณหมอ
  • หากอาการแย่ลงหลังผ่านไปประมาณ 5 วัน ควรพาไปหาคุณหมอ หรือมีอาการตั้งแต่ 10-14 วัน รวมทั้งเวลาที่ลูกน้อยหายใจมีเสียงแปลก ๆ มีปัญหาทางการหายใจ ร้องไห้ไม่ยอมหยุดในระหว่างป้อนอาหาร หรือเมื่อจับตัวให้นอนลง หรือากวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 38.3 องศาเซลเซียส
  • ในการป้องกันไข้หวัดนั้น ควรล้างมือเป็นประจำ และขอให้สมาชิกในบ้านล้างมือก่อนและหลังอุ้มลูกน้อย ให้ลูกน้อยอยู่ห่างจากผู้ป่วยและคนที่สูบบุหรี่ หากลูกดื่มนมแม่ควรให้ลูกดืมต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะน้ำนมแม่อาจช่วยลดการติดหวัดได้

    เปลี่ยนรูปแบบการนอนหลับ

    ทารกนอนมากน้อยขนาดไหนนั้นไม่สำคัญ ที่สำคัญกว่านั้นคือนอนหลับได้ดีแค่ไหนมากกว่า เมื่อลูกน้อยไม่ยอมงีบหลับ หรืองีบหลับแต่มีอาการงอแงและอ่อนล้าในช่วงอาหารเย็น นั่นอาจเป็นเพราะต้องการเวลานอนมากขึ้น การนอนไม่พอจะทำให้ลูกน้อยไม่ค่อยมีความสุข และมักงอแงในช่วงระหว่างวัน

    ถ้าลูกน้อยนอนไม่พอหรือไม่ยอมนอน คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามให้มากขึ้น ลองวางลูกน้อยลงเมื่อรับประทานอาหารอิ่มแล้ว และสร้างบรรยาการผ่อนคลายด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ และนวดตัวลูกน้อยเบา ๆ ในห้องมืด ๆ ที่ไม่มีสิ่งรบกวนอาจช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกง่วงได้ อย่ายอมแพ้โดยทันทีถ้าลูกน้อยยังไม่ยอมง่วง เด็กบางคนอาจต้องการเวลาเพื่อกล่อมตัวเองให้ง่วงในช่วงระหว่างวัน ถ้าวิธีนี้ยังไม่ได้ผล อาจต้องอุ้มเด็กน้อยออกไปเดินเล่น การเคลื่อนไหวร่างกายอาจทำให้เขาเคลิ้มหลับได้

    สิ่งที่ต้องเป็นกังวล

    ต้องกังวลในเรื่องใด

    ป้อนอาหารที่โต๊ะ

    ลูกน้อยควรเริ่มนั่งบนตักของผู้ใหญ่ เพื่อฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหารและการเข้าสังคม เมื่อไรก็ตามที่สามารถทำได้ ให้เริ่มฝึกใช้เก้าอี้สูงของลูกน้อยที่โต๊ะอาหาร จัดข้าวของบนโต๊ะให้ลูกน้อย รวมทั้งให้อาหารแบบที่ใช้มือหยิบกินได้ และให้มีส่วนร่วมในบทสนทนาบนโต๊ะอาหารด้วย

    ไม่สนใจนมแม่แล้ว

    ถ้าลูกน้อยปฎิเสธไม่ยอมกินนมแม่ ควรใช้เคล็ดลับต่อไปนี้

    • ลองหาที่เงียบสงบ เด็กในวัยแปดถึงเก้าเดือนนี้มักมีความอยากรู้อยากเห็นมาก จึงมักถูกหันเหความสนใจได้ง่ายจากโทรทัศน์ เสียงหวอรถดับเพลิง หรือเมื่อสุนัขเดินผ่าน เพื่อให้ลูกน้อยพุ่งความสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ควรป้อนนมในที่เงียบ ๆ และกอดแนบอกเพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายและได้รับความอบอุ่นจากอกแม่
    • ควรป้อนนมในตอนเช้า ก่อนที่วุ่นวายระหว่างวัน นอกจากนั้น ควรป้อนนมหลังให้ลูกน้อยอาบน้ำอุ่นในตอนกลางคืน หรือหลังจากนวดให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือในช่วงก่อนเวลางีบหลับ
    • ถ้าลูกน้อยยังดูไม่ค่อยกระตือรือล้นที่จะกินนมแม่ อาจถึงเวลาหย่านม คุณแม่ควรเตรียมพร้อมไว้เสมอ
    • ควรปั๊มนมจากเต้านมต่อไป เพื่อใช้ป้อนลูกน้อยให้ครบหนึ่งปี ถ้ามีน้ำนมไม่พอควรเปลี่ยนไปใช้นมผง โดยอาจป้อนนมแม่หรือนมผงจากขวดนม หรือลองให้ลูกน้อยกินนมแม่หรือนมผงจากถ้วยดูบ้าง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 30/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา