จุกนมปลอม นับเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ช่วยหลอกล่อให้เด็กหายงอแง หรือนอนหลับง่ายขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วนำมาเริ่มต้นใช้สำหรับทารกหลังคลอดแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ สำหรับสร้างความผ่อนคลาย เหมาะสำหรับทารกที่นอนหลับยากหรือร้องไห้อยากดูดนมแต่เพิ่งรับประทานนมไป จุกนมปลอมเหมาะสำหรับลูกรักหรือไม่ มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาถึงผลดีและผลเสียของการใช้จุกนมปลอม เพื่อการใช้งานที่ถูกต้องและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกดูดจุกนมปลอมหรือเปล่า
หากลูกหงุดหงิดงอแง จะกอดจะปลอบอย่างไรก็ยังไม่หยุดร้อง หรือลูกมีปัญหาหลับยาก เปิดเพลงกล่อมแล้วก็ยังไม่ยอมหลับ จุกนมปลอมนับเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี ที่จะช่วยให้เด็กผ่อนคลายและหลับได้ง่ายขึ้น หรือหากลูกรักกินนมจนอิ่มแล้ว แต่ยังรู้สึกอยากดูดนมอยู่ ก็สามารถให้ลูกดูดจุกนมหลอกแทนได้ ทั้งยังใช้เป็นเครื่องเบี่ยงเบนความสนใจ เวลาลูกต้องไปพบคุณหมอ หรือช่วยบรรเทาอาการหูอื้อ หากต้องโดยสารเครื่องบินได้ด้วย
ควรให้ลูกเริ่มดูดจุกนมปลอมตอนไหน
ช่วงเวลาในการเริ่มให้ลูกเริ่มดูดจุกนมปลอมนั้นแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรรอให้ตัวเองและลูกน้อยเคยชินกับการดูดนมจากเต้าแม่เสียก่อน นั่นคืออย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกสับสน หรือปฏิเสธการดูดนมจากเต้า แล้วหันไปดูดแต่จุกนมปลอม ยิ่งหากคลอดก่อนกำหนด อาจต้องรอนานกว่า 4 สัปดาห์จึงค่อยเริ่มให้ลูกดูดจุกนมปลอม เพราะกล้ามเนื้อของเด็กคลอดก่อนกำหนดจะไม่แข็งแรงเท่าเด็กที่คลอดตามกำหนด จึงทำให้เขาดูดอะไรได้ลำบาก จึงอาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติจึงจะคุ้นกับการดูดนมแม่ หรือดูดจุกนมปลอม
จุกนมปลอมไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน
หากลูกมีปัญหาน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะหากเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด ไม่ควรให้ลูกดูดจุกนมปลอม ยิ่งถ้าคุณแม่มีปัญหาไม่สามารถปั๊มนมมาเก็บไว้ใส่ขวดนมให้ลูกกินได้ ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้าเท่านั้น เพราะอาจทำให้ลูกกินจากเต้าได้ยากขึ้น จนลูกขาดสารอาหาร และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ นอกจากนี้ ถ้าลูกมีปัญหาหูอักเสบบ่อยควรหลีกเลี่ยงการดูดจุกนมปลอม
ปล่อยลูกหลับคาจุกนมปลอมเลยได้ไหม
แม้ลูกจะหลับไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจให้ลูกดูดจุกนมหลอกต่อไปได้ เพราะนอกจากจุกนมหลอกจะช่วยให้ลูกหลับได้ง่ายและหลับได้นานขึ้นแล้ว จุกนมปลอมอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการนอน เช่น โรคไหลตายในเด็ก หรือโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้มากที่สุดสาเหตุหนึ่ง ของทารกอายุ 1-12 เดือน
ข้อดีข้อเสียของจุกนมปลอม
แม้จุกนมปลอมจะสามารถใช้ได้โดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ทั้งนี้ จุกนมปลอมอาจก่อให้เกิดผลกระทบบางอย่างต่อทารกบางคน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียไว้ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ข้อดีของจุกนมปลอม
- ตอบสนองความต้องการของเด็ก พฤติกรรมชอบดูดถือเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็ก เพราะคุณแม่ไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าหรือจากขวดนมได้ตลอดเวลา จุกนมปลอมจึงถือเป็นทางเลือกที่ดี ที่จะช่วยตอบสนองนิสัยชอบดูดของทารกได้ แต่ต้องระวังอย่าให้ลูกติดจุกนมปลอมจนไม่ยอมกินนม กินอาหาร เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- ช่วยฝึกการควบคุมอารมณ์ จุกนมปลอมเปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยให้เด็กได้เรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ เพราะเด็กส่วนใหญ่เมื่อได้ดูดจุกนมปลอมมักรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย จากอารมณ์เสียกลายเป็นอารมณ์ดีขึ้น ส่งให้คุณพ่อคุณแม่เองรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นด้วย
- ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาลูกต้องไปเข้ารับบริการทางการแพทย์ เช่น ฉีดยา ฉีดวัคซีน ตรวจเลือด
- อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคไหลตาย การให้ลูกดูดจุกนมปลอมตอนนอนกลางวัน หรือนอนกลางคืน อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายในทารกได้มากกว่า 50%
- ช่วยลดปัญหาหูอื้อระหว่างนั่งเครื่องบิน เด็กทารกและเด็กวัยเตาะแตะยังไม่รู้จักกลืนน้ำลายหรือหาวเพื่อบรรเทาอาการหูอื้อได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่การดูดจุกนมปลอมอาจช่วยบรรเทาอาการหูอื้อที่เกิดจากความกดอากาศเปลี่ยนแปลงขณะอยู่บนเครื่องบินนี้ได้
ข้อเสียของจุกนมปลอม
- ปัญหาสุขภาพหู เด็กที่ดูดจุกนมปลอมอาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหูอักเสบสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้ดูดจุกนมปลอมถึงสองเท่า
- ปัญหาสุขภาพฟัน การให้ลูกดูดจุกนมปลอมตลอดเวลา หรือปล่อยให้ลูกดูดจุกปลอมจนโต อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพฟันของเด็กได้ หากเด็กอายุไม่เกิน 2 ปีมีปัญหาเกี่ยวกับฟันที่กำลังขึ้น ปัญหาเหล่านั้นจะหายได้เองภายใน 6 เดือนหลังจากหยุดดูดจุกนมปลอม แต่หากปล่อยให้ลูกดูดจุกนมปลอมจนอายุเกิน 2 ปี อาจทำให้ลูกมีปัญหาฟันเก และหากยังไม่หยุดดูกจุกปลอม ปัญหาฟันอาจยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ
- มีปัญหาในการให้ลูกกินนมแม่ การฝึกให้ลูกกินนมจากเต้าได้อาจต้องใช้เวลาสักระยะ หากลูกดูดจุกนมปลอมตั้งแต่แรกเกิด ก็อาจทำให้ลูกไม่ชินกับการดูดนมแม่ และชอบดูดจุกนมปลอมมากกว่า
ดูดจุกนมปลอมอย่างไรให้ปลอดภัย
หากตัดสินใจให้ลูกดูดจุกนมปลอม เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้ใช้จุกนมปลอมได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- ใช้จุกนมปลอมที่ปราศจากสารบีพีเอ (Bisphenol-A หรือ BPA) สารชนิดนี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กทารก
- อย่าให้ลูกดูดจุกนมปลอมที่มีสายคล้อง เพราะสายอาจพันคอเจนหายใจไม่ออกได้
- เลือกขนาดของจุกนมปลอมให้เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก เพื่อจะได้เหมาะสมกับขนาดของปาก
- อย่าให้ลูกใช้จุกนมปลอมร่วมกับเด็กคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง หรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะจะทำให้ลูกเสี่ยงติดเชื้อโรค คุณพ่อคุณแม่ควรล้างจุกนมหลอกในน้ำอุ่นผสมน้ำยาล้างขวดนมให้สะอาด อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง จากนั้นเช็ดให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในภาชนะที่สะอาด มิดชิด
- ให้ลูกดูดจุกนมปลอมเปล่า ๆ อย่าเคลือบน้ำเชื่อม น้ำตาล น้ำผึ้ง หรือน้ำหวานทุกชนิด เพราะจะยิ่งเสี่ยงมีเชื้อโรคสะสม และยังอาจทำให้สุขภาพปากและฟันของลูกมีปัญหา หรืออาจทำให้ลูกติดหวาน จนเสี่ยงโรค เช่น โรคอ้วน
- อย่าให้ลูกดูดจุกนมปลอมจนเลยเวลากินนม หรือกินอาหาร และห้ามให้ลูกดูดจุกนมปลอมอย่างเดียว จนไม่ยอมกินอะไร เพราะจะทำให้ลูกขาดสารอาหารได้